สถิติเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 10 เขต พลังประชารัฐขี้อวด เพื่อไทยขี้แพ้ ประชาธิปัตย์จอมกั๊ก

เลือกตั้ง

ปี 2565 การเลือกตั้งสนามเล็ก-สนามซ่อม เตรียมระเบิดศึก ก่อนการเลือกตั้งสนามใหญ่จะเกิดขึ้น อย่างช้าที่สุด มีนาคม 2566

โฟกัสสนามเลือกตั้งซ่อม ไม่นับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) กับ นายกเมืองพัทยากำลังจะเกิดขึ้น 3 สนาม ภายในระยะเวลา 1 เดือน-มกราคม 2565

พรรคใหญ่-พรรคเล็ก-พรรคน้องใหม่ แสดงตัวเป็นผู้ลงรับสมัครถ้วนหน้า ไม่มีใครยอมใคร-หลีกทางให้ใคร ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ที่ “ดูเชิง” ชั่งน้ำหนักได้-เสีย จนถูกมองว่าขี้กั๊ก-ขี้ฮั้ว

สนามเลือกตั้งซ่อมที่ 1 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร พรรคพลังประชารัฐ ส่ง “ทนายแดง” ชวลิต อาจหาญ ลงล้างอาย พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง “อิสรพงษ์ มากอำไพ” รักษาที่นั่ง พรรคกล้า ส่ง “ผู้กำกับหนุ่ย” พ.ต.อ.ทศพร โชติคุตร์

สนามเลือกตั้งซ่อมที่ 2 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ส่ง “อนุกูล พฤกษานุศักดิ์” ลงเก็บแต้ม-เติมเสียงเพิ่ม พรรคประชาธิปัตย์ ส่ง “สุภาพร กำเนิดผล” รักษาแชมป์ พรรคกล้า ส่ง นายพงศธร สุวรรณรักษา หรือ “ทนายอาร์ม”

สนามเลือกตั้งซ่อมที่ 3 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม.หลักสี่-จตุจักร พรรคพลังประชารัฐ ส่ง “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ภรรยานายสิระ “ป้องกันแชมป์” พรรคเพื่อไทย ส่ง “สุรชาติ เทียนทอง” แก้มือ พรรคกล้า ส่ง “อรรถวิชชร์ สุวรรณภักดี ลุ้น “ส.ส.คนแรก” พรรคก้าวไกล ส่ง “เพชร กรุณพล” นักแสดงชื่อดัง

ยกเว้นเพียงพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวโน้ม “ไม่ส่งผู้สมัคร” ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีชื่อ “ผู้การแต้ม” พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ มีชื่อเป็นแคนดิเดตผู้สมัครฯ จนถูกมองว่าหลีกทาง-ฮั้วให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งหรือไม่

สนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 ชุมพร และสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 6 สงขลา จะหย่อนบัตรกันในวันที่ 16 มกราคม 2565 ส่วนสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 9 กทม. จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 มกราคม 2565

หากย้อนกลับไป สถิติเลือกตั้งซ่อม ส.ส. 7 ครั้งที่ผ่านมา พรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐแสดงอิทธิฤทธิ์ “สมราคาคุย” ชนะทุกสนาม จนสามารถนำมา “อวดอ้าง” สรรพคุณได้ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อม

ขณะที่พรรคแกนนำฝ่ายค้าน-พรรคเพื่อไทยกลายเป็น “พรรคขี้แพ้” เสียเก้าอี้ให้กับ “พรรคขั้วตรงข้าม” กราวรูด-เสียแชมป์ทุกสนามเช่นกัน

ทว่าชัยชนะของพรรคพลังประชารัฐ ได้สร้าง “รอยร้าว” ให้กับพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง กลายเป็นความ “บาดหมาง” บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองให้นักการเมืองรุ่นหลังได้เล่าสืบต่อกัน

สนามที่ 1 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 8 เชียงใหม่ วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 หลังจาก กกต. “แจกใบส้ม” สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี ให้กับนายสุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทยขณะนั้น กรณีถวายปัจจัยให้พระภิกษุสงฆ์ระหว่างการทอดผ้าป่า

แม้ “ศรีนวล บุญลือ” จากค่ายพรรคสีส้ม-อนาคตใหม่เดิม จะคว้าชัย-รักษาเก้าอี้ ส.ส.ในนามพรรคฝ่ายค้านได้สำเร็จ ทว่า “ศรีนวล” กลับแว้งฉก ลาออกจากพรรคสีส้ม ย้ายไปซบพรรคภูมิใจไทย อริร่วมพรรครัฐบาล

มิหนำซ้ำ จากการคิดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังส่ง “ผลดี” กับ “พรรครัฐบาล” ให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม 2 ที่นั่ง ได้แก่ “มาดามเดียร์” วทันยา วงษ์โอภาสี จากพรรคพลังประชารัฐ และ “ตั๊น” จิตภัสร์ กฤดากร จากพรรคประชาธิปัตย์

อันดับที่ 1 ศรีนวล บุญลือ พรรคอนาคตใหม่ 75,891 คะแนน อันดับที่ 2 นเรศ ธำรงค์ทิพยคุณ พรรคพลังประชารัฐ 27,861 คะแนน อันดับที่ 3 วชิรวิทย์ หลวงมณีวรรณ์ พรรคภราดรภาพ 2,772 คะแนน อันดับที่ 4 ทักษิณ กันทา พรรคเพื่อชาติ 2,291 คะแนน อันดับที่ 5 พัณณาศีส น้อยนางจม พรรคเสรีรวมไทย 2,044 คะแนน

อันดับที่ 6 วรณัน อ้นท้วม พรรคประชาธิปัตย์ 1,738 คะแนน อันดับที่ 7 พชรพร สุใจคำ พรรคพลังท้องถิ่นไท 1,236 คะแนน อันดับที่ 8 ธนพัฒน์ ปฏิกา พรรคเศรษฐกิจใหม่ 699 คะแนน อันดับที่ 9 อินทิรา บุตรดวงติ๊น พรรคพลังรัก 609 คะแนน อับดับที่ 10 บุญสม หลุยจำวัล พรรคประชาภิวัฒน์ 458 คะแนน

อันดับที่ 11 สุทัศน์ สุทัศนรักษ์ พรรคภูมิใจไทย 404 คะแนน อันดับ 12 กชพรรณ เขียวเหมย พรรคพลังปวงชนไทย 403 คะแนน อันดับที่ 13 คณาชุพงษ์ ผดุงกิจ พรรครวมพลังประชาชาติไทย 383 คะแนน อันดับที่ 14 ไตรวิทย์ แซ่ยะ พรรคประชาชาติ 347 คะแนน อันดับที่ 15 จำนงค์ อภิญดา พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 325 คะแนน

อันดับที่ 16 จรูญ กันทา พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 284 คะแนน อันดับที่ 17 พ.ต.ท.พัชรพงษ์ อัครเมธากุล พรรคชาติพันธุ์ไทย 258 คะแนน อันดับที่ 18 สโรชา แดงโชติ พรรคประชาธรรมไทย 250 คะแนน อันดับที่ 19 ปานสิริ แสงคง พรรคพลังชาติไทย 232 คะแนน อันดับที่ 20 ธีระยุทธ ไชยวงค์ พรรคพลังธรรมใหม่ 175 คะแนน

อันดับที่ 21 จรูญ เจอพิมาน พรรคกรีน 175 คะแนน อันดับที่ 22 พรชัย ต๊ะวันวงค์ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย 174 คะแนน อันดับที่ 23 สินาต กรีทวี พรรคพลังไทยรักไทย 136 คะแนน อันดับที่ 24 ศรีสุดา รัตนจริงใจ พรรคชาติไทยพัฒนา 82 คะแนน อันดับที่ 25 วิไลพร วรรณธิกุล พรรคประชากรไทย 80 คะแนน
อันดับที่ 26 อนิวรรต ไชยวิลาศ พรรครวมใจไทย 73 คะแนน อันดับที่ 27 ปริญญา ด่านชัย พรรคพลังสหกรณ์ 61 คะแนน อันดับที่ 28 เกรียงไกร อินตาเปี้ย พรรคมหาชน 59 คะแนน อันดับที่ 29 ศรัญย์ ปัญญา พรรคประชานิยม 49 คะแนนอันดับที่ 30 ด.ต.สมพร จันท์ตะพาน พรรคประชาชนปฏิรูป 46 คะแนน และอันดับที่ 31 ชวลิต ศรีทอง พรรคไทรักธรรม 33 คะแนน

บัตรดี 119,636 ใบ (93.59%) บัตรเสีย 6,916 ใบ (5.41%) ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,280 ใบ (1%) ผู้มาใช้สิทธิ์ 127,832 คน (78.26%) ผู้มีสิทธิ์ 163,343 คน

สนามที่ 2 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 นครปฐม วันที่ 23 ตุลาคม 2562 เนื่องจากนางจุมพิตา จันทรขจร ส.ส. อนาคตใหม่ ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากปัญหาสุขภาพ “บ้านใหญ่สะสมทรัพย์” กลับมาผงาด-ทวงคืนเก้าอี้ ส.ส.เขต 5 นครปฐม

อันดับที่ 1 เผดิมชัย สะสมทรัพย์ พรรคชาติไทยพัฒนา 37,675 คะแนน อันดับที่ 2 ไพรัฏฐโชติก์ จันทรขจร พรรคอนาคตใหม่ 28,216 คะแนน อันดับที่ 3 สุรชัย อนุตธโต พรรคประชาธิปัตย์ 18,425 คะแนน อันดับที่ 4 ลาวัลย์ สิงห์สถิต พรรคเสรีรวมไทย 2,261 คะแนน อันดับที่ 5 ปริมปรางค์ แสงสว่าง พรรคไทยศรีวิไลย์ 465 คะแนน อันดับที่ 6 เพชร จันทร์ดา พรรคเพื่อชีวิตใหม่ 226 คะแนน และอันดับที่ 7 ศิริขวัญ แย้มมูล พรรคเพื่อพลังสังคม 154 คะแนน

บัตรดี 87,424 ใบ (96.03%) บัตรเสีย 1,623 ใบ (1.78%) ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,996 ใบ (2.19%) ผู้มาใช้สิทธิ์ 91,043 คน (63.43%) ผู้มีสิทธิ์ 143,542 คน

สนามที่ 3 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 7 ขอนแก่น วันที่ 22 ธันวาคม 2562 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสุดความเป็น ส.ส.เนื่องจากถูกศาลจังหวัดขอนแก่นพิพากษาประหารชีวิตคดีจ้างวานฆ่าปลัด อบจ.ขอนแก่น การเลือกตั้งในครั้งนั้น พรรคเพื่อไทย “เสียแชมป์” พรรคประชาธิปัตย์ “ไม่ส่งผู้สมัคร”

อันดับที่ 1 สมศักดิ์ คุณเงิน พรรคพลังประชารัฐ 40,252 คะแนน อับดับที่ 2 ธนิก มาสีพิทักษ์ พรรคเพื่อไทย 38,010 คะแนน อันดับที่ 3 สุทัศน์ ผลบุญ พรรคพัฒนาชาติ 306 คะแนน

บัตรดี 78,568 ใบ (96.92%) บัตรเสีย 1,680 ใบ (2.07%) ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 815 ใบ (1%) ผู้มาใช้สิทธิ์ 81,063 คน (61%) ผู้มีสิทธิ์ 132,063 คน

สนามที่ 4 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 2 กำแพงเพชร วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 หลังจาก พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.เนื่องจากศาลฎีกาพิพากษา (ลับหลังจำเลย) ยืนศาลอุทธรณ์สั่งจำคุกในคดีขัดขวางการจัดประชุมอาเซียนซัมมิท ที่โรงแรมรอยัลคลิฟบีช พัทยา อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐสามารถ “รักษาที่นั่ง” ไว้ได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ “ไม่ส่งผู้สมัคร”

อันดับที่ 1 เพชรภูมิ อาภรณ์รัตน์ พรรคพลังประชารัฐ 45,687 คะแนน อันดับที่ 2 กัมพล ปัญกุล พรรคเพื่อไทย 37,989 คะแนน อันดับที่ 3 อิทธิพล แตงเล็ก พรรคภาคีเครือข่ายไทย 1,103 คะแนน

บัตรดี 84,779 ใบ (94.14%) บัตรเสีย 2,481 ใบ ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 2,481 ใบ (2.75%) ผู้มาใช้สิทธิ์ 90,060 คน (62.29%) ผู้มีสิทธิ์ 144,579 คน

สนามที่ 5 เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 ลำปาง วันที่ 20 มิถุนายน 2563 เนื่องจากนายอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.ลำปาง พรรคเพื่อไทยในขณะนั้น เสียชีวิต

อย่างไรตาม พรรคเพื่อไทยมาส่งผู้สมัคร-นายพินิจ จันทรสุรินทร์ บิดานายอิทธิรัตน์ “ถอนตัว” โดยให้เหตุผลว่า เพิ่งสูญเสียบุตรชาย-อายุมาก โดยพรรคเสรีรวมไทยเป็นตัวแทนพรรคฝ่ายค้านในการสู้ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 4 ลำปางแทน

ทว่า พรรคฝ่ายค้าน ไม่สามารถรักษาเก้าอี้ ส.ส.ไว้ได้ ถูกพรรคพลังประชารัฐ กระชากเข็มขัดแชมป์ไปครอบครองแทน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ “ไม่ส่งผู้สมัคร”

อันดับที่ 1 นายวัฒนา สิทธิวัง พรรคพลังประชารัฐ 61,914 คะแนน อันดับที่ 2 ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ พรรคเสรีรวมไทย 38,336 คะนน อันดับที่ 3 น.ส.ปทิตตา ชัยมูลชื่น พรรคเศรษฐกิจใหม่ 2,465 คะแนน อันดับที่ 4 นายอำพล คำศรีวรรณ พรรคพลังท้องถิ่นไท 292 คะแนน อันดับที่ 5 นายองอาจ สินอนันต์เศรษฐ์ พรรคไทรักธรรม 227 คะแนน

บัตรดี 103,234 ใบ (93.84%) บัตรเสีย 3,741 ใบ (3.40%) ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 3,032 ใบ (2.76%) ผู้มาใช้สิทธิ์ 110,007 คน (67.52%) ผู้มีสิทธิ์ 162,920 ทั้งนี้ การเลือกซ่อม ส.ส.เขต 4 ลำปาง เกิดขึ้นใน “วันเสาร์” ไม่ใช่วันอาทิตย์

สนามที่ 6 เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 สมุทรปราการ วันที่ 9 สิงหาคม 2563 หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิพากษาให้ “เลือกตั้งใหม่” หลัง “กรุงศรีวิไล สุทินเผือก” ส.ส.เขต 5 สมุทรปราการในขณะนั้น ถูก กกต. “แจกใบเหลือง” กรณีถูกกล่าวหาให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้

อย่างไรก็ตาม “กรุงศรีวิไล” สามารถ “ฟื้นคืนชีพ” กลับมาได้อีกครั้ง ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ “ไม่ส่งผู้สมัคร”
อันดับที่ 1 กรุงศรีวิไล สุทินเผือก พรรคพลังประชารัฐ 46,747 คะแนน อันดับที่ 2 สลิลทิพย์ สุขวัฒน์ พรรคเพื่อไทย 21,540 คะแนน อันดับที่ 3 อิศราวุธ ณ น่าน พรรคก้าวไกล 19,977 คะแนน อันดับที่ 4 มานะ บุญนาค พรรคเสรีรวมไทย 8,905 อันดับที่ 5 นายวราวุฒิ ทิมเมือง พรรคภราดรภาพ 513 คะแนน

บัตรดี 97,682 ใบ (94.66%) บัตรเสีย2,203 ใบ (2.13%) ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 3,309 ใบ (3.21%) ผู้มาใช้สิทธิ์ 103,194 คน (58.20%) ผู้มีสิทธิ์ 177,308 คน

สนามที่ 7 การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 3 นครศรีธรรมราช วันที่ 7 มีนาคม 2564 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “เทพไท เสนพงศ์” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น พ้นจากความเป็น ส.ส.กรณีศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 10 ปี คดีการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราชเมื่อปี 2556

พรรคประชาธิปัตย์ถูก “ดาบสอง” ทางการเมือง เมื่อพรรคพลังประชารัฐ ฉีกมารยาททางการเมือง-เปิดศึกพรรคร่วมรัฐบาล ปิดฉาก “บ้านใหญ่เสนพงศ์” ปิดตำนาน “ส่งเสาไฟ”

อันดับที่ 1 อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ พรรคพลังประชารัฐ 48,701 คะแนน อันดับที่ 2 พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ 44,632 คะแนน อันดับที่ 3 สราวุฒิ สุวรรณรัตน์ พรรคกล้า 6,216 คะแนน อันดับที่ 4 ว่าที่ ร.ต.อภิรัฐ รัตนพันธ์ พรรคเสรีรวมไทย 2,302 คะแนน

บัตรดี 101,851 ใบ บัตรเสีย 1,752 ใบ ผู้ไม่ออกเสียงเลือกผู้ใด 1,865 ใบ ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 105,468 คน (69.38%) ผู้มีสิทธิ์ 152,020 คน