“ประยุทธ์” ล็อกดาวน์รอบ 2 แก้มือคุมโควิด เดิมพันเงินกู้ 2.4 ล้านล้าน

รายงานพิเศษ

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 “ระลอกสี่” นับถอยหลัง “ล็อกดาวน์” เป็น “คำรบที่สอง” โดยจะใช้ “โมเดล” ป้องกันการระบาด “ระลอกแรก” เมื่อเดือนเมษายน 2563 มาเป็นพิมพ์เขียว

การระบาดระลอกแรก เมื่อเดือนเมษายน 2563 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร-พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 12 ครั้ง

หลังจากนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยืด-ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 12 ครั้ง ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ครั้งที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ครั้งที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563

ครั้งที่ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 ครั้งที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ขยาย ครั้งที่ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ขยายครั้งที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564

ขยายครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ขยายครั้งที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ขยายครั้งที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 และขยายครั้งที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564

งัดยาแรง-กฎเหล็ก 17 ข้อ

เริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบยาแรง-กฎเหล็ก “17 มาตรการเร่งด่วน” ของกระทรวงสาธารณสุข อาทิ

1.ให้ผู้เดินทางมาจากประเทศพื้นที่ระบาดกักตัว 14 วัน 2.ห้ามข้าราชการ พนักงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจเดินทางไปต่างประเทศ ประชาชนให้งดการเดินทางไปในประเทศระบาดต่อเนื่อง 3.เลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 4.ปิดสถานที่ที่เสี่ยง-คนแออัดเบียดเสียด แบ่งออกเป็น “ปิดชั่วคราว” สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า และ “ปิดชั่วคราว 14 วัน” ผับ สถานบันเทิง สถานบริการ นวดแผนโบราณ และโรงมหรสพในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

5.จำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว 6.งดการเรียนการสอน-ปรับวิธีการเรียนออนไลน์ 2 สัปดาห์ 7.งดกิจกรรมรวมคนจำนวนมาก เช่น การจัดคอนเสิร์ต การจัดงานแสดงสินค้าต่าง ๆ กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา 8.งดกิจกรรมที่มีการเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด 9.ให้สถานที่ทำงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน เหลื่อมเวลาทำงาน เหลื่อมเวลาพักรับประทานอาหาร และจัดที่นั่งให้ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และ 10.ประชุมทางไกล ทำงานที่บ้าน ซื้อขายออนไลน์

ออกข้อกำหนดเคอร์ฟิว 25 ฉบับ

หลังจากนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทยอยออกประกาศ-คำสั่ง-ข้อกำหนด ออกมาเพื่อบริหารสถานการณ์โควิด-19 กว่า 25 ฉบับ พร้อมแคมเปญ “อยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ” และรณรงค์การใส่หน้ากากอนามัย-หมั่นล้างมือ-เว้นระยะห่าง

โดยเฉพาะระลอกแรก ข้อกำหนดฉบับที่ 1-ฉบับที่ 2 ต้องใช้ “ยาแรง” ประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว)-ปิดสถานที่เสี่ยง-ห้ามเดินทางเข้า-ออกนอกราชอาณาจักร ทั้งทางอากาศ-บก-น้ำ และปิดด่าน จุดผ่านแดน-จุดผ่อนปรน

ข้อกำหนดฉบับที่ 1 ห้ามเข้าพื้นที่-สถานที่เสี่ยง ปิดสถานที่เสี่ยง ได้แก่ สนามมวย สนามแข่งขัน สนามเด็กเล่น สนามม้า ในทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักร จนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น ผับ สถานบริการ สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ สถานประกอบการ อาบ อบ นวด และนวดแผนโบราณ สปา สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ห้ามกักตุนสินค้า ยา เวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม หรือสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคประจำวัน ห้ามการชุมนุม มั่วสุม ห้ามเสนอข่าว-แพร่หลายทางสื่อต่าง ๆ อันไม่เป็นความจริง และอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว

ข้อกำหนดฉบับที่ 2 ห้ามบุคคลใดทั่วราชอาณาจักรออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็น หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ การธนาคาร การขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง การขนส่งพัสดุภัณฑ์ การขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก การขนย้ายประชาชนไปสู่ที่เอกเทศเพื่อกักกันตามกฎหมายโรคติดต่อ

การเข้าออกเวรทำงานผลัดกลางคืนตามปกติ-การเดินทางมาจากหรือไปยังท่าอากาศยาน ต้องมีเอกสารรับรองความจำเป็นหรือเอกสารเกี่ยวกับสินค้าหรือการเดินทาง ผู้ได้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ข้อกำหนดล่าสุด-ฉบับที่ 25 ล็อกดาวน์แคมป์คนงาน-ไซต์ก่อสร้าง ปิดร้านอาหาร-ห้ามนั่งกิน

กู้ฉุกเฉิน 2.4 ล้านล้าน

ขณะที่ทีมเศรษฐกิจ-รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องใช้ “เงินกู้ฉุกเฉิน”-พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จำนวน 4 ฉบับ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งฉบับล่าสุดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาระลอกสี่

ฉบับแรก เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ฉบับที่สอง เพื่อให้ความช่วยเหลือ SMEs วงเงิน 5 แสนล้านบาท และฉบับที่สาม เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท

โดยเฉพาะ “ฉบับแรก” ในส่วนของการเยียวยาเศรษฐกิจฐานราก 15 โครงการ 695,366 ล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 690,136 ล้านบาท คงเหลือ 2,710 ล้านบาท

1.โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้แก่ประชาชน คนละ 5,000 บาท 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย. 63) จำนวน 15.2 ล้านราย วงเงิน 159,019 ล้านบาท 2.โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนเพื่อช่วยเหลือผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 1,000 บาท 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 63) จำนวน 1.02 ล้านราย วงเงิน 3,080 ล้านบาท

3.โครงการเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ “กลุ่มเปราะบาง” เด็กแรกเกิด-ผู้สูงอายุ-คนพิการ คนละ 1,000 บาท 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 63) จำนวน 6.66 ล้านราย วงเงิน 19,990 ล้านบาท 4.โครงการชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ภายใน 15 เดือน) คนละ 5,000 บาท 3 เดือน (มิ.ย.-ส.ค. 63) จำนวน 13,900 ราย วงเงิน 208.9 ล้านบาท

5.โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อ” ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 500 บาท 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค. 63) จำนวน 13.6 ล้านราย วงเงิน 20,922 ล้านบาท 6.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 คนละ 500 บาท 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 64) จำนวน 13.6 ล้านราย วงเงิน 20,635 ล้านบาท

7.โครงการเราชนะ เฟสแรก คนละ 3,500 บาทต่อเดือน 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ. 64) เฟส 2 คนละ 1,000 บาทต่อสัปดาห์ 2 สัปดาห์ (พ.ค. 64) จำนวน 33.2 ล้านราย วงเงิน 280,242 ล้านบาท 8.โครงการ ม33 เรารักกัน เฟสแรก คนละ 4,000 บาท และเฟส 2 คนละ 2,000 บาท จำนวน 8.1 ล้านราย วงเงิน 48,585 ล้านบาท

9.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 คนละ 200 บาทต่อเดือน 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค. 64) จำนวน
1.36 ล้านราย วงเงิน 16,380 ล้านบาท 10.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ คนละ 200 บาท
ต่อเดือน 6 เดือน (ก.ค.-ธ.ค. 64) วงเงิน 3,000 ล้านบาท
11.มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและประปา ครั้งแรก วงเงิน 739 ล้านบาท
12.ครั้งที่สอง วงเงิน 3,390 ล้านบาท 13.ครั้งที่สาม วงเงิน 129 ล้านบาท 14.ครั้งที่สี่ วงเงิน 257 ล้านบาท
15.เยียวยานายจ้างและลูกจ้าง-ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล นายจ้างรายละ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง ไม่เกิน 200 คน จำนวน 41,940 ราย ลูกจ้างคนละ 2,000 บาท จำนวน 663,916 รายวงเงิน 2,519 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ 13 โครงการ 203,040 ล้านบาทอาทิ โครงการคนละครึ่ง เฟสแรก 30,000 ล้านบาท เฟสสอง 22,500 ล้านบาท และเฟสสาม 93,000 ล้านบาท โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 15,000 ล้านบาท และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 28,000 ล้านบาท

โควิด-19 ระลอกสี่ ล็อกดาวน์ กทม.-จังหวัดกันชนเที่ยวนี้ต้องไม่เสียของ