“จาตุรนต์” บนเส้นทางใหม่ เป็นอิสระ ไม่มีพันธะนายทุน-เจ้าของพรรค

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

“จาตุรนต์ ฉายแสง” ประกาศเส้นทางใหม่ของเขา บนถนนการเมือง หลังจาก 2 ปีที่แล้ว ยานแม่ “พรรคไทยรักษาชาติ” พรรคสาขาสองของ “พรรคเพื่อไทย” พุ่งชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็ง-ล้มเหลวไม่เป็นท่า ด้วยพิษ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี”

เขาเลือกเริ่มต้นเส้นทางใหม่ แม้ไม่ได้เป็น “ผู้เล่น” อยู่ในสนาม แต่ไม่เคยห่างไกลจากยุทธจักรการเมือง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “จาตุรนต์” ถึงการเดินทางครั้งใหม่ ภายใต้ชื่อ “พรรคเส้นทางใหม่” จุดยืนการตั้งพรรค-นโยบายพื้นฐานที่จะ “รีโนเวต” ประเทศ ฉบับ Post COVID พร้อมสรุปบทเรียนจากอุบัติเหตุการเมืองที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักษาชาติ

เส้นทางใหม่ของ “จาตุรนต์”

“จาตุรนต์” เริ่มตอบคำถาม-ความชัดเจนในการตั้งพรรคเส้นทางใหม่ว่า พยายามเปิดตัวให้ได้เร็ว ๆ นี้

สถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ การเปิดตัวคงไม่หวือหวาอะไรมาก ความคิดคือ รีบเปิด รีบดำเนินการทางการเมืองในฐานะพรรคการเมือง น่าจะดีกว่า ทำประโยชน์อะไรได้มากกว่า ส่วนจะไปอยู่ตรงไหน เมื่อเข้าไปเป็นสมาชิก หารือกันแล้วเขาจะให้เป็นอะไรก็พร้อม

“การทำพรรคครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องระวังเรื่องถูกยุบพรรค แต่จะไม่ใช้ระบบสับหลีก ถ้าต้องเป็นตัวจริงก็เป็นตัวจริงกันไปเลย ถ้าหารือกันแล้วจะให้ผมเป็นหัวหน้าพรรค ก็เป็นเลย”

พรรคเส้นทางใหม่ ถูกวางให้เป็นพรรคที่มีความชัดเจนเรื่องประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศไทย การสืบทอดอำนาจที่ต่อเนื่องมาจากการยึดอำนาจยังมีอยู่ นี่เป็น position พื้นฐาน

ส่วนสภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมของประเทศ มาอยู่ในจุดที่ต้องการพรรคการเมืองที่มีขีดความสามารถ มีความตั้งใจร่วมกับประชาชนวงการต่าง ๆ สาขาอาชีพต่าง ๆ ร่วมกัน สร้างนโยบายในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ

ยิ่งมีโควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจ สังคม ยิ่งเสียหาย ถอยหลัง ล้าหลัง ต้องการการฟื้นฟูอย่างมาก ปัญหานี้ได้กระทบโครงสร้างสังคมไทย ทั้งแง่ของขีดความสามารถ ความเหลื่อมล้ำ การถูกทอดทิ้ง การตกขบวนในการพัฒนาประเทศ ทั้งที่ประเทศอื่นที่เขาเป็นขาขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เรายังอยู่ขาลง ดังนั้น เราต้องการทางออกของประเทศ เพื่อจะออกจากวิกฤตนี้แล้วฟื้นฟูต่อไป

“จาตุรนต์” เปิดสเป็ก-อุดมการณ์ ที่ “พรรคเส้นทางใหม่” ต้องการ คือ อยากได้คนที่หลากหลาย ในแง่วัย หมายถึงความมีประสบการณ์และความทันสมัยที่มาเป็นส่วนผสม เรื่องเพศ เพศภาพ ความสนใจประเด็นทางสังคม ชาติพันธุ์ เพื่อเสนอ solution (ทางแก้ปัญหา) ที่เป็นภาพรวม

เพราะสังคมปัจจุบันมีความหลากหลายดังนั้น พรรคต้องสะท้อนความหลากหลาย หรือรวบรวมคนที่หลากหลายมาให้ได้

เส้นทางใหม่-ทางออกประเทศ

แม้ปัจจุบัน พรรคมากมายที่ให้นิยามตัวเองว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” อะไรที่ทำให้เส้นทางใหม่แตกต่างจากพรรคเหล่านั้น จาตุรนต์ฉายภาพว่า ผู้ที่ร่วมก่อตั้งพรรคเส้นทางใหม่ไม่ใช่คนอายุน้อย เน้นไปที่คนมีประสบการณ์ แต่ก็ต้องหาความหลากหลาย ให้มีองค์ประกอบคนรุ่นใหม่มาเป็นกำลังสำคัญ

ความชัดเจนเรื่องประชาธิปไตย ที่ว่าสู้เพื่อประชาธิปไตย จริง ๆ ต้องไม่วอกแวกไปร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจในปัจจุบัน แล้วคิดว่าจะแก้ปัญหาโน่นนี่กันไป ดังนั้น ในพัฒนาการทางการเมืองจะเกิดความแตกต่าง ระหว่างพรรคที่เรียกว่ายืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกัน

เช่น ปัจจุบันที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกันอยู่ (เปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตร 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ 40 และ 50) ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยหลงประเด็น ลืมประเด็นใหญ่ คือ ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หรือถ้าจะแก้บางประเด็นต้องตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯก่อน อย่างนี้ก็จะเกิดความต่างขึ้น

ต่อไปข้างหน้าเรื่องนโยบาย สังคมไทยจะมีปัญหามาก ไม่ใช่แค่ว่าจะเน้นเศรษฐกิจหรือไม่เน้นเศรษฐกิจ มันซับซ้อน
กว่านั้นเยอะ ดังนั้น การแข่งขันทางนโยบายจะมีมากขึ้น แต่ละพรรคการเมืองก็จะแตกต่างกัน
ไม่เน้นทำตัวให้แตกต่างจากเขาอย่างไร เราคงจะต้องวิเคราะห์จากปัญหาของประเทศ แล้วหาทางออกที่เราคิดว่าดี จากการไปรับฟังร่วมกับประชาชน

รีโนเวตประเทศฉบับ Post COVID

เท่าที่คุยกับนักวิชาการ คนที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือคนค้าขายรายเล็กรายน้อย คิดว่าหลังจากนี้จนถึงเลือกตั้ง และหลังจากนั้น การวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ หลังโควิด-19 หรือระหว่างที่เราต้องอยู่กับโควิด-19 ไปแบบ new normal เป็นเรื่องใหญ่มาก

เรื่องใหญ่ของประเทศเรา คือ ตกขบวนการฟื้นฟู เพราะประเทศอื่นเป็น K shape ประเทศอื่นที่ฟื้นได้ดีก็ขึ้นไป ที่แย่ลงก็แย่ลงเรื่อย ๆ คนในประเทศก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่ประเทศอื่นขึ้น เราลง เราตกขบวน ทำให้การค้าขายเสียโอกาส การที่ให้เราเป็น hub ลงทุน ก็เสียโอกาสหมด จะแก้อย่างไร

เราเสียหายมาก เพราะเรื่องการศึกษา การสร้างคนของเราหยุดชะงักมากกว่าที่จำเป็นไปมาก วางนโยบายผิดทั้งหมด ไม่มีแผนว่าจะให้เปิดเรียนเร็วได้อย่างไร เรื่องเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานเราช้ามาก จะแก้อย่างไร

เศรษฐกิจแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง อาศัย AI automation ถูกเร่งด้วยโควิด-19 อาชีพต่าง ๆ ธุรกิจต่าง ๆ เปลี่ยนเรากำลังพูดเรื่องทำไมไม่ใช้ไฟเซอร์ ทำไมใช้ซิโนแวค และเราจะหลุดจากล็อกดาวน์กันอย่างไร แต่ประเทศอื่นเขาไปไหนแล้ว คือโจทย์ทั้งนั้นที่ต้องคิด

ความเหลื่อมล้ำ เด็กออกจากการศึกษา จริง ๆ เป็นแสนคน ที่เสียโอกาสทั้งประเทศ ถูกละทิ้งเยอะมาก จะซ่อมอย่างไรให้เขาได้กลับมา หลักสูตรต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนหมดแล้ว

ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ คนจน ๆ อาจจะฟื้นได้เป็น 10 ปี ความเหลื่อมล้ำของไทยแย่เป็นอันดับต้น ๆ อยู่แล้ว จะแย่ลงไปอีก และจะมีปัญหาไปถึงสังคมด้วย เรื่องเหล่านี้เราต้องให้ความสำคัญและหาทางออก

คิดว่าพรรคการเมืองต้องให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้ คงไม่มี solution ง่าย ๆ ว่า มาเถอะ…แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เราถนัด แล้วจะแก้ได้ เดี๋ยวดีเอง…ไม่ได้แล้ว

แต่การแก้ปัญหาของประเทศนับจากนี้ไป ต้องการความคิด วิเคราะห์ การสร้างนโยบายที่มีลักษณะซับซ้อน กับต้องมีทิศทางใหญ่ ๆ

“จาตุรนต์” มองว่า วิกฤตโควิด-19 หนักกว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ที่ภาค financial และธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบ แต่ปัจจุบันกระทบต่อประชาชนทุกระดับและการเมืองยังไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง เพราะประเทศไทยติดล็อกทั้ง ส.ว. 250 คน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

“ดังนั้น ต้องเสนอกันไปทั้ง solution ในการฟื้นฟูประเทศ ในแง่ปรับโครงสร้าง เพิ่มขีดความสามารถ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งหลาย ควบคู่กับการเสนอให้สังคมไทยเห็นว่า ระบบการเมือง ระบบราชการต้องเปลี่ยน ไม่เช่นนั้นก็เดือดร้อนเสียหายไปด้วยกัน”

ไม่สังฆกรรมพลังประชารัฐ

เมื่อจุดยืนทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากไม่มีชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในสารบบแคนดิเดตนายกฯ “เส้นทางใหม่” จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ “จาตุรนต์” ตอบตรงว่า เราคงไม่ดูที่ตัวบุคคล แต่ดูแนวทาง จุดยืน นโยบาย

“เรื่องใหญ่มากของ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นหัวหน้าพรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ เป็นเครื่องมือที่คณะรัฐประหารสร้างขึ้นให้เป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจเผด็จการ”

“เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์พ้นไปแล้ว คำถามว่าพลังประชารัฐจะมีบทบาทอย่างไรต่อไป ต้องดูกันตรงนี้ ถ้ายังเป็นพรรคที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ ต้องการรักษาระบบโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งหลายไว้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปร่วมสังฆกรรมได้ ตรงนี้ต้องชัดเจน”

ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค

เขายืนยันว่า “เส้นทางใหม่” ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ประชาชนจะเป็น “เจ้าของร่วมกัน”

“ถ้าเป็นเจ้าของไปสักคนหนึ่งแล้ว การพยายามทำให้ระบบการตัดสินใจเป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีส่วนร่วมคงไม่เกิดขึ้นได้ ก็ได้แต่พูด ดังนั้นต้องไม่ให้คนใดคนหนึ่งหรือคนไม่กี่คนมาเป็นเจ้าของ”

“ระบบการตัดสินใจต้องตัดสินใจร่วมกัน ซึ่งคำว่า ‘ร่วมกัน’ ต้องมีระบบคณะกรรมการ ฟังเสียงสาขา หรือแม้แต่สมาชิกเป็นระยะ และเมื่อเป็นพรรคการเมืองแล้วต้องตัดสินใจกันได้เอง ไม่ต้องฟังการตัดสินใจจากนอกพรรคอีกที”

แม้ไม่มีเจ้าของพรรค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องกลุ่มทุนค้ำยัน อาจชี้นำ-ครอบงำพรรคได้ “จาตุรนต์” แย้งว่า “ถ้าจะเป็นห่วงเรา มีนายทุนมาครอบงำพรรค น่าจะห่วงว่าจะหาทุนกันได้หรือเปล่ามากกว่า”

“เราต้องพยายามกระจาย ซึ่งแนวโน้มเป็นอย่างนั้นอยู่แล้วตามธรรมชาติ เราไม่มีทุนรายใหญ่ ๆ มาปั๊บเท่ากับเป็นเจ้าของโดยอัตโนมัติ เราไม่มีแบบนี้ ดังนั้น ต้องหาผู้มาร่วม ผู้สนับสนุนที่จะต้องกระจาย”

สรุปบทเรียนนักต่อสู้

สุดท้าย “นักต่อสู้” ต้องสรุปบทเรียน จุดเปลี่ยนสำคัญของ “จาตุรนต์” คือไปอยู่ไทยรักษาชาติ (ทษช.) แล้วถูกยุบพรรค จะสรุปบทเรียนตรงนี้อย่างไร

“จาตุรนต์” ตอบว่า ทษช.ตั้งมาเพื่อเก็บคะแนนในพื้นที่ ที่พรรคเพื่อไทยจะไม่ได้ ส.ส.เขต แต่วันนี้เราไม่มีภารกิจ ไม่มีวัตถุประสงค์อย่างนั้นแล้ว เพราะเป็นอิสระจากพรรคการเมืองอื่น ไม่มีพันธะ ไม่ได้รับมอบหมายจากพรรคการเมืองใดทั้งสิ้น เป็นอิสระของตัวเอง

“ส่วน ทษช.ถูกยุบเพราะกรณีเสนอแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งการเสนอแคนดิเดตนายกฯ ผมกับเพื่อน ๆ อีกบางคนที่ร่วมกันไม่ได้อยู่ในจุดที่ร่วมตัดสินใจ ทราบว่าที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้คุณปรีชาพล (พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรค ทษช.) พูดในคลับเฮาส์ห้องหนึ่ง ยืนยันเองว่า ผมไม่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) การตัดสินใจทั้งหมดเป็นการตัดสินใจของ กก.บห.ทั้งหมด โดยผมไม่รู้ด้วย”

“ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าผมไม่ได้ไปร่วมยื่นรายชื่อ และไม่ได้ร่วมชี้แจงใด ๆไปร่วมกิจกรรมเดียว คือ ไปฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญตอนยุบพรรค”

“ผมถือว่า เมื่อไม่ได้ร่วมกระบวนการในการตัดสินใจ และเมื่อเรื่องจบไปอย่างนั้นแล้ว และเลือกที่จะไม่ชี้แจงใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ทษช. ก็เลยไม่ได้ชี้แจงมาตลอด”

“ก่อนหน้านั้นมีข่าวว่าผมจะเป็นแคนดิเดต 1 ใน 3 ของพรรคเพื่อไทย แต่ผมตัดสินใจมาอยู่ ทษช.อย่างน้อยช่วยพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยรักษาเสียงจำนวนหนึ่งไว้ เพื่อให้ฝ่ายประชาธิปไตยมีเสียงมากขึ้น ตอนนั้นก็เข้าใจว่าจะต้องมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่อย่างที่พูดไป การตัดสินเป็นของ กก.บห.ซึ่งผมไม่ได้เกี่ยว”

ถามว่า “ดีลแคนดิเดตนายกฯ” ล่มตรงไหน “จาตุรนต์” ตอบว่า เรื่องที่เกิดกับผมนั้นก็กลายเป็นเรื่องเล็ก เทียบกับผลที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง กับการเมืองไทย เรื่องที่เกิดกับผมมันเล็กนิดเดียว


แต่จุดเปลี่ยนครั้งนั้น นำมาสู่ “เส้นทางใหม่” ของ “จาตุรนต์ ฉายแสง”