ผ่าร่างกฎหมายป้องกันทรมาน-อุ้มหาย หลังเกิดเหตุคดี #ผู้กำกับโจ้

แม้ว่าที่สุดแล้ว “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนพล อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ ยอมมอบตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หลังถูกศาลออกหมายจับข้อหาร้ายแรง “ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” นายจิระพงศ์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด และยังมีข่าวที่ยังไม่พิสูจน์ความผิดกรณีว่ามีการเรียกเงิน 2 ล้านบาทจริงหรือไม่

แต่เอฟเฟ็กต์คดีของ “ผู้กำกับโจ้และพวก” ปลุกให้ประเด็นการ “ซ้อม-ทรมาน” ผู้ต้องหา ไปจนถึงการ “บังคับให้สูญหาย” ผ่านการคุ้มครองทางกฎหมาย กลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจากขั้นตอนต่าง ๆ อืดเป็นเรือเกลือ

กับล่าสุด กระทรวงยุติธรรม ที่มี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” เป็นเจ้ากระทรวง ได้ส่งกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. เข้าสู่สภา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอบรรจุวาระ คาดว่าจะพิจารณาได้ทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดลงสมัยประชุมในวันที่ 18 กันยายน 2564

ทั้งที่ตามไทม์ไลน์ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. นั้นได้รับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2563 ผ่านมาราวปีเศษ ๆ กระทั่งเกิดกรณีของ “ผู้กำกับโจ้”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพลิกร่างกฎหมายฉบับนี้ ระบุเหตุผลว่า

“โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่อาจยกเว้นให้กระทำได้ไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย

รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ มีทั้งสิ้น 31 มาตรา มีหมวด 1.บททั่วไป หมวด 2.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หมวด 3.การป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หมวด 4.การดำเนินคดี หมวด 5.บทกำหนดโทษ อาทิ

มาตรา 3 ให้นิยาม “การทรมาน” มีความหมายว่า การกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ

“การกระทำให้บุคคลสูญหาย” หมายความว่า การจับ ขัง ลักพา หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย โดยผู้กระทำปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออยู่ที่ใด

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจของรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับแต่งตั้ง อนุยาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

บททั่วไป มาตรา 5 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(2) ลงโทษผู้ถูกกระทำ โดยมีสาเหตุจากการกระทำซึ่งผู้นั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือถูกสงสัยว่าได้กระทำ หรือ
(3) ข่มขู่หรือขู่เข็นผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน

มาตรา 6 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ จับ ขัง ลักพา หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิเสธว่ามิได้กระทำดังกล่าว หรือไม่ให้ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นตายร้ายดีอย่างไร หรืออยู่ที่ใด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย

มาตรา 7 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 5 หรือกระทำความผิดให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 6 ผู้นั้นจะต้องได้รับโทษในราชอาณาจักรตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 8 การกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน และฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ถือเป็นความผิดทางการเมืองตามกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดน และกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

ขณะที่บทกำหนดโทษ ในมาตรา 26 ฐานทรมาน แบ่งเป็น 3 ระดับ

ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน-3 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี หรือ จำคุกตลาดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 แสน-แสนบาท

ในมาตรา 27 ฐานความผิดกระทำให้บุคคลสูญหาย แบ่งเป็น 3 ระดับ เช่นกัน

ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น-2 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน-3 แสนบาท

ถ้าเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี หรือจำคุกตลาดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 แสน-4 แสนบาท


กฎหมายฉบับนี้ กำลังเข้าสู่การประชุมวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร