ระเบิดศึกเลือกตั้งผู้ว่า กทม. 5 ผู้ท้าชิง-ลุ้นม้ามืด เจ้าแม่เมืองหลวง

 

วัน ว. เวลา น. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใกล้เข้าสู่ความเป็นจริงทุกขณะ

เหล่าผู้อาสาตำแหน่ง “พ่อเมือง” มีที่ประกาศตัวชัดเจน เดินหน้าหาเสียงเต็มกำลังแล้วอย่างน้อย ๆ 5 คน

หนึ่งคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในนามอิสระ ประกาศตัวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 รักษาเต็งหนึ่งที่จะได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯได้ทุกโพล ที่เวลาลงพื้นที่ใคร ๆ ก็เห็นคนกลุ่มใหญ่ มี “ชัชชาติ” เดินนำหน้า ใส่เสื้อสีดำ สกรีนคำว่า “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” เป็นตัวหนังสือสีเขียว

ระดมบรรดา think tank หลายวงการ อาทิ “ดร.ยุ้ย” “เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์” ผู้บริหารเสนาดีเวลลอปเม้นท์ “ดร.โจ” พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.

สองคือ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ออกตัวแรงแต่ยังไม่แซงทางโค้ง เน้น พี.อาร์.ผ่านสื่อนอกบ้าน ประเภทป้ายบิลบอร์ดใจกลางกรุงเทพฯ ตั้งแต่ห้างดัง ยันในขบวนรถไฟฟ้า บนแคมเปญ “เปลี่ยนกรุงเทพฯ” มีฐานเสียงใหญ่คือพรรคประชาธิปัตย์

สาม “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ในนามพรรคก้าวไกล ประกาศแคมเปญ “พร้อมชน เพื่อคนกรุงเทพฯ” จะเปิดสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แก้ปัญหาส่วย-นักขุดถนน และอีกสารพัด

สี่ “สกลธี ภัททิยกุล” ในนามอิสระ เพิ่งประกาศลาออกจากรองผู้ว่าฯ กทม.ไปสด ๆ ร้อน ๆ เพื่อมาลงสนาม เพื่อ “อัพเกรด” ตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ กทม.เต็มขั้น มีดีกรีเป็นอดีต ส.ส.กทม. เคยเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม กปปส. ชิดเชื้อกับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ที่เคยคุม ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ

และก่อนหน้านั้น “สกลธี-ณัฏฐพล” ยังบุกเข้าตึกไทยคู่ฟ้า หา “พล.อ.ประยุทธ์” หารือเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2565

ห้า “รสนา โตสิตระกูล” อดีต ส.ว.กทม. แม้ประกาศลงสมัครผู้ว่าฯคนแรก ๆ แต่กระแสไม่แรง

ส่วนที่ยังไม่ประกาศตัวเป็นทางการ แต่มีโอกาสที่จะลงแข่งขัน เช่น “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน ที่มีกำลังสนับสนุนคือ “ทีมรักษ์กรุงเทพฯ” เครือข่ายอดีต ส.ก.กทม.มาเป็นแบ็กอัพ บนแคมเปญ “กรุงเทพฯเปลี่ยนไปแล้ว”

ยังไม่นับข่าวที่ยังเป็นเพียง “ข่าวลือ” คือ บุ๋ม “ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” พิธีกร-นักแสดง อาจมาลงในนามพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

อย่างไรก็ตาม สนามเลือกตั้งท้องถิ่น กทม.มิได้แข่งกันเฉพาะผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะ “ผู้บริหาร” เท่านั้น แต่ยังมีการเลือก “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ของ กทม.คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ (ส.ก.)

ที่พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศส่งเต็มพิกัด 50 เขตเลือกตั้ง

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่มีข่าวว่าไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรค แต่จะสนับสนุน “ผู้สมัครอิสระ” แม้ว่ายังไม่ชัดว่าจะเป็น “อัศวิน-สกลธี” ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ “เคาะตัว” สนับสนุนใครแต่ที่แน่ ๆ พลังประชารัฐ จะขนทัพ ส.ก.ลงแข่งขัน ยังมีพรรคไทยสร้างไทย และพรรคก้าวไกล ที่ประกาศส่ง ส.ก.เช่นกัน

ส.ก.คือฐานกำลัง มือ-ไม้ ฐานเสียง การทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ไม่ต่างจากการเมืองระดับชาติ ทำหน้าที่ทั้ง พิจารณางบประมาณ กทม.-ตรวจสอบและติดตามการบริหารงานของผู้ว่าฯ กทม.

ทว่า อีกนัยหนึ่ง ส.ก.คือ ทำหน้าที่เหมือน “หัวคะแนน-ฐานคะแนน” ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.โยงไปถึงฐานคะแนนของการเลือกตั้งสนามใหญ่ “ผู้แทนราษฎร”

เกมเลือกตั้ง ส.ก.จึงดุเดือดไม่แพ้เกมการแข่งขันชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.

“ชัชชาติ” เป็นผู้สมัครอิสระ (แต่พรรคเพื่อไทยหนุนหลัง) ไม่มี ส.ก.ในมืออย่างเป็นทางการ ต้องพึ่ง ส.ก.เพื่อไทย ท่ามกลางข่าวลือว่ามีบางส่วนไม่ชอบ “ชัชชาติ” แต่สุดท้ายต้อง ส.ก.เพื่อไทย แม้มีความเข้มแข็งในพื้นที่ แต่อ่อนบ้านมีรั้ว-คอนโดฯ คนรุ่นใหม่ จึงต้องน้ำพึ่งเรือ-เสือพึ่งป่า

“สุชัชวีร์” มาตัวคนเดียว ต้องอาศัยฐาน ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์

“วิโรจน์” ก้าวไกล มีคะแนนติดตัว บวกคะแนนพรรค ส.ก.-ส.ส.ก้าวไกลต้องร่วมกันออกแรง

“พล.ต.อ.อัศวิน-สกลธี” ในนามอิสระ คาบเกี่ยวกับ ส.ก.พรรคพลังประชารัฐ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจเทไปฝั่งไหน

ถ้าในตอนจบ ฝ่ายบริหาร = ผู้ว่าฯ กทม. กับเสียงข้างมากในสภา กทม. = ฝ่ายนิติบัญญัติ คนละขั้วกัน


การผลักดันงบประมาณ-โปรเจ็กต์ยักษ์ของผู้ว่าฯคนใหม่มีสิทธิเหนื่อย