อธิบดีกรมศุลฯ เคลียร์ที่มารถหรู “ผู้กำกับโจ้” ลอดช่องสินบนร้อยล้าน

คดีดังสั่นสะเทือนวงการสีกากีอยู่ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นคดีของ “ผู้กำกับโจ้” หรือ “พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล” ได้มีพฤติการณ์ร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยการทรมาน นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติด ตามที่ปรากฏในคลิปบนโลกออนไลน์  

นอกจากเรื่องทางคดีแล้ว อีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ก็คือ การกล่าวถึงความร่ำรวยของผู้กำกับคนดัง ว่ามาจากเรื่องที่เกี่ยวกับ “รถหรู” ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องหลัง ว่าเครือข่ายผู้กำกับโจ้ดำเนินการ “ลงทุนเอง-จับเอง” แล้วส่งให้กรมศุลกากร ดำเนินการประมูลขายทอดตลาดต่อ

นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตกันถึงบรรดารถหรูเกือบ 30 คันที่ปรากฏอยู่ในบ้านของผู้กำกับโจ้ ว่าเป็นการ “ฟอกรถ” จากกระบวนการประมูลหรือไม่

เคลียร์ปมรถหรู 29 คัน ไม่ผ่านประมูล

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยัง “นายพชร อนันตศิลป์” อธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งอธิบายเรื่องนี้ว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเปิดโกดังรถหรูของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” พบว่า ผู้กำกับคนดัง มีรถหรูในครอบครองถึง 29 คันนั้น กรมศุลกากรได้ตรวจสอบแล้ว รถยนต์หรูดังกล่าว ไม่ได้จดทะเบียนในชื่อผู้กำกับโจ้ทั้งหมด ดังนั้นส่วนนี้ต้องเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนจะต้องตรวจสอบดำเนินการต่อไป

“พอมีข่าวว่า มีรถหรู 29 คัน ทางกรมก็เลยนำมาตรวจสอบ ว่ารถดังกล่าวเกี่ยวข้องมาจากการประมูลด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่ ถามว่าเป็นรถที่นำเข้าผ่านกระบวนการศุลกากรไหม ก็มี แต่ว่าไม่ใช่รถจากการประมูล อย่างไรก็ดี เราก็เจอรถที่อยู่ในบัญชีการประมูล 2 คัน แต่ก็ไม่ได้อยู่ใน 29 คันนั้น” นายพชรกล่าว

ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือให้ได้รางวัลนำจับ

กรณีผู้กำกับโจ้ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลรถของกรมศุลกากรนั้น นายพชร กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นการใช้กฎหมายเป็น “เครื่องมือ” แต่ถ้าดูในแง่กฎหมาย ไม่ได้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะผู้กำกับโจ้ เป็นเจ้าพนักงานที่สามารถดำเนินการจับกุมการลักลอบนำเข้ารถยนต์ที่เข้ามาในประเทศไทยได้ ซึ่งเมื่อจับมาแล้วก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย

“เนื่องจากเขาเป็นเจ้าพนักงาน เขาก็บอกว่าเขาไปจับรถมา แล้วก็ส่งมาที่กรมศุลฯ เราก็ไม่รู้ เพราะเขาก็มีหน้าที่อยู่แล้ว พอจับมาส่ง เราก็จะดูว่าทำผิดกฎหมายพิธีการศุลกากร เพราะไม่ผ่านพิธีการศุลกากร เป็นการลักลอบนำเข้ามา ก็ตรวจยึดไว้ แล้วก็ดำเนินคดี พอคดีถึงที่สิ้นสุด หรือหมดอายุความก็นำสู่การประมูลขายทอดตลาด” นายพชรกล่าว

10 ปี รางวัล-สินบนนำจับ 300 ล้านบาท

โดยสิ่งที่ผู้กำกับโจ้ และผู้มีส่วนในการจับกุมจะได้รับนั้น อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า จะอยู่ในรูปของรางวัลนำจับ ซึ่งเบื้องต้นจากการตรวจสอบ พบว่า รถยนต์ในคดีที่มีผู้กำกับโจ้เป็นเจ้าของสำนวนนั้น มีอยู่ไม่ถึง 15% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผ่านกระบวนการประมูลของกรมศุลกากร นับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2563 

“รถที่เขาเป็นเจ้าของสำนวน มีการเปิดประมูลไปรวม ๆ แล้วประมาณ 500 ล้านบาท โดยที่ประมูลสำเร็จ มูลค่าจะมากกว่าประมาณเท่าหนึ่ง คือราว 1,000 ล้านบาท” นายพชรกล่าว

ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าสำบนนำจับรวม ๆแล้ว โดยก่อนจะมีการแก้ไขกฎหมายศุลกากรปี 2560 ขณะนั้นจะมีการจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมอยู่ที่ไม่เกิน 25% ของอัตราค่าปรับที่ประเมิน ส่วนเงินสินบนนำจับจ่ายให้แก่ผู้แจ้งเบาะแสอยู่ที่ไม่เกิน 30% แต่หลังจากปี 2560 เป็นต้นมา ได้ลดการจ่ายรางวัลเหลือ 20% และ สินบนนำจับเหลือ 20% ต่อ 1 คดี และ เพดานไม่เกิน 5 ล้านบาท

“จากสำนวนของเขาทั้งหมดที่มีการประมูลไป เงินรางวัลก็อยู่ในวงเงินประมาณ 300 ล้านบาท แต่ที่เขาได้ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องหักพวกค่าใช้จ่ายในการประมูล ค่าอะไรต่าง ๆ รวมถึงจะไม่ใช่เขาได้คนเดียว แต่คนเกี่ยวข้องทั้งหมดก็ได้รางวัลด้วย” อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

รถค้างอีก 5 คัน ยังประมูลขายไม่ออก

สำหรับรถจากสำนวนของผู้กำกับโจ้ที่ยังค้างอยู่ ยังไม่ได้มีการประมูลนั้น อธิบดีกรมศุลกากร บอกว่า ยังมีเหลือ 5 คันที่ยังค้างอยู่ ยังขายไม่ได้ และ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา กรมได้ร่วมมือกับกรมขนส่งทางบกที่การยกเลิกจดทะเบียนให้กับรถยนต์ลักลอบนำเข้า และ ยกเลิกการประมูลไปด้วย ทำให้ยังมีรถค้างอยู่ราว 600-700 คันที่กรม

“พอไม่มีการประมูล รถที่มีการจับกุมมา ก็ยังเก็บรักษาไว้ที่กรมศุลฯ ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ก็กำลังให้เจ้าหน้าที่ศึกษาอยู่ว่าจะเอาไปทำอะไรได้บ้าง จะบริจาคเป็นวิทยาทานด้านการศึกษา จำนวนรถก็มีมากเกินไป หรือ จะแยกชิ้นส่วนขายเป็นซากได้หรือไม่ ก็กำลังดูอยู่” อธิบดีกรมศุลฯกล่าว 

สั่งเช็กผู้กำกับโจ้ร่วมประมูลเองด้วยหรือไม่

ส่วนผู้กำกับโจ้จะมีการร่วมประมูลเองด้วยหรือไม่นั้น อธิบดีกรมศุลฯ กล่าวว่า กำลังให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอยู่ว่า ผู้กำกับโจ้มีการเข้าประมูลซื้อรถเองด้วยหรือไม่ เพราะปกติกรมไม่ได้เก็บข้อมูลรายชื่อคนที่ประมูลได้ไว้