เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย. ไปใช้สิทธิไม่ได้ทำอย่างไร

เลือกตั้ง
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564

เลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย.64 ไปใช้สิทธิไม่ได้ ต้องทำอย่างไร ถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้างหากไม่แจ้งเหตุจำเป็นต่อนายอำเภอ

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่งทั่วประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปข้อมูลการดำเนินการสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในวันดังกล่าวได้ รวมถึงการถูกจำกัดสิทธิหากไม่ไปเลือกตั้ง โดยไม่แจ้งเหตุความจำเป็น

ไปเลือกตั้ง อบต. ไม่ได้ทำอย่างไร

ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ เนื่องจากมีเหตุจำเป็น ให้แจ้งเหตุต่อนายทะเบียนอำเภอ (นายอำเภอ) ที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทำเป็นหนังสือ ซึ่งต้องระบุเลขประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามหลักฐานทะเบียนบ้านภายใน 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง และภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง สามารถแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

เหตุจำเป็นที่ไม่สามารถไปเลือกตั้ง อบต.

สำหรับเหตุผลจำเป็นที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน มีดังนี้

  1. มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
  2. เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  3. เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
  4. เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
  5. มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
  6. ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
  7. มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต.กำหนด

ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แจ้งเหตุไว้แล้ว หากในวันเลือกตั้ง เหตุดังกล่าวได้สิ้นสุดลง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งได้เลย

ไม่ไปเลือกตั้ง อบต. เสียสิทธิอะไรบ้าง

  1. สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ถ./ผ.ถ. หรือสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.
  2. สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
  3. เข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอน ส.ถ./ผ.ถ.
  4. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
  5. ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริการท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
  6. ดำรงตำแหน่งเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น 

ทั้งนี้ การถูกจำกัดสิทธิข้างต้น กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี