“ไอติม พริษฐ์” เปิดสูตรรื้อระบอบประยุทธ์ ร่วมวงการเมืองก้าวไกล-ก้าวหน้า

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

17 พฤศจิกายน 2564 ในรัฐสภาตีตกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ Re-Solution ภายใต้คอนเซ็ปต์ “รื้อระบอบประยุทธ์”

ทั้งที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนแสนกว่าชื่อร่วมลงชื่อเสนอต่อรัฐสภา แต่ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ หนึ่งในแกนนำ Re-Solution ไม่ขอยอมแพ้ ยังปักหลักสู้ทางความคิดต่อ

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พริษฐ์” ถึงวิธีการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเกิดขึ้นได้จริง

เขามีแผนการใหม่ในใจที่จะกดดันไปที่ตัว “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จิ๊กซอว์ตัวสำคัญใน “ระบอบประยุทธ์” ไว้แล้ว

Q : ท่าที Re-solution จะเดินหน้าอย่างไร หลังร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมถูกตีตก

ขั้นตอนถัดไปทางทีมต้องกลับมาทบทวนกันต่อว่าจะเดินอย่างไรต่อ แต่ไม่ว่าในตัวผม กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า collap และในฐานะกลุ่ม Re-solution สิ่งที่ยังต้องไปต่อแน่นอนคือการเดินหน้ารณรงค์ให้ประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันมีปัญหา

Re-solution ไม่ได้เริ่มต้นจากการล่ารายชื่อ เราเริ่มต้นในเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นการร่วมมือของ กลุ่ม collap ไอลอว์ คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล วัตถุประสงค์พยายามจะติดอาวุธเรื่องของข้อมูลให้เห็นถึงปัญหาและทางออก

เช่น พอเห็นแล้วว่าวุฒิสภามีปัญหาอย่างไร ก็ฉายภาพให้เห็นว่ามีทางออกอย่างไรบ้าง ดังนั้น การเดินหน้าทางความคิดยังมีต่อแน่นอน เพียงแต่การล่ารายชื่ออีกรอบ หรือ การณรงค์การเคลื่อนไหวยังต้องกลับมาประเมินในฐานะกลุ่มอีกทีหนึ่ง Re-solution ยังไม่ยุบไปยังเดินต่อ

Q : นักการเมืองทั้ง ส.ส.และส.ว.วิเคราะห์ว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ Re-solution ไม่มีทางผ่าน เป็นเพียงเพื่อให้ถูกตีตกในรัฐสภาและจุดกระแสนอกสภา ส่วนตัวคิดแบบนั้นหรือไม่

ความจริง ในฐานะกลุ่มๆ หนึ่งลงแรงไปพอสมควร กับการร่างเนื้อหา รณรงค์ การล่ารายชื่อ และเข้าไปอภิปรายเหตุผลในสภา เราต้องหวังเป้าหมายสูงสุดคือหวังว่าร่างของเราจะได้รับหลักการ ก่อนเข้ารัฐสภาในวันนั้น มีการไปแตะคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และต้องจบด้วยการทำประชามติ

เราคาดคิดว่าหลักการและเหตุผลที่ให้ไปน่าจะเพียงพอทำให้ผ่านรัฐสภาไปได้ และให้ประชาชนผู้มีอำนาจตัดสินใจผ่านการทำประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างของเรา

แน่นอนเราเผื่อใจไว้ระดับหนึ่งว่าอาจจะไม่ผ่าน แต่เราไม่ได้เสนอไปโดยคิดว่ามันจะโดนปัดตกแน่นอน และตรรกะที่หลายคนใช้ว่าถูกปัดตกแน่นอน เป็นตรรกะที่แสดงให้เห็นถึงความผิดปกติในการเมืองไทย  2 อย่าง หนึ่ง เราต้องคาดหวังว่าสมาชิกรัฐสภาจะโหวตตามผลประโยชน์ของประชาชนและหลักการ ไม่ใช่ว่าอะไรที่ฉันเสียประโยชน์และจะไม่โหวตให้

สอง การที่เราต้องมาอ้อนวอน ขอร้อง จากการแต่งตั้ง 1 ใน 3 เห็นชอบกับเราถึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้ ซึ่งผิดวิสัยระบอบประชาธิปไตย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะอยู่ในระดับสูงกว่ากฎหมายปกติ ที่อาศัยเสียงหนึ่งในสองของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ส่วนใหญ่ในต่างประเทศไม่ว่าสองในสาม หรือ สามในสี่ มักจะมาจากเสียงของ ส.ส. หรือ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง

Q : เมื่อปัจจุบันกฎหมายประชามติบังคับใช้แล้ว คิดว่าจะผลักดันให้ทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก่อนที่จะลงมือร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อข้ามกับดัก ส.ว.

ในนามส่วนตัว เห็นว่าเป็นขั้นตอนต่อไปที่เป็นไปได้ ตอนแรกเราคาดคิดว่าแก้ไขรายมาตราก่อน เพราะว่าเร็วกว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะต้องตามมา

แต่พอ พ.ร.บ.ประชามติบังคับใช้ ขั้นตอนต่อไปที่น่าสนใจคือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการรวบรวม 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการจัดทำประชามติ ว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) หรือไม่

ซึ่งเป็นการยื่นร่างไปที่ ครม. และนายกฯ โดยตรง ไม่ต้องผ่านรัฐสภา เป็นการกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าจริงใจแค่ไหนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประกาศในปีแรกที่รับตำแหน่งว่าเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

มิติที่น่าสนใจคือ พอเป็นช่องที่ส่งไปที่ ครม.เป็นการวัดเลยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จริงใจแค่ไหน  แม้ร่างของ Re-solution จะไม่ผ่าน แต่ทำให้ประชาชนตื่นตัวมากขึ้นถึงปัญหารัฐธรรมนูญ

ถ้าสังเกตการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา มีบางคนที่เห็นด้วยรับหลักการ และบางคนไม่เห็นด้วยกับร่างแก้รัฐธรรมนูญ แต่ว่าเห็นถึงปัญหาที่ตรงกัน อาจเห็นวุฒิสภา หรือ ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหา แต่เห็นต่างว่าทางออกจะเป็นอย่างไร

ดังนั้น เมื่อมีทางออกที่หลากหลาย สิ่งที่ดีที่สุดคือการหาฉันทามติของประชาชนในการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วเอาข้อเสนอสภาเดี่ยวของกลุ่ม Re-solution หรือ ข้อเสนอของกลุ่ม ส.ว. ให้ประชาชนตัดสินว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอย่างไร

Q : ทำประชามติให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีโอกาสสำเร็จมีมากน้อยแค่ไหน

ไม่ควรจะมีเหตุผลอะไรที่ไม่สำเร็จ เพราะอย่างแรกยอมเดินตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สมาชิกรัฐสภาฝ่ายรัฐบาลโหวตคว่ำในวาระ 3 เพราะอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องทำประชามติรัฐธรรมนูญก่อนเสนอสภาเข้าสู่วาระที่ 1 ดังนั้น เป็นการยอมเดินตามศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็เห็นชอบหลักการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่แล้ว เพราะเป็นฝ่ายที่เสนอให้มี ส.ส.ร.เอง จึงนึกเหตุผลไม่ออกว่า ส.ส.พลังประชารัฐจะอธิบายกับสังคมอย่างไร เพราะเคยเสนอให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

รวมถึงวัดใจ พล.อ.ประยุทธ์เลย เพราะเป็นการยื่นเรื่องไปที่ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง บีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ รักษาคำพูดของตัวเอง

Q : collap จะถือธงนำเรื่องนี้

ต้องคุยในทีมอีกทีหนึ่ง แต่เชื่อว่าประชาชนน่าจะเห็นแนวโน้มตรงนี้คล้ายๆ กัน ยิ่งมีแรงขับเคลื่อนจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่กว้างขวางที่สุด น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด collap ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องถือธงนำ แต่ถ้าใครยินดีทำเรื่องนี้ก็พร้อมสนับสนุน ผลักดัน

Q : รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะเกิดขึ้นได้ไหม ในเมื่อมองบริบทรอบๆ ส.ส. และ ส.ว. ไม่ได้แสดงความจริงใจเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเท่าไหร่

ความจริงใจของฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ตั้งคำถามโดยตลอด ในการอภิปรายในรัฐสภา ข้อกังวลของสมาชิกรัฐสภาหลายคนสวนทางกับสิ่งที่เขาเคยทำในอดีต เช่น มีสมาชิกรัฐสภาบางคนยกมาว่าทำไมเรามาแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรองจากประชาชน 16 ล้านเสียง

แต่พอไปดูประวัติการลงคะแนนของเขา ก็เห็นว่าเขาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่จริงใจที่ยกเหตุผลนี้มาคัดค้านร่างของเรา ทั้งที่ไม่กี่เดือนก่อนคุณก็เพิ่งอนุมัติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เรื่องระบบเลือกตั้งได้

ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ ส.ว.คือกลุ่มเดียวกัน เพื่อสืบทอดระบอบประยุทธ์ จะเห็นว่าเขาพยายามซื้อเวลามาโดยตลอด

กลุ่มที่สองคือพรรคร่วมรัฐบาล สามารถมีความกล้าหาญและมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มากกว่านี้ อย่าง พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศชัดว่าหนึ่งในเงื่อนไขร่วมรัฐบาลคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ที่ผ่านมาใน 20 ร่าง มีร่างเดียวที่ผ่านคือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ซึ่งไม่แตะที่ต้นตอของปัญหารัฐธรรมนูญ 2560

อาจจะบอกว่าพยายามแล้วในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ สามารถทำได้มากกว่าแค่เสนอร่าง ไปเจรจากับ พล.อ.ประยุทธ์ กับพรรคพลังประชารัฐ ว่า ถ้าไม่เสนอ ตัดอำนาจ ส.ว. หรือ แตะที่มาของ ส.ว. จะถอนตัวร่วมรัฐบาล

หรือแทนที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอหลายร่าง น่าจะรวมเรื่องแก้ไขระบบเลือกตั้ง กับตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ ไว้ในร่างเดียวกัน เพื่อวัดใจไปเลยว่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐ หรือ ส.ว.จะเห็นชอบกับการแก้ระบบเลือกตั้ง จะต้องโหวตการตัดอำนาจ ส.ว.ไปด้วย แต่ก็ไม่เห็นพรรคประชาธิปัตย์ทำ

Q : ในฐานะที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ ช่วยวิเคราะห์หน่อยว่าทำไมไม่ถอนตัวร่วมรัฐบาล

ผมไม่ทราบ ต้องยอมรับว่าหลังจากที่รณรงค์หลังการเลือกตั้งว่าไม่เข้าร่วมรัฐบาล และตั้งแต่วันที่ลาออกในวันที่พรรคตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล ผมก็ไม่เห็นด้วยกับหลักการและเหตุผลตั้งแต่ต้น

ผมไม่ได้คิดว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการกดดันให้รัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ มาถึงวันนี้ก็ยังยืนยันคำเดิม ผ่านมา 2 ปีครึ่งยังไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะถูกแก้ เว้นแต่ระบบเลือกตั้ง ซึ่งหวังว่าไม่ใช่ประเด็นหลักที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามอธิบายกับสังคมว่าจะเข้าไปแก้ ดังนั้น ไม่แน่ใจว่าคนในพรรคมองอย่างไร

Q : ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังผูกติดกับรัฐบาลประยุทธ์ มองอนาคตประชาธิปัตย์จะเป็นอย่างไร

ผมไม่อยากวิจารณ์มากในฐานะคนนอก แต่เอาเป็นว่าการตัดสินใจของพรรคครั้งนั้น สำคัญมากต่อมุมมองของประชาชนหลายคนต่อพรรค การตัดสินใจครั้งนั้นถือว่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ต้องวัดกันที่คะแนนเลือกตั้งครั้งต่อไป

Q : หวังจำนวนมือ ส.ส.ในสภามากน้อยแค่ไหนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในเชิงกฎหมายก็ต้องพึ่งมือในสภา แต่คิดว่ามือในสภาจะยกให้หรือไม่ยกให้ ส่วนสำคัญคือกระแสของประชาชน ชุดข้อมูลหนึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ถูกเสนอ 2 ครั้ง รอบแรกได้รับการเห็นชอบจาก ส.ว. 50 กว่าคน แต่รอบสองกลับเหลือแค่ 20 กว่าเสียง อะไรที่อธิบาย ส.ว.30 คนที่ไม่เห็นชอบในรอบสอง

แต่สิ่งที่อธิบายได้คือ ความตื่นตัวของประชาชน เพราะรอบแรกคนตื่นตัวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการล่ารายชื่อถึง 1 แสนรายชื่อ มีการชุมนุมหน้าสภา แต่รอบสองเป็นการเสนอโดยพรรคการเมือง ภาคประชาชนอาจไม่ส่งเสียงอย่างเข้มแข็งเท่ากับรอบแรก ทำให้ ส.ว.หลายคนถือโอกาสไม่รับร่าง และคิดว่าพอหลุดสายตาสังคมก็รอดพ้นไปได้

เหมือนเกมฟุตบอล กองหน้าที่ต้องยกมือในเวลานี้ ยังต้องเป็นสมาชิกรัฐสภา แต่คิดว่าแรงกดดันของภาคประชาชนส่งผลต่อการตัดสินใจของสมาชิกรัฐสภา

Q : หรือเป็นเพราะ นักบอลเตะไล่ผู้จัดการทีม (ส.ว.ที่โหวตตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ) น้อยลง เพราะรู้ว่าผู้จัดการทีม (พล.อ.ประยุทธ์) ยังอยู่ต่อไปยาวๆ

เราต้องหวังว่าสมาชิกรัฐสภาไม่ได้โหวตบนพื้นฐานว่า ผลประโยชน์ตัวเองอยู่ตรงไหน แต่ต้องโหวตว่าอะไรคือหลักการและเหตุผล

ตอนที่เราส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา เราใช้คำว่าระบอบประยุทธ์ ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะเราคิดว่าสิ่งที่เป็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวบุคคล มันคือโครงสร้างทุกอย่างที่เชื่อมกันหมด พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง ส.ว.มาได้ 250 คน และ ส.ว.250 คน แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นการสร้างเครือข่ายระบอบอุปถัมภ์ไว้ทั้งหมด

ทำให้คนกลุ่มนี้พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์กันและกัน ทำให้การรื้อระบอบนี้เป็นความท้าทาย เพราะไม่ใช่แค่เอา พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียวออกไป ถึง พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แต่ถ้าระบอบนี้ นำผู้นำทหารคนใหม่เข้ามา หรือ พลเรือนที่อาจจะดูดีมากในสังคมเข้ามา ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะยังมีเครือข่ายผลประโยชน์ตรงนี้ที่มีรัฐธรรมนูญ 2560 ค้ำจุลอำนาจอยู่

Q : พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่หัวใจหลักของระบอบ

อื้ม…ถ้าเปรียบเป็นฟุตบอล คิดว่าปัญหาไม่ใช่ตัวผู้เล่น แต่ปัญหาคือตัวกติกา รัฐธรรมนูญที่เขียนให้ฝ่ายหนึ่งมี 7 คน ฝ่ายหนึ่งมี 11 คน ฝ่ายที่มี 11 คน สามารถแต่งตั้งแฟนบอลของตัวเองมาเป็นกรรมการได้ แล้วไปแจกใบแดงให้ฝ่ายที่มี 7 คน ให้เหลือผู้เล่นน้อยลงไปอีก ทั้งที่ฝ่ายตัวเองก็ทำเหมือนกัน ดังนั้น แม้เราเอากัปตันทีมของฝ่าย 11 คนออกไป แต่กติกาเหมือนเดิม ความไม่ยุติธรรมก็ยังดำรงอยู่

Q : จิ๊กซอว์ตัวแรกต้องแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ

ถ้าจะแก้ปัญหาให้ยั่งยืนก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ สมัยก่อนอาจมีการถกเถียงว่า ระหว่างแก้รัฐธรรมนูญ กับ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก อันไหนต้องมาก่อนมาหลัง

อะไรจะมาก่อน มาหลัง ไม่สำคัญ แต่รัฐธรรมนูญต้องถูกแก้เท่านั้นเอง ต้องหาแรงกดดันเพื่อจะหานายกฯ คนใหม่พร้อมที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง

แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ก็ควรทำเช่นเดียวกัน จึงบอกว่า ข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีอนาคตทางการเมือง เพราะจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถกลับเข้าสู่ตำแหน่งได้อย่างไร้ข้อครหา

ถ้าสามารถเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ไม่ได้มีแต้มต่อจาก ส.ว.250 คน หรือ เป็นคนแต่งตั้ง กกต.คืนศักดิ์ศรี ให้พล.อ.ประยุทธ์ มาลงแข่งในสนามที่เป็นธรรมจริงๆ

Q : ท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ยาวๆ กลุ่มฝ่ายขวา หรือ เสนาธิการรอบข้าง พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะประเมินว่าเสียงของประชาชนไม่อาจทำอะไรรัฐบาลได้

ยังไง เราก็ต้องทำงานรณรงค์เชิงความคิดต่อ คาดเดาไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่นาน ไม่นานแค่ไหน แต่เราก็ไม่อยากให้ดีใจเกินไปถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไป เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไปเพียงเพราะว่าฝ่ายขวาที่สนับสนุนอยู่ เขาหาตัวผู้เล่นใหม่ที่ได้ใจผู้คนมากกว่า แต่ไม่ได้เปลี่ยนกติกา ยังคงกติกาที่ไม่เป็นธรรม อันนี้ผมกังวลใจกว่าอีก

ถ้าดูเหมือนผิวเผิน คนอาจจะมองว่าเปลี่ยนนายกฯ แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่เบื้องลึก เบื้องหลังกติกายังคงเน่าเฟะเหมือนเดิม คิดว่าอันตรายกว่า

Q : ถ้ารัฐธรรมนูญคือ “วัคซีน” จะต้องมียาตัวอื่นคู่ขนานไปด้วยไหมถึงจะรักษาความป่วยทางการเมืองของประเทศได้

ต้องมีแน่นอน ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญแล้วจะดีขึ้นทันที ต้องมีการรักษา ทั้ง 3 โรคร้ายแรง คือ เศรษฐกิจอ่อนแอ ความเหลื่อมล้ำ และประชาธิปไตยหลอกลวง 3 โรคนี้ จะรักษาแยกออกจากกันไม่ได้

ยาอีก 5 ตัวคือ 1.การผลักดันรัฐสวัสดิการ เพราะอนาคตของโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น เทคโนโลยีอาจมาทดแทนอาชีพหลายอาชีพทำให้คนตกงานถี่ขึ้น ความไม่แน่นอนจากสังคมสูงวัย ที่ทำให้ระบบประกันสังคม ระบบงบประมาณเจอแรงกดดัน ความไม่แน่นอนจากสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยพิบัติในอัตราที่ถี่ขึ้น

ดังนั้น การที่รัฐออกมาวางหลักประกันรัฐสวัสดิการเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุขที่มีคุณภาพ เข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี น้ำประปาดื่มได้ บางรายคิดไปถึงการมีรายได้พื้นฐานที่รัฐช่วยอุดหนุนสำหรับบางช่วงอายุหรือบางสถานะ

ไม่ใช่แค่ตาข่ายรองรับเรื่องความเหลื่อมล้ำ แต่มันเป็นการลงทุนทรัพยากรมนุษย์ทุกคนเหมือนกัน และตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของเราด้วย รวมถึงปลดล็อกศักยภาพของมนุษย์

สมมติมีคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง มีความคิดสร้างสรรค์ที่สูงสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ แต่ปัจจุบันอาจต้องเลือกรับราชการเพราะมีสวัสดิการที่มั่นคง ประเทศก็สูญเสียโอกาสที่เขาจะไปสร้างสตาร์ทอัพใหม่ๆ ที่อาจจะเป็นยูนิคอร์นให้กับประเทศได้ เพียงเพราะว่าเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่ทำให้ชีวิตมั่นคงได้ นอกจากการรับราชการ

2.ทุนผูกขาด ทำอย่างไรให้เราส่งเสริมการแข่งขันภายใน เพราะปัจจุบันเรามีปัญหาทุนผูกขาดอยู่ ทั้งผูกขาดจากภาคเอกชนและผูกขาดจากภาครัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจที่เริ่มขยับมาทำกิจการที่ดูจะออกจากภารกิจตัวเองมากขึ้น

การควบรวมของโลตัส ถูกตั้งคำถามว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจจริงหรือเปล่า ในการป้องกันการผูกขาด ประชาชนก็จับตาการควบรวมของทรูและดีแทคอยู่ ว่าจะนำไปสู่การผูกขาดตลาดหรือเปล่า

การพยายามหามาตรการที่รัดกุมป้องกันการผูกขาดก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยทำให้ SMEs มีโอกาสในการแข่งขันมากขึ้น ไม่ล้มหายตายจากไป

ท้ายที่สุดแล้วถ้าทลายทุนผูกขาดได้ ความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับการเมือง ที่ปัจจุบันอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ปิดกั้นการเติบโตของประชาธิปไตยก็อาจจะหายไป

3.การกระจายอำนาจ ถ้าเราอยากกระจายความเจริญไม่อยากให้กระจุกตัวอยู่ที่ กทม.หรือหัวเมือง ต้องกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจบริหารจัดการพื้นที่ของตัวเอง ให้มีเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของตัวเอง ไม่ใช่พอจะพัฒนาอะไรแล้วต้องมารอส่วนกลาง

4.ปฏิรูปราชการ เป็นรัฐราชการรวมศูนย์ ท้ายที่สุดแล้วมีกฎระเบียบกฎเกณฑ์หลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ จำนวนใบอนุญาตประเทศเราสูงมาก ทำให้ล่าช้า ถ้าไม่อยากล่าช้าก็จ่ายสินบน เป็นการกระทำทุจริตไปอีก

5.สิทธิมนุษยชน ทำอย่างไรให้เห็นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญ ทั้งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ให้คนที่แสดงความเห็นต่างไม่ถูกเพ่งเล็ง หรือถูกรังแกโดยภาครัฐ รวมถึงสิทธิมนุษยชนในรั้วของโรงเรียน การรณรงค์ให้ทุกพื้นที่ในสังคมคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนสำคัญ

เราเห็นว่าส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศเหมือนกัน เพราะเขาเพ่งเล็งมาตลอดเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องอะไรบ้าง เช่น กรณีมาตรา 112 ในเวทีนานาชาติ หรือ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานอุ้มหายที่ล่าช้ามาสิบกว่าปี หลังจากไทยลงนามอนุสัญญา ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของไทยในเวทีโลก และกระทบถึงการลงทุนด้วย

Q : ในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 จะไปอยู่พรรคก้าวไกล หรือ ไปสร้างดาวดวงใหม่ พรรคของตัวเอง

สำคัญที่สุดคือไม่รู้ว่าครั้งที่ 2 คือเมื่อไหร่ เพราะคิดว่าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ต้องเปลี่ยนตัวนโยบายกฎหมาย ซึ่งต้องเปลี่ยนผ่านการเมือง ยิ่งมาทำบริษัทเอกชนด้านการศึกษา ยิ่งเห็นเลยว่ามีบางอย่างที่เอกชนแก้ไม่ได้จริงๆ

สิ่งที่ผมและสตาร์ทดีพยายามทำอยู่สามารถแก้ไขปัญหาการศึกษาได้โดยใช้เทคโนโลยี แต่ถ้าเราจะแก้หลักสูตร ถึงเราพัฒนาแอปพลิเคชั่นแทบตาย เด็กทุกคนเข้าถึง แต่ถ้าเรายังต้องอิงหลักสูตรของกระทรวงศึกษา เน้นอัดฉีดความรู้มากกว่าพัฒนาทักษะ มันก็ไม่สามารถยกระดับการศึกษาได้เท่าที่ควร จะมีบางอย่างที่ภาครัฐต้องขยับจริงๆ

ดังนั้น เป็นเหตุผลที่ในที่สุด ถ้าผมพร้อมก็อยากจะกลับเข้าสู่การเมือง เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งที่จะเกิดขึ้น หรือ ครั้งถัดๆ ไปมากกว่า ที่สำคัญไม่รู้ว่าครั้งที่สองจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

Q : ดูจังหวะก่อนจะเข้าพรรคไหนหรือไม่

จริงๆ การเข้าพรรคไหน เป็นเรื่องรอง แต่เรื่องหลักคือจะกลับเข้ามาการเมืองเมื่อไหร่มากกว่า ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบัน มีการทำงานกับพรรคก้าวไกลอยู่ตลอด จุดยืนหลายๆ อย่างสอดรับกัน เรื่องรัฐธรรมนูญเราทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล

เรื่องการศึกษา ผมเคยได้ไปแสดงความเห็นนโยบายการศึกษาควรจะเป็นอย่างไร ในฐานะที่ทำเอกชน และมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเรื่อง Ed Tech เทคโนโลยีด้านการศึกษาให้กับทางพรรคว่าเราเอาเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาการศึกษาได้อย่างไรบ้าง

มีทำงานกันเป็นหลายประเด็น แต่ยังไม่มีการสมัครสมาชิก ยังกลับมาโจทย์เดิม งานหลักของผมคือบริหารสตาร์ทอัพ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจะกลับเข้าการเมืองเมื่อไหร่ ค่อยมาพิจารณากัน สมัครเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่งอีกที

Q : ตอนอยู่พรรคประชาธิปัตย์ มีนวัตกรรมการเมือง เช่น กลุ่มนิวเดม ครั้งต่อไปจะมีนวัตกรรมทางการเมืองอะไรออกมาอีกหรือไม่

หวังว่าทุกพรรคคิดนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่แล้ว โลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตอนอยู่นิวเด็ม ชัดว่าเราเห็นว่ามีปัญหาหลายอย่างที่คนรุ่นใหม่อยากเห็น แต่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะยังตกหล่น ไม่ใช่แค่ภาคคนรุ่นใหม่ แต่หลักๆ เพื่อจะผลักดันนโยบายที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นและ พรรคกำลังตกหล่นอยู่

ตอนนั้นเสนอนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร สิทธิสมรสสำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย ส่วนรอบถัดๆ ไปนวัตกรรมทางการเมืองจะมีอยู่เสมอ เพราะอนาคตที่คนรุ่นใหม่จะเผชิญมันท้าทายกว่าสิ่งที่คนรุ่นก่อนเผชิญด้วยซ้ำ

Tech ที่จะเข้ามาทำให้การตกงานบ่อยขึ้น คนรุ่นใหม่เผชิญอนาคตการงานที่ไม่แน่นอนเลย เจอสังคมสูงวัยที่ทำให้สัดส่วนวัยทำงานน้อยลง ทำให้คนรุ่นใหม่แบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นกว่าเดิม หรือปัญหาสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ เพราะส่งผลกระทบต่อเขามากกว่าคนรุ่นก่อน

พรรคการเมืองก็ต้องมาคิดตรงนี้มากกว่าว่าจะทำอย่างไร ว่าจะรับประกันคุณภาพชีวิตของเขาในอนาคตได้ สำหรับผม สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการคือ 1.จุดยืนประชาธิปไตยที่ชัดเจน ไม่ใช่แค่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญหรือระบบการปกครอง แต่ต้องการจุดยืนในเชิงนโยบายที่สะท้อนค่านิยมประชาธิปไตย เรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค

เพราะคนรุ่นใหม่ คนอายุ 18 ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่จำความได้ตอนเขาอายุ 11 ขวบ มีนายกฯ คนเดียว และเราไม่เคยอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยสมบูรณ์แบบเลย

2.รับประกันเรื่องความมั่นคง รัฐสวัสดิการ จะหางบประมาณจากไหนที่มาช่วยจัดสรร และสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตเขา 3.การแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ คนรุ่นใหม่ต้องการเห็นการแก้เศรษฐกิจที่สะเทือนโครงสร้างพอสมควร

นอกจากคนรุ่นใหม่ไม่เคยเติบโตในยุคประชาธิปไตยแล้ว ยังไม่เคยเติบโตในยุคเศรษฐกิจไทยรุ่งเรือง ถ้าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ไม่ใช่การแจกเงินตรงนู้นทีตรงนี้ที แต่มันต้องแก้โครงสร้างจริงๆ ยังไม่รู้ว่านวัตกรรมคืออะไร แต่โจทย์คือ 3 อย่างนี้

Q : จะมีนโยบายไหนที่สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงโครงสร้าง

แนวทางหนึ่งอาจจะต้องหาเครื่องยนต์ใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย พึ่งพาต่างประเทศเยอะมาก เราพึ่งพาการส่งออก พึ่งพาการท่องเที่ยว พอมีวิกฤตเศรษฐกิจโลก มีสงครามการค้า มีโควิด-19 คนเดินทางไม่ได้ กลายเป็นว่าเศรษฐกิจเราเปราะบาง

เราพึ่งพาการบริโภคภายนอกเยอะ ภายในอ่อนแอมาก ที่ผ่านมา 5-7 ปี รายได้ครัวเรือนบางภูมิภาค บางระดับลดลงด้วยซ้ำ ทำอย่างไรให้เราหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ที่ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจโลกเยอะจนเกินไป อย่างไรการท่องเที่ยวไทยยังคงต้องเป็นจุดเด่นอยู่ แต่ยังไม่รู้เมื่อไหร่จะกลับมาเหมือนเดิม

เรามองว่า พลิกปัญหาที่พูดอยู่ให้เป็นโอกาสให้ได้ เช่น รู้ใช่ไหมว่ามีปัญหาสภาพภูมิอากาศ เราต้องสร้างเศรษฐกิจสีเขียวที่พยายามจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังสะอาด ขนส่งสาธารณะ รถยนต์ไฟฟ้า เราพูดถึงมีปัญหาสังคมสูงวัย เราคิดอุตสาหกรรมดูแลผู้สูงอายุได้ไหม เรามีจุดเด่นเรื่องวงการแพทย์อยู่แล้ว ก็เสริมไปด้วยเลย

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ถ้าจะทำควบคู่ไปได้ ต้องมาควบคู่กับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก พลิกมันให้กลายเป็นโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจไปด้วยเลย


กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ถ้าจะพัฒนาเศรษฐกิจได้งบประมาณต้องถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าส่วนกลางต้องมาคิดแทนว่าพื้นที่ต้องการอะไร จะเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ