สภาผ่านงบกองทัพ 9.2 หมื่นล้าน คะแนน 226 ต่อ 123 เสียง

งบกองทัพผ่านฉลุย 9.2 หมื่นล้าน ก้าวไกล รุมอัดเบิกจ่ายล่าช้า – กั๊กงบประมาณ จับพิรุธซื้อเครื่องสนามแพงกว่าท้องตลาด

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 8 งบประมาณของกระทรวงกลาโหม ตามที่กรรมาธิการงบประมาณเสียงข้างมากแปรญัตติปรับลด เหลือ  92,753,279,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กรรมาธิการงบประมาณเสียงข้างน้อยได้ขอสงวนความเห็น ขอแปรญัตติปรับลดกองทัพกันหลายราย 

ทั้งนี้ นายยุทธพงศ์ จรัสเสียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายงยประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ว่า กองทัพบกของบประมาณจัดหายานยนต์สายสรรพาวุธ 921 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ปี 64 ผูกพันปี 65 และปี 66 จำนวน 921 ล้านบาท เมื่อสภาอนุมัติไปแล้วแทนที่จะนำไปซื้อรถใหม่

กลับมีการเปลี่ยนแปลงงบฯ เป็นเอาไปซ่อมรถ M35 ค่าซ่อมคันละ 2.5 ล้านบาท ขณะที่บริษัทซ่อมรถดังกล่าวที่เสนอราคามาแล้ว คือ บริษัท ช. เรื่องนี้มีความผิดปกติ เพราะขอสภาซื้อรถใหม่ แต่กลับเอาเงินไปซ่อมรถเก่าที่ใช้มากว่า 40 ปี และไม่มีการผลิตอะไหล่แล้ว ต้องไปเอาอะไหล่เก่าจากประเทศเกาหลีมาซ่อม ตนต้องขอคำตอบจาก กมธ.เสียงส่วนใหญ่ว่าผ่านงบฯให้ได้อย่างไร

ต่อมาคืองบของกองทัพเรือ จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท วันนี้เรือดำน้ำของประเทศไทยมี 3 ลำ ซื้อไปแล้ว 1 ลำ ในขณะที่ซื้อเรื่อดำน้ำลำแรกนั้น คนที่ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมดคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น ประเทศไทยนี้แปลกหรือไม่ การจะมีเรือดำน้ำ แทนที่กองทัพเรือจะเป็นบิดาแห่งเรือดำน้ำ กลับเป็นทหารบก 

โครงการเรือดำน้ำนี้มีมาตั้งแต่ปี 2560 และปี 2565 มีคำของบประมาณเข้ามา 1,145 ล้านบาท ท่ามกลางสถานการณ์ความอดอยาก เหตุใดจึงไม่เจรจาที่จะเลื่อนงวดงานออกไป เพราะเข้าไปตรวจรับ และฝึกตอนนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ ยังมีเรือเอนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ก็มีข้อสงสัยว่า เรือราคา 6,200 ล้านบาท กองทัพเรือ และกมธ.เสียงส่วนใหญ่ต้องตอบตนว่า ไปซื้อเรืออย่างไรจึงได้มาแต่เรือเปล่าๆ ไม่มีอาวุธปืน และระบบอำนวยการรบ 

ขณะที่กองทัพเรือไม่ยอมให้ กมธ.ตรวจสอบเลย ปลัดบัญชีทหารเรือไม่เคยโผล่หน้ามาที่ กมธ.งบประมาณแม้แต่ครั้งเดียว กองทัพเรือถูกปรับลดงบฯไปเพียง 8 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่ได้งบฯทั้งสิ้น 4 หมื่นกว่าล้านบาท ทั้งยังมีโครงการจัดการอากาศยานไร้คนขับประจำชายฝั่ง หรือโดนประจำชายฝั่ง ลำละ 1400 ล้านบาท 3 ลำ

ท่ามกลางสถานการณ์โควิด โดรนคุณฆ่าโควิดได้ไหม จะไปรบกับใคร กมธ.เสียงข้างมากต้องตอบตนว่าไปยกมือให้เขาได้อย่างไร ยังมีโดรนภายในประเทศลำละ 570 ล้านบาทอีก ที่กมธ.ไม่มีการปรับลดเลย ขอถามว่า เพราะอะไร มีเหตุผลอะไรเอางบฯให้กองทัพเรือไปซื้ออาวุธมากมาย วันอาทิตย์ ขอให้คาร์ม็อบออกมาไล่ท่านเยอะๆ ท่านต้องปรับลดงบฯซื้ออาวุธ เพราะอาวุธเหล่านี้ฆ่าโควิดไม่ได้

ก้าวไกล ทวงรายละเอียดตัดงบกองทัพ

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า จนถึงวันนี้เรายังไม่รู้เลยว่างบอาวุธของกองทัพบก ถูกตัดโครงการอะไรบ้าง และมีการตัดงบแบบสักว่าตัดโดยไม่มีรายละเอียดว่าตัดอะไรตัดที่ไหน เพราะสุดท้ายแล้วตรวจสอบอะไรไม่ได้ และโครงการที่ชอบของบไปแล้วไม่ได้ทำอะไร ถูกตัดบ้างหรือไม่ 

ยกตัวอย่างโครงการจัดหา ปืนขนาด ป.ขนาด 105 มม. ของบประมาณตั้งแต่ปี 63 จำนวน 468 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายไปเพียง 5 เปอร์เซนต์หมายความว่ายังมีเงินสะสมที่ยังไม่ได้ใช้อยู่ 375 ล้านบาท แต่มาปีนี้ยังมีหน้ามาของบ 468 ล้านบาทอีก แต่ยังดีที่สำนักงบฯ ไม่ได้ให้ และตัดให้เหลือ 66 ล้านบาท แต่ยังมีอีก 3 โครงการที่มีลักษณะคล้ายกัน รวมมีเงินสะสมที่ยังไม่ได้ใช้ 974 ล้านบาท แต่ยังมาขอตั้งงบเพิ่ม 1,088 ล้านบาท เงินค้างท่อเหล่านี้เคยมีประวัติศาสตร์ นำไปโอนเปลี่ยนแปลงเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์อื่นๆ ซึ่งตนไม่อยากให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยในเรื่องการโอนเปลี่ยนแปลง

กองทัพกั๊กงบ – โอนไปทำอย่างอื่น 

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการบางโครงการที่งบใช้ไม่ทันแล้วมาเลื่อนระยะเวลา แถมเบิกจ่ายไม่ได้แล้วยังมาของบปี 2565 เพิ่มอีก เช่นโครงการซ่อมคืนสภาพ ปกค.25 ขนาด 155 มม.จากเดิมเคยตั้งระยะเวลาโครงการปี 2563-2565 เมื่อเบิกจ่ายไม่ทัน ก็มาเลื่อนเป็นปี 2564-2566 แต่จนถึงวันนี้ปี 2564 ก็ยังเบิกจ่ายไม่ได้เลยสักบาท 

แล้วยังมาของบปี 2565 เพิ่มอีก 234 ล้านบาท เหมือนกับเป็นการของบกั๊กไว้ก่อน หากใช้ไม่ทันก็จะโอนเปลี่ยนแปลงไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่เกิดประสิทธิภาพในการใช้จ่าย และเร่งด่วนมีความจำเป็นจริงหรือไม่ ดังนั้น จึงขอตัดงบครึ่งหนึ่ง 1,067 ล้านบาท 

นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ยังมาของบในปี 65 เช่นโครงการจัดหาเฮลิเคอร์เตอร์แบบทั่วไป ในปี 2564 ของบไป 845 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดซื้อและยังไม่ได้ลงนาม แต่พอมาปี 2565 ก็มาขอเพิ่มอีก 1,690 ล้านบาท และยังมาขอโครงการระยะที่ 2 ในปี 2565 อีก 700 ล้านบาท จึงขอตัดทั้งโครงการ 

“ดังนั้นดิฉันจึงขอตัดงบโครงการจัดหาเฮลิเคอร์เตอร์แบบทั่วไป ทั้งโครงการ และโครงการการจัดหายานยนต์สาย สพ.(ระยะที่3 ห้วงที่ 4) ทั้งโครงการ จำนวน 368 ล้านบาท และนายกฯ เคยพูดในสภาฯ ในตอนอภิปรายวาระที่ 1 ซึ่งคงจะไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก ว่าท่านได้ให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับหน่วยรับงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพคุ้มค่า” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

แฉ ชุดเครื่องสนามแพงกว่าท้องตลาด

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ในงบกระทรวงกลาโหม รายละเอียดการจัดซื้อชุดเครื่องสนามของกองทัพบก หากดูรายละเอียดราคากลางที่วางไว้สูงเกือบ 14,858 บาท ซึ่งเป็นการจัดซื้อแบบรวมแพ็ค 12 รายการ ประกอบด้วย 1.เสื้อกันฝน 189 บาท 2.เป้สนามเล็ก  440 บาท 3.กระเป๋าเอนกประสงค์ 350 4.กระเป๋าใส่ซองกระสุน 2 ชุด 298 บาท 

5.ถุงผ้าสนาม 449 บาท 6.เตนท์สนาม 1,530 บาท 7.กระติกน้ำ ทบ. 310 บาท 8.เข็มขัดสนาม 450 บาท 9.พลั่วสนาม 590 บาท 10.สายโยงเข็มขัดสนาม 550 บาท 11.หม้อสนาม 650 บาท และ 12.เป้หลังครบชุด 969 บาท 

มนุษย์ทั่วไปจะใช้เงินแค่ 16.5 ล้านบาท แต่ตั้งงบ 36 ล้านบาท อย่าเอางบประมาณของประชาชนไปผลาญด้วยการเอาน้ำยามาพ่นตามโขดหินเพื่อสร้างภาพเลย งบชุดเครื่องสนามแบบนี้เป็นชุดเครื่องสวาปามกันแน่ และไม่ควรเรียกว่าชุดเครื่องสนาม แต่ควรจะเรียกว่าชุดจาน ชาม ช้อนซ่อม ตะเกียบ ดูคล้ายว่าจะเอาไว้กิน ขอปรับเหลือ 16.5 ล้านบาท 

จับพิรุธเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD 

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณมาตรา 8 ว่า โครงการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนส่งกำลังบำรุงและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่าย โครงการนี้มีอยู่ทั้ง 3 เหล่าทัพ กองทัพเรือ 4,000 ล้านบาท กองทัพบก 3,601 ล้าน กองทัพอากาศ 7,727 ล้านบาท มีการชี้แจงบรรทัดเดียว 

เป็นค่าใช้จ่ายที่มีความหลากหลายในรายละเอียด แต่อัตราการเบิกจ่ายต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ในปี 2564 เบิกจ่ายโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 30% แต่ในปี 2565 ยังคงของบประมาณมาในยอดเงินเท่าเดิม การเบิกจ่ายที่ไร้ประสิทธิภาพควรต้องแก้ไข วางแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้รัดกุมเพื่อประหยัดงบประมาณได้มากกว่านี้ จึงขอปรับลด 3,600 ล้านบาท

นายพิจารณ์ กล่าวว่า และที่ต้องตัดงบโครงการนี้เป็นพิเศษ ในปีงบประมาณ 2563 กองทัพเรือได้นำเงินบางส่วนที่เบิกจ่ายไม่ได้ ไปเปลี่ยนแปลงระหว่างปี ผ่านการอนุมัติของ ผอ.สำนักงบประมาณ ไปซื้อยานเกราะโจมตีสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก มูลค่ารวม 400 ล้านบาท ไม่ได้ถูกนำพิจารณาในสภา 

โครงการนี้น่าเคลือบแคลงสงสัย คือ โครงการสนับสนุนเรือดำน้ำ LPD ไม่มีประเทศไหนในโลกใช้เรือรุ่นนี้มาเป็นเรือสนับสนุนเรือดำน้ำ แม้แต่ประเทศจีนที่ผลิตเรือลำน้ำให้ไทย ดังนั้น เรือลำนี้อาจไม่ได้ซื้อมาเพื่อสนับสนุนเรือดำน้ำ แต่เติมชื่อเข้าไปเพื่อให้ผ่านงบประมาณได้ง่าย เพราะเมื่อซื้อเรือดำน้ำแล้วต้องซื้อเรือ LPD ต่อ 

เรือดำน้ำยาว 78 เมตร ใช้กำลังพล 50 นายในการปฏิบัติการ แต่ขณะที่เรือ LPD ยาว 210 เมตร จอดเฮลิคอปเตอร์ยังทำได้ มีเครนขนาดใหญ่ ใช้กำลังพล 152 นาย ในการปฏิบัติงาน มีการเซ็นสัญญา 2 ระยะ ระยะที่ 1 4,385 ล้านบาท ได้รับจัดสรรถึงปี 2564 วงเงิน 3,215 ล้านบาท แต่ปรากฏว่ามีการเบิกจ่ายเกินกว่าได้รับการจัดสรร 3,734 ล้านบาท เกินไป 520 ล้านบาท

ในงบปี 2565 กองทัพเรือยังของบมาตามแผนเดิม 1,189 ล้าน สำนักงบประมาณให้ 1,170 ล้าน เมื่อรวมตัวเลขเรือ LPD ระยะที่ 1 ได้งบประมาณไปเกิน 4,945 เกินไป 520 ล้าน ส่วนระยะที่ 2 จำนวน 1,800 ล้านเป็นการเสนอตามปกติ คาดว่าเงินจำนวน 520 ล้านบาท เป็นการซื้ออาวุธที่จะติดตั้งบนเรือ LPD

“เราเชื่อว่าลดตัดและเลื่อน สามารถลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลง 3 หมื่นล้านบาท โครงการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ภารกิจที่ไม่สอดคล้องกับการเดินทางไปต่างประเทศ ตัดงบซื้อของแพงกว่าท้องถลาด และเลื่อนการซื้ออาวุธที่เป็นงบผูกพัน ที่เบิกจ่ายไม่ตามแผนงาน” นายพิจารณ์ กล่าว

ผ่านฉลุยงบกลาโหม 

ต่อมา เวลา 20.15 น. ที่ประชุมลงมติมาตรา 8 งบประมาณของกระทรวงกลาโหม โดยที่ประชุมเห็นชอบงบประมาณกระทรวงกลาโหม ตามที่ กมธ.ได้มีการแก้ไข 226 ต่อ 123 งดออกเสียงไม่มี ไม่ลงคะแนน 3 เสียง จากจำนวนผู้ลงมติ 351 คน