เปิดเส้นทาง 25 กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย

เปิดเส้นทาง 25 กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย

เปิดเส้นทางและการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนของ 25 กมธ. ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย 

วันที่ 17 กันยายน 2564 กรณีสภาผู้แทนราษฎร มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … จำนวน 4 ร่าง ในวาระแรก พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการธิการ (กมธ.) วิสามัญ จำนวน 25 คน ทำหน้าที่ปรับปรุงเนื้อหาในชั้นกมธ.

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลของ กมธ. 25 คน จากคณะรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ เพื่อให้เห็นถึงเส้นทางการทำงาน และการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ดังนี้

คณะรัฐมนตรี 5 คน

1. ศ.พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม : จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะนิติศาตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการกํากับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์​และอีกหลายตำแหน่ง

2.ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม : เป็นผู้รับมอบหนังสือเปิดผนึก ทวงถามความคืบหน้าคดีอุ้มหายของ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งหายตัวไปขณะแวะซื้อของหน้าอาคารที่พักในช่วงเย็นของวันที่ 4 มิถุนายน 2563

3.นางสาวจรวยพร พงศาวสีกุล นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ : เป็นอนุกรรมการ ในคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ : สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของ นายชวน หลีกภัย

5.นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี : จบการศึกษาปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขานิติศาสตร์ เคยเป็นสมาชิกสภาจังหวัดสุรินทร์ 3 สมัย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 3 สมัย

พรรคเพื่อไทย 6 คน

6.นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย : นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหงและ
ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรโรงเรียนนายอำเภอ และหลักสูตรนักปกครองระดับสูง จากวิทยาลัยการปกครอง

7. นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี : เคยรับราชการเป็นนายแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะลาออกจากราชการมาทำงานการเมือง เป็นอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเป็นอดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแพร่ 

ระยะหลัง นพ.ทศพร กลายเป็นขวัญใจโซเชียล จากการอยู่เคียงข้างผู้ชุมนุมและกลุ่มแกนนำ ไม่ทอดทิ้งในเวลาที่เจ็บป่วย ล่าสุด นพ.ทศพร นำผู้เสียหาย ซึ่งเป็นหญิง 2 ราย ที่ถูกตำรวจควบคุมฝูงชนรุมทำร้ายร่างกายเมื่อวันที่ 11 กันยายน ไปร้องเรียนต่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.

8.นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย : นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เคยดำรงตำแหน่งประธานสภากรุงเทพมหานคร ปี 2543 และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ปี 2537 – 2557

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นายประเดิมชัย พร้อมทีมงาน แต่งกายในชุดซุปเปอร์ฮีโร่ ลงพื้นที่ตลาดกลาง ดินแดง มอบหน้ากากอนามัย น้ำยาฆ่าเชื้อโควิดให้กับประชาชน

9.นายสมบัติ บุญงามอนงค์ : นักกิจกรรมทางการเมืองคนดัง เป็นที่รู้จักในชื่อ บก.ลายจุด เป็นอดีตแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา นายสมบัติแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร พร้อมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “สมบัติทัวร์” เพื่อขับไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องรัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชนตามวิถีทางประชาธิปไตย

10.นายเอกชัย ไชยนุวัติ : นักวิชาการด้านกฏหมาย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับมาทำงานการเมืองร่วมกับ ดร. สุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เป็นเวลา 9 ปี ในตำแหน่งรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม

ในช่วงปลายปี 2556 ขณะที่การเมืองมีความขัดแย้งรุนแรง นายเอกชัย ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายแห่งในเชิงไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มกปปส.  และสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีรักษาการลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เพื่อจัดตั้งสภาประชาชนขึ้นมาปฏิรูปประเทศก่อนมีการเลือกตั้ง ตามรายงานจาก ฟรีดอม ไอลอว์ 

11.นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ : จบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และเนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อดีตทนายความ

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกมลศักดิ์กล่าวถึงกรณี ปืน อส.หายหลายกระบอก ที่ จ.นราธิวาส โดยระบุว่า ในนฐานะที่เป็น ส.ส.ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายค้าน จะติดตามงบประมาณการซื้ออาวุธที่จะเข้าสภาว่า หากสนับสนุน และไม่มีการคุ้มครองหรือมาตรการที่ดีในการรักษาอาวุธปืน หรือส่วนเกี่ยวข้องที่เป็นของราชการ เรื่องจัดงบประมาณซื้ออาวุธสนับสนุนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะเป็นวาระหนึ่งที่จะต้องถกประเด็น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ากับภาษีที่เสียไป

พรรคพลังประชารัฐ 5 คน

12.นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ : จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ 8 สมัย และเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

13.นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. : ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน รวมถึง กรรมการบริษัท บ้านทรงไทยแจ้งวัฒนะ จำกัด และ กรรมการบริษัท วิภาวดีพาเลซ จำกัด นอกจากนี้ยังเป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านสังคม อดีตผู้จัดการบริษัท บ้านทรงไทยแจ้งวัฒนะ จำกัด

เมื่อปีที่แล้ว นายสิระ พร้อมด้วย นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ… ต่อนพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้มีการบรรจุเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯต่อไป

14.นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา : สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยรามคำแหง เข้าสู่วงการการเมืองด้วยการเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครยะลา ก่อนที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2562 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ

15.นายสมบัติ อำนาคะ ส.ส สระบุรี : จบการศึกษรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตและรัฐประศาสนศาตรมหาบัณฑิต (การจัดการภาครัฐและเอกชน) วิทยาลัยรัชต์ภาคย์ ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลตาลเดี่ยว ได้รับตำแหน่งกำนันยอดเยี่ยมประจำปี 2546, 2548 และ 2551

16.นายกองตรี อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ส.ส.นครศรีธรรมราช : นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นข้าราชการฝ่ายปกครอง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปกครอง ปลัดอำเภอ นายอำเภอ

เมื่อปี 2562 ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายอำเภอ มาสมัคร ส.ส. ในนามพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่มีอนาคตบนเส้นทางข้าราชการอีกยาวไกล โดยให้เหตุผลว่า อยากเป็นผู้แทนของประชาชน ที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหา สร้างโอกาสให้กับประชาชนได้ในวงกว้างทั้งประเทศ

พรรคภูมิใจไทย จำนวน 3 คน

17.นางสาวเพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย : ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาและการฟื้นฟูเหยื่อจากการก่อการร้ายองค์การสหประชาชาติ

สำนักข่าวอิศรา ระบุว่า นางสาวเพชรดาวมีดีกรีเป็นแพทย์ ทำงานด้านสุขภาพจิต เป็นอดีตผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 รับผิดชอบพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่สำคัญเธอยังเป็นทายาทการเมืองของ นายเด่น โต๊ะมีนา ส.ส.ปัตตานีหลายสมัย ทั้งยังเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกทั้งยังเป็นหลานสาวของ ฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ และเป็นเจ้าของข้อเรียกร้อง 7 ข้อ จนถูกทางการไทยในยุคก่อนปี 2500 มองว่าเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน จึงทำให้เกิดปฏิบัติการอุ้มหาย เชื่อกันว่าเขาถูกสังหารและนำศพไปถ่วงน้ำ

กล่าวกันว่าชะตากรรมของฮัจยีสุหลง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดขบวนการต่อสู้และต่อต้านรัฐไทย โดยมีแรงผลักดันเรื่องการเรียกร้องความเป็นธรรม แต่พ่อของเธอ นายเด่น โต๊ะมีนา เลือกเส้นทางทวงคืนความยุติธรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้วิถีทางทางการเมืองผ่านสนามเลือกตั้ง และเธอกำลังสานต่ออุดมการณ์จากบิดา

18.นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย : นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (กฎหมายเศรฐกิจระหว่างประเทศ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทนายความเป็นระยะเวลากว่า 35 ปี

19.พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม : อดีตข้าราชการทหาร ตำแหน่ง รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และมีประสบการณ์เป็นอัยการผู้ช่วยศาลทหารกรุงเทพ

พรรคก้าวไกล 2 คน

20.นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล : ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล โดยก่อนหน้านี้เป็นนักเคลื่อนไหวที่ออกมาทำกิจกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ในหน้าประวัติสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุด้วยว่า เคยถูกศาลทหารสั่งขัง 2 ครั้งในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เขาเปิดเอกสารลับที่สุด อ้างว่าเป็นลิสต์รายชื่อบุคคล 183 รายชื่อ และบัญชีโซเชียลมีเดีย 19 บัญชี ที่ถูกระบุเป็น Watchlist และสถานะคดีของผู้ถูกหมายตาจากรัฐ ซึ่งมีรายชื่อของเขารวมอยู่ด้วย
21.นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้จัดการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม : เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานตรวจสอบข้อร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งประเด็นการทรมาน การบังคับสูญบุคคลให้สูญหาย การใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ และยังเคยเป็นอดีตประธานของแอมเนสตี้ ประเทศไทยด้วย ตามข้อมูลจากแอมเนสตี้ ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงมหาลัย เพราะว่าช่วงนั้นคือช่วงที่เขาเรียกกันว่า ‘พฤษภาทมิฬ’ เป็นช่วงที่ทหารยึดอำนาจและมีการปราบปรามประชาชนในปี 2535 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีเกิดเหตุการณ์นองเลือด และช่วงมหาวิทยาลัย เราเรียนอักษร เราเรียนสังคมศาสตร์ การพัฒนา ได้ลงชุมชน ได้เห็นสภาพความเหลื่อมล้ำ เราก็เลยอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง มันทำให้เราได้มาทำงานกับพี่ ๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ความรู้เราก็งอกเงยไปเรื่อย ๆ ทำให้เรามีความเชื่อมั่นในแนวทางนี้ รวมทั้งเรามีความรู้ทางกฎหมายจากที่เราเรียนนิติศาสตร์ด้วย”

พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 2 คน

22.นางสาวศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร : เป็นหนึ่งใน New Dem กลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า แม้จะมีธุรกิจครอบครัวรองรับ แต่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง จึงสนใจงานการเมือง เพราะเชื่อว่าการเมืองมีอำนาจในการกำหนดนโยบายสร้างผลขนาดใหญ่ให้สังคม ซึ่งรวมถึงผลเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ

23.นายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา : นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนดีเด่นที่มีผลงานด้านการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ปีพ.ศ. 2550 เป็นนักกิจกรรมในสมัย 14 ตุลาคม 2516 เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “สภาหน้าโดม” ที่กลายเป็นแกนนำสำคัญของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย

พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 1คน

24.นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ : อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช 2 สมัย รัฐศาสตรบัณฑิต และ นิติศาสตรบัณฑิต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระดับปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต จาก Temple University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการโรงแรม จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

พรรคเสรีรวมไทย จำนวน 1 คน

25.นางอังคนา นีละไพจิตร : อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ประธานกรรมการในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิสตรีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รองประธานในคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นักเคลื่อนไหวสตรี

สามีของนางอังคนาคือ นายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่หายตัวไป เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547 มีพยานเห็นเขาครั้งสุดท้ายที่รามคำแหง โดยมีชายสี่คนลากเขาเข้าไปในรถ และไม่มีใครเห็นเขาอีกเลย

จนถึงวันนี้เป็นเวลา 17 ปี นางอังคนายังคงเดินหน้าทวงถามความคืบหน้าทางคดีจากดีเอสไอ และจัดกิจกรรมรำลึกถึงการหายตัวไปของทนายสมชายอย่างต่อเนื่อง