ยุบพลังประชารัฐ ยาก “มติเถื่อน” หรือไม่ ปมขับ 21 ส.ส.กลุ่มธรรมนัส

ยุบพลังประชารัฐ ยาก “มติเถื่อน” หรือไม่ ปมขับ 21 ส.ส.กลุ่มธรรมนัส

ยุบพลังประชารัฐ ยาก! หากลงมติไม่ถูกต้อง – สมบูรณ์ กกต.ตีกลับให้ไปโหวตใหม่ สมชัย ชี้ ลากไปถึงยุบพรรคก็เพี้ยนแล้ว

วันที่ 23 มกราคม 2565 ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคพลังพรรคพลังประชารัฐ ประชุมร่วมกันและมีมติขับ ส.ส.21 คน ในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากพรรค เนื่องจากเคลื่อนไหวให้เกิดการปรับโครงสร้างพรรค ก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงต่อหลักการแห่งพรรค โดยให้ย้ายพรรคได้ภายใน 30 วัน

ต่อมา นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่มีชื่ออยู่ใน 21 ส.ส.ออกมาระบุว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างดังกล่าว และตั้งข้อสังเกตว่าการลงมติดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับพรรคหรือไม่ ขณะเดียวกัน มีผู้ไปร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าเป็นมติที่ไม่ถูกต้อง และให้ยุบพรรคพลังประชารับนั้น

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายว่า การขับสมาชิกพรรคตามมติพรรค จะต้องอิงกับ มาตรา 27 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กำหนดว่า

“ในกรณีที่ข้อบังคับกําหนดให้สมาชิกพ้นจากสมาชิกภาพตามมติของพรรคการเมือง หากสมาชิก ผู้นั้นดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้อบังคับต้องกําหนดให้มติของพรรคการเมืองดังกล่าว มีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น”

ส่วนจะนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่ ต้องตีความตามกฎหมายฉบับเดียวกัน เรื่องการยุบพรรค ต้องทำผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 92 (1)-(4)

(1) ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่ได้เป็นวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

(3) การกระทำฝ่าฝืนมาตรา 20 เรื่องทำพรรคการเมืองเพื่อแสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน

ทำความผิดตามมาตรา 28 เรื่องการยินยอมให้คนนอกที่ไม่เป็นสมาชิกพรรคครอบงำพรรค มาตรา 30 เสนอ หรือ สัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน เพื่อให้เข้ามาเป็นสมาชิกพรรค มาตรา 36 ตั้งตัวแทนพรรค สาขาพรรคการเมืองในต่างประเทศ

ทำความผิด มาตรา 44 ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้มีตำแหน่งในพรรค สมาชิกพรรค รับบริจาคเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือการบริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา 45 ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้มีตำแหน่งในพรรค สนับสนุนการกระทำอันเป็นการก่อกวน คุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน หรือ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

มาตรา 46 ห้ามพรรคการเมือง สมาชิกพรรค เรียกรับเงินหรือผลประโยชน์อื่น ในการเลื่อนตำแหน่ง – ให้ตำแหน่งทางการเมือง หรือ ในการบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานของรัฐ

มาตรา 72 ห้ามไม่ให้พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รับเงินบริจาค ทรัพย์สิน หรือประโยขน์อื่นใดจากแหล่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และทำความผิดมาตรา 74 ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินจาก คนต่างชาติ นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ หรือจดทะเบียนสาขาอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร

แหล่งข่าว จาก กกต.ระบุว่า หากจะตีความให้ยุบพรรคการเมืองต้องตีความกฎหมายให้เข้าองค์ประกอบเหล่านี้ ทั้งนี้ จะต้องมาดูว่าที่บอกว่าเป็น “มติเถื่อน” นั้นเป็นแบบไหน ถ้าเป็นเรื่องขององค์ประชุม ก็จะดูว่าองค์ประชุมครบไหม ทำได้แค่นั้น ถ้าไม่ครบก็แจ้งกลับไป แต่ยังไม่รู้ว่าบกพร่องตรงไหน เพราะ กกต.ยังไม่ได้รับรายงาน

ถ้าตรวจสอบแล้วไม่ถูกต้อง กกต.ก็จะต้องตีกลับไปให้พรรคการเมืองทำให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง หรือ ข้อบังคับพรรคการเมือง

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคเสรีรวมไทย อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้ความเห็นว่า หากมติคณะกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐมีข้อไม่สมบูรณ์ กกต.จะส่งเรื่องกลับมาให้พรรคแก้ไข การที่มติมีข้อไม่สมบูรณ์มี 3 ข้อ

1.องค์ประชุมครบตามจำนวนหรือไม่
2.เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ส.ส.กับกรรมการบริหารพรรคหรือไม่
3.ลงมติครบจำนวน 3 ใน 4 หรือไม่

ถ้าขาดองค์ประกอบอันใดอันหนึ่งจะเกิดความไม่สมบูรณ์ กกต.ก็จะให้กลับมาประชุมกันใหม่ แต่ไม่ถึงกับทำให้พรรคถูกยุบได้

นายสมชัย เห็นว่า การที่มีผู้ไปร้องว่ามติขับ 21 ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐนั้น อาจเข้าข่ายการกระทำเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 92 มีสิทธิถึงยุบพรรคนั้น การกระทำจะโยงไปเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์เชียวหรือ ความจริงการบอยคอตการเลือกตั้งน่าจะเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองมากกว่า

“ถ้าจะตีไปให้ถึงการยุบพรรคก็เพี้ยนแล้ว” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ถ้าจะให้ยุบพรรคต้องเป็นกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไปบอก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า ให้ไปขับ 21 คนออก ก็จะเข้าข่ายครอบงำพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 และมีความผิดตามมาตรา 92

ส่วนกรณี นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส. จังหวัดนครราชสีมา ที่ทำหนังสือร้องเรียนถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอทบทวนมติดังกล่าวที่อ้างว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่ได้มีส่วนร่วมกับข้อเสนอ ข้อเรียกร้องในการปรับโครงสร้างของ ร.อ. ธรรมนัส กับพวกนั้น

เป็นกรณีที่นายสมศักดิ์ ร้องเรียนกรรมการบริหารพรรคเพื่อให้มีมติทบทวน ก็ต้องให้กรรมการบริหารพรรคเป็นฝ่ายพิจารณาเองว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องก็กลับไปประชุมใหม่เพื่อแก้มติ เพื่อแจ้งไปยัง กกต.ต่อไป แต่ถ้ากรรมการบริหารพรรคเห็นว่าถูกต้องแล้ว นายสมศักดิ์อยู่ในที่ประชุมตลอด นายสมศักดิ์ก็ต้องพ้นจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แล้วไปหาพรรคใหม่ภายใน 30 วัน

แต่ถ้าเห็นว่ามติดังกล่าวไม่ถูกต้อง นายสมศักดิ์ ก็ต้องใช้สิทธิไปร้องต่อศาลในเรื่องการละเมิด ทำให้เสียหาย หรือ เสียสิทธิ ไม่มีอะไรไปมากกว่านั้น