บิ๊กแอร์เอเชีย พบ อนุทิน ขอลดค่าธรรมเนียมจอดเครื่องบิน-ลดขั้นตอน Test & Go

ซีอีโอแอร์เอเชีย พบ อนุทิน ขอลดค่าธรรมเนียมจอดเครื่องบิน-ลดขั้นตอน Test & Go โอดแบกต้นทุนตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 อธิบดีกรมควบคุมโรค มั่นใจระบบสาธารณสุข-เตียงเพียงพอรับผู้ติดเชื้อพุ่ง

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังนายโทนี่ เฟอร์นานเดส (Mr.Tony Fernandez) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชียและคณะ เข้าพบว่าซีอีโอแอร์เอเชียทำหนังสือขอเข้าพบเพื่อขอบคุณประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนการทำงานของแอร์เอเชียมาโดยตลอด ถึงแม้จะมีเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้ให้ความช่วยเหลือในการลดต้นทุนของแอร์เอเชีย ในส่วนที่ช่วยได้ตามกฎหมายที่อนุญาต

“แอร์เอเชียขอความช่วยเหลืออีกหลายอย่างในช่วงนี้ เช่น ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าจอดเครื่องบิน ซึ่งผมก็บอกให้เขาทำหนังสือเข้ามา และอธิบายเหตุผลความจำเป็น ซึ่งเป็นในส่วนงานที่ผมรับผิดชอบอยู่ ผมก็จะได้หารือกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้พิจารณาว่าจะสามารถให้การช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง เพราะผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินในประเทศ แอร์เอเชียถือว่าลงทุนมากในประเทศไทย ช่วยขนถ่ายผู้โดยสารสินค้าจำนวนมาก”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าจอดเครื่องบินแอร์เอเชียขอเหมือนที่เคยขอที่รัฐบาลเคยอนุมัติเรื่องค่าจอดเครื่องบิน

นายอนุทินกล่าวว่า อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาในภาพรวมทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงสำหรับแอร์เอเชียเท่านั้น ต้องดูในภาพรวมทั้งหมดกับทุกสายการบิน ส่วนช่วงเวลายิ่งทำได้ยิ่งเร็วยิ่งดี

“แอร์เอเชียบอกว่าหลาย ๆ อย่าง ท่าอากาศยานไทย (AOT) สถาบันการบินพลเรือนช่วยอำนวยความสะดวกหลายเรื่อง จึงมาขอบคุณ และก็มาขอให้คำแนะนำเรื่อง Test & Go เรื่อง เข้ามาแล้วจะต้องมีวันที่ 5 อีก จะสามารถปรับปรุงได้ไหม ลดขั้นตอนอะไรต่าง ๆ ได้ไหม ให้ทางผู้ประกอบการสายการบินช่วยสกรีนเองเลยได้ไหม จะได้ลดเวลา ซึ่งฟังดูแล้วเข้าท่าดีนะ เพราะถ้าภาระตกเป็นของทางราชการต้องมีขั้นตอนแน่นอน พอมีคำว่า โดยราชการ ขั้นตอนก็จะเกิดขึ้นโดยทันที ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะไปดูว่า ทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ความปลอดภัยยังคงเดิมอยู่ หรือดีขึ้น เราก็พร้อมจะแก้ไขให้”

นายอนุทินกล่าวว่า แอร์เอเชียกล่าวว่า นักท่องเที่ยวอยากมาประเทศไทยจำนวนมาก จากมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศต่าง ๆ แต่ว่าขั้นตอนหลายอย่างในประเทศไทยทำให้ต้องชะลอการตัดสินมาท่องเที่ยว เพราะมีขั้นตอนอยู่ เรารู้ว่าบางขั้นตอนไม่ได้เป็นการเอื้อให้คนมาเที่ยว แต่ต้องหาจุดสมดุล ความปลอดภัย compromise ไม่ได้

“เราก็ผ่อนผันไปเยอะแล้วนะ ผ่อนผันหลาย ๆ อย่างไป งานของกรมควบคุมโรคเพิ่มขึ้นแน่ แต่เราก็ต้องยินดีรับภาระที่หนักขึ้น ถ้าทำแล้วความปลอดภัยยังอยู่ แต่ว่าสิ่งที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การเข้ามาของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเราก็ต้องทำ เป็นภารกิจที่เราต้องทำอยู่แล้ว”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งสองได้หารือถึงประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนการเดินทางเข้าประเทศไทย ภายใต้มาตรการ Test & Go โดยประธานกลุ่มแอร์เอเชีย มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับการลงทะเบียนและการตรวจ RT-PCR หาเชื้อโควิด-19 หลายครั้ง ซึ่งทำให้ต้นทุนการเดินทางสูงขึ้น และเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวในการตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย โดยในประเด็นนี้ ประธานกลุ่มแอร์เอเชียได้ขอให้รัฐบาลพิจารณาลดขั้นตอน ซึ่งทางกลุ่มแอร์เอเชียพร้อมร่วมอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้อง

รองนายกรัฐมนตรีพร้อมพิจารณาข้อเสนอแนะของทางกลุ่มแอร์เอเชีย อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนในการเดินทางเข้าประเทศไทยที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ มีความเป็นระบบและรอบคอบ เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรค เนื่องจากมีผู้สนใจเดินทางเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องวางแนวทางเพื่อสร้างความมั่นใจ และปลอดภัยให้ทั้งผู้เดินทางเข้ามาและเพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศด้วย

ทั้งนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น อาจมีการพิจารณาปรับมาตรการตามความเหมาะสมต่อไป เพื่อโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพื่อความปลอดภัยสอดคล้องกับมาตรการสาธารณสุขตามนโยบายของรัฐบาล

สำหรับระบบ Test & Go ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้

เงื่อนไขผู้เดินทาง

  • เดินทางได้จากทุกประเทศ/พื้นที่
  • เงื่อนไขการฉีดวัคซีน
  • บุคคลสัญชาติไทยไม่ต้องซื้อประกันภัย
  • มีหลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรม SHA Extra+/AQ จำนวน 2 ครั้ง (วันที่เดินทางถึง และวันที่ 5)

ขั้นตอน

  • ลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass ที่ https://tp.consular.go.th (ควรลงทะเบียนล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน ก่อนวันเดินทางจริง)
  • ตรวจหาเชื้อโควิด-19 (ก่อนเดินทาง)
  • ตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 1 เมื่อเดินทางถึงประเทศไทย (วันที่ 1)
  • ตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ระหว่างพำนักในประเทศไทย (วันที่ 5)

โดยในการจองโรงแรมจะรวมค่าตรวจ RT-PCR หรือมีการจ่ายค่าตรวจทั้ง 2 ครั้ง และผู้เดินทางต้องรออยู่ในโรงแรมเพื่อรอผลตรวจ กรณีพักไม่เกิน 5 วัน ไม่ต้องแสดงหลักฐานการจองและจ่ายค่าที่พักและค่าตรวจครั้งที่ 2 แต่ให้แสดงบัตรโดยสารเครื่องบินขากลับแทน

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวเสริมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ว่า ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ เตียงยังมีเพียงพอ ส่วนการขยายศูนย์พักคอยเป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่กำลังปรับระบบ แต่ในต่างจังหวัดที่เป็นความรับผิดชอบของปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีปัญหา เตียงยังว่างเยอะ

นายอนุทินกล่าวว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้สนับสนุน เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการกำกับดูแล แต่ในต่างจังหวัด นอกเหนือ กทม.เป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ให้การสนับสนุน กทม. ให้การประสานงานในทุกเรื่อง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แต่การสั่งการ การกำหนดนโยบาย งบประมาณอยู่ที่ กทม.ตอนนี้เราเน้นเรื่องของอย่าให้มีการขาดแคลนเตียง ขาดแคลนเวชภัณฑ์ ณ ปัจจุบันเรื่องยายังไงก็พอ เรื่องเตียง กทม.ร้องขออะไรมาเราก็สนับสนุน แต่ถ้าต่างจังหวัดยังพอที่จะดูแล และมีการเตรียมการด้วย

“ถ้าจะให้การติดเชื้อน้อยลงก็ต้องเพิ่มมาตรการ ซึ่งไม่ใช่ทางที่เราจะทำ เราต้องอยู่กับโควิด-19 ฉีดวัคซีน แม้ติดเชื้ออาการจะไม่รุนแรง”