5 ประเทศ ให้กำลังใจ สภาไทยถก ร่างกฎหมายป้องกันทรมาน-อุ้มหาย

5 ประเทศให้กำลังใจไทยเรื่องกฎหมายอุ้มหาย

เปิดรายชื่อ 3 สถานเอกอัครราชทูต และ 2 เอกอัครราชทูต ให้กำลังใจสภาไทย พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ….

วันที่ 14 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่งกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. เข้าสู่สภา และต่อมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เผยว่า กฎหมายฉบับดังกล่าวได้มีการบรรจุระเบียบวาระไปแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าจะพิจารณาได้ทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดลงสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายน 2564

ล่าสุด หลายสถานทูตยุโรปประจำประเทศไทย ได้ออกมาเคลื่อนไหวผ่านโซเชียล เพื่อแสดงจุดยืนต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ สหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักร

สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ทวีตข้อความทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย ระบุว่า สัปดาห์นี้ร่าง พรบ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายของไทย จะเข้าพิจารณาในสภา สหราชอาณาจักรขอยืนยันว่าเราสนับสนุนประเทศไทยในด้านนี้ และยินดีที่ได้เห็นความคืบหน้าในการผลักดัน พรบ.ไปอีกขั้น

สวีเดน

นายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ทวีตข้อความเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ว่า สัปดาห์นี้สภาไทยจะพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย สวีเดนยินดีในเรื่องนี้ และสนับสนุนให้ไทยผลักดันร่างกฎหมายที่สำคัญฉบับนี้ตามแนวทางพันธกรณีระหว่างประเทศ

ลักเซมเบิร์ก

อีกแห่งคือ สถานเอกอัครราชทูตลักเซมเบิร์กประจำประเทศไทย ที่ทวีตข้อความเป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ว่า สนับสนุนให้รัฐสภาไทยพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับหายสาบสูญ ในสัปดาห์นี้ ลักเซมเบิร์กยินดีต้อนรับการพัฒนาในเชิงบวกในประเด็นที่สำคัญยิ่งเหล่านี้

ฟินแลนด์

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ทวีตข้อความภาษาอังกฤษ แปลได้ว่า สัปดาห์นี้ รัฐสภาไทยจะพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เป็นกำลังใจที่ได้เห็นการพัฒนาในเชิงบวกนี้

สวิตเซอร์แลนด์

ปิดท้ายที่ นางเฮเลเนอ บุดลีเกอร์ อาร์ทีเอดา เอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำประเทศไทยแล้ว ที่ทวีตข้อความแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สัปดาห์นี้ รัฐสภาไทยจะพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย สวิตเซอร์แลนด์ยินดีต้อนรับการพัฒนาในเชิงบวกที่สำคัญยิ่งเหล่านี้

รู้จัก ร่างกฎหมายป้องกันทรมาน-อุ้มหาย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. นั้น ได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ผ่านมา และถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อเกิดคดี “ผู้กำกับโจ้”

เมื่อพลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุเหตุผลว่า

“โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่อาจยกเว้นให้กระทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีทั้งสิ้น 31 มาตรา มีหมวด 1.บททั่วไป หมวด 2.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หมวด 3.การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หมวด 4.การดำเนินคดี หมวด 5.บทกำหนดโทษ อาทิ

มาตรา 3 ให้นิยาม “การทรมาน” มีความหมายว่า การกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ

“การกระทำให้บุคคลสูญหาย” หมายความว่า การจับ ขัง ลักพา หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยผู้กระทำปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออยู่ที่ใด

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจของรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุยาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

บททั่วไป มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(2) ลงโทษผู้ถูกกระทำ โดยมีสาเหตุจากการกระทำซึ่งผู้นั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือ
(3) ข่มขู่หรือขู่เข็นผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน

มาตรา 6 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จับ ขัง ลักพา หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธว่ามิได้กระทำดังกล่าว หรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออยู่ที่ใด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย

มาตรา 7 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 5 หรือกระทำความผิดให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 6 ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษในราชอาณาจักรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 8 การกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน และฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ถือเป็นความผิดทางการเมืองตามกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดน และกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

บทกำหนดโทษ

ขณะที่บทกำหนดโทษ ในมาตรา 26 ฐานทรมาน แบ่งเป็น 3 ระดับ

ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน-3 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี หรือ จำคุกตลาดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 แสน-แสนบาท

ในมาตรา 27 ฐานความผิดกระทำให้บุคคลสูญหาย แบ่งเป็น 3 ระดับ เช่นกัน

ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน-3 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี หรือจำคุกตลาดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 แสน-4 แสนบาท

ประโยชน์ของกฎหมายฯ

ในบทความชื่อ อุ้มหาย เรื่องธรรมดาของสังคมไทย? ความหวังในกฎหมายที่ยังไม่เป็นจริง ของมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2560 มีการกล่าวถึงปัญหาและอุปสรรคในคดีคนหาย โดย นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อธิบายว่า หากมีกฎหมายมารองรับจะมีระเบียบปฏิบัติว่าคนหายแล้วต้องทำอะไรบ้าง จะมีงบให้ค้นหาและมีแนวทางการปฏิบัติ

“ที่ผ่านมาเมื่อมีคดีคนหายแล้วเจ้าหน้าที่ไม่ค้นหา ชาวบ้านก็ต้องค้นหากันเอง ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับ แจ้งความได้แค่ว่าคนหาย ความยากลำบากคือเมื่อผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านจะไปสืบเสาะหาข้อมูลก็ยากลำบาก ถ้ามีกฎหมายจะช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความชัดเจน”  ณัฐาศิริกล่าว