ธีรรัตน์ โฆษกโซเชียลเพื่อไทย ไม่อยากให้ นางแบก-ติ่งส้ม เป็นศัตรูกัน

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

นักการเมืองในพรรคเพื่อไทย ยุคที่มีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงโหวตเตอร์ ต้องปรับตัว 180 องศา

บ้างกลายเป็นดาวดัง “การเมือง” ในโลกทวิตเตอร์ บางรายต้องเปิด TikTok อัพคลิป เพื่อสื่อสารทางการเมือง

หนึ่งในนั้นคือ “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” ส.ส.กทม. และโฆษกพรรคเพื่อไทย เมื่อเธอถูกจับเป็นคู่จิ้นกับ “จิราพร สินธุไพร” ส.ส.ร้อยเอ็ด กลายเป็น “คูมธี-คูมจิ”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ คูมธี-ธีรรัตน์ ทั้งมุมชีวิตก่อนเล่นการเมือง ทั้งบทบาทการเป็น ส.ส. 2 สมัย ของพรรคเพื่อไทย และบทบาทของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่อาจกลายเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย

เส้นทางชีวิต-การเมือง

อิ่ม-ธีรรัตน์ เล่าว่า คุณพ่อ (วิบูลย์ สำเร็จวาณิชย์) ทำงานการเมืองท้องถิ่น เคยเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ปี 2518 แต่ด้วยความที่ลูกเยอะ มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน พ่อเลยถอยออกมาเพราะมีภาระทางบ้าน จึงมาอยู่เบื้องหลังการเมือง แต่พ่อกับแม่เป็นคนพื้นเพดั้งเดิม เป็นชาวลาดกระบัง ทำให้เราได้เจอชาวบ้านเยอะมาก

ปิดบ้านตอนเที่ยงคืน ตี 1 ตี 2 ใครผ่านมาเจอก็คุยกัน เอาปัญหามาเล่า มาให้ความช่วยเหลือ เราจึงซึมซับตรงนี้ ช่วงที่เรียนจบจากประเทศออสเตรเลีย ได้ไปทำงานที่ธนาคารกสิกรฯ สำนักงานใหญ่ได้ 1 ปี

ปรากฏว่ามีพรรคเพื่อไทย ถามผ่านมายังคุณพ่อจะให้ลงเล่นการเมือง พ่อก็ให้พรรคไปถามลูกสาวเอาเอง ในช่วง 1 ปี ก่อนการเลือกตั้ง เราก็เลยลงพื้นที่มาเรื่อย ๆ ลงไปสัมผัสงานในชุมชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เข้ามาในการเมือง

ทว่า ตอนที่ “ธีรรัตน์” ได้รับการทาบทามจากพรรคเพื่อไทย ช่วงปี 2552-2553 เป็นปีที่การเมืองลุกเป็นไฟ

“ตอนนั้นการเมืองดุเดือด เพราะมีเรื่องของเสื้อเหลือง เสื้อแดง และเสื้อแดงถูกมองว่าเหมือนจะเป็นฝ่าย aggressive สร้างความรุนแรงในบ้านเมือง และตอนนั้นสื่อก็ค่อนข้างน้อยที่เสนอข่าวสองด้าน ส่วนใหญ่โปรในฝั่งของเสื้อเหลืองที่เป็นอำนาจรัฐอยู่ในขณะนั้นมากกว่า”

ในออฟฟิศ (ธนาคารกสิกรฯ) ก็มีการพูดเรื่องการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่เราไม่ได้ take side ว่าฝั่งไหน

“เพื่อนที่ออฟฟิศก็รับข่าวทั้งสองด้าน ไม่ได้มากน้อยกว่ากัน พอเราไปลงสมัคร ส.ส. ด้วยความคุ้นเคยก็แสดงความยินดี เพราะเราต้องออกจากงานเก่า เพื่อมาเริ่มงานเป็นนักการเมือง เขาก็เชื่อมั่นในตัวเราว่าเราจะมาแก้ปัญหาที่เกิดความขัดแย้งได้”

กุญแจที่ทำให้ชนะเลือกตั้ง

แม้เป็นนักการเมือง “หน้าใหม่” ลงสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่ก็เอาชนะ “สลวยเลิศ กิมสูนจันทร์” จากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิมไปได้กว่า 2 หมื่นคะแนน

“เราอยู่กับประชาชน สั่งสมมาตั้งแต่อดีต และความคุ้นเคยกัน บางคนเป็นเสื้อแดง แต่ไม่รู้หรอกว่าจะลงเพื่อไทย เขาบอกว่าถ้าทำงานขนาดนี้ก็คือเลือก ทั้งที่เขาไม่รู้ว่าเราจะลงพรรคไหน พอลงพรรคเพื่อไทย เขาก็ดีใจมาก โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรเยอะ”

“ส่วนพื้นที่ที่อยู่เสื้อเหลือง ด้วยความคุ้นเคยกับเรา เห็นเราทำงาน คิดว่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ เรามีไอเดียให้เขาเห็นว่าเราอยากทำตรงนี้ และเขารู้สึกว่าถ้าตรงนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ก็จะเกิดการพัฒนา”

ด้วยความที่พื้นที่ลาดกระบังเป็นพื้นที่เกษตร อุตสาหกรรม นักศึกษา คนนอกพื้นที่เข้ามาอยู่รวมกัน ดังนั้นความหลากหลายเยอะ

ปี 2554 ที่ได้รับการเลือกตั้ง ได้ประสานให้น้ำประปาเข้าพื้นที่ แม้ไม่ใช่หน้าที่ แต่ก็ทำให้เขาเห็นว่าคือความตั้งใจจริง เราไม่ได้มีหน้าที่ไปออกกฎหมายอย่างเดียว เรื่องอื่นไม่ต้องสนใจ…ไม่ได้

อีกอย่างคือนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยทำแล้วประสบความสำเร็จ มันถูกตอกย้ำ เพราะพื้นที่ลาดกระบังได้รับประโยชน์จากนโยบายทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ไม่ใช่จากเราเพียว ๆ แต่ความเชื่อในตัวพรรคมีอยู่แล้ว เราก็มาตอกย้ำว่าเราจะสานต่อ

“เช่น พื้นที่มีเกษตร เราสามารถพูดเรื่องจำนำข้าวได้ ประชาชนก็รับนโยบายนี้ เพราะชีวิตเขาดีขึ้น เขารวยขึ้น มีเงินใช้มากขึ้น”

ส.ส.รัฐบาล กับฝ่ายค้าน ต่างกัน

พรรคเพื่อไทยถูกเขี่ยออกจากรัฐบาล ด้วยการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แล้วมาเป็นฝ่ายค้านในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล

ขณะที่ “ธีรรัตน์” ชนะเลือกตั้งครั้งสำคัญอีกครั้ง เป็น ส.ส.สมัยที่ 2 ด้วยการชนะ “วิสูตร สำเร็จวาณิชย์” อาแท้ ๆ ของเธอ ที่ลงเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ เธอบอกความแตกต่างการเป็น ส.ส.ใน 2 ยุคว่า “สมัยแรกเราเป็นรัฐบาล สมัยปัจจุบันเราเป็นฝ่ายค้าน” ส.ส.อิ่มหัวเราะ

“แต่เราทำงานเต็มที่ในอำนาจหน้าที่ที่เราทำได้ ความแตกต่างคือ สมัยที่เราประสานปัญหาของประชาชนถึงผู้มีอำนาจในรัฐบาล กระทรวงต่าง ๆ ได้โดยตรง เช่น ถนนหนทาง ทางม้าลาย ที่เราพอประสานได้ เช่น จุดนี้ไม่มีสะพานลอย บอกแล้วเขาก็สร้างเลย มันเร็ว”

“เราอยู่แค่ 2 ปีเศษ แต่สามารถชี้จุดที่เป็นปัญหาหลาย ๆ จุดที่เขาดำเนินการได้ ไม่ต้องรอจนสิ้นสมัยแล้วค่อยทำ”

เช่น ปี 2556 ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ในขณะที่เป็น รมว.คมนาคม) ลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีลาดกระบัง ว่ามีพื้นที่สร้างเป็น complex เป็นที่ลานจอดรถได้ ทำให้คนมาค้าขายได้ แต่ตอนนี้ก็เกือบ 10 ปี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเสนอในสภาไปแล้วด้วย

“ความยากของฝ่ายค้านคือประสานใครก็ไม่ทำ ก็จบ ไปต่อไม่ได้ ก็ปล่อยให้เป็นความลำบากของชาวบ้านไป เป็นเหตุผลว่าทำไมถูกทอดทิ้ง”

“ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า ถ้าเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราไม่เคยแบ่ง เราบริการทุกคนอยู่แล้ว”

คูมธี กับกลุ่มแฟนคลับ

ปัจจุบันโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสำคัญที่ให้นักการเมืองเข้าถึงประชาชน กลายเป็นว่านักการเมืองมี “แฟนคลับ” เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะแฟนคลับรุ่นเด็ก นักการเมืองต้องหัดโพสท่าถ่ายรูป มีวิธีถือโทรศัพท์ ถ่ายเซลฟีเพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ต่างจากในอดีตที่ “แม่ยก” พรรคเพื่อไทย จะรุมล้อมเฉพาะบุคคลสำคัญระดับนายกรัฐมนตรี เช่น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

“ธีรรัตน์” หรือ “คูมธี” บอกความรู้สึกว่า ด้วยความเป็น ส.ส. ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำอะไรให้แตกต่าง ถึงมีน้อง ๆ มาเป็นแฟนคลับ เราก็ไม่ใช่ดาราอยู่ดี หรือไปทำอะไรที่ให้น้อง ๆ รู้สึกกรี๊ด เพราะเข้าใจดีว่าน้อง ๆ ที่มาติดตามเรา เขาอยากเห็นผลงานเรา อยากเห็นเราทำงาน มากกว่าที่เป็นนักร้องหรือดารา

วันนี้ยังดีใจว่ามีน้องไปค้นคลิป ส.ส.สมัยแรกมาให้ดู ซึ่งเราไม่เคยเห็นด้วยซ้ำ แต่ส่งมาให้เราดู มันคือกำลังใจที่น้อง ๆ มอบให้ และเขาได้เห็นถึงการทำงานของเรา เขาดีกับเรา เราอยากให้เขามีอนาคตที่ดีด้วย เราก็ทำเต็มที่

เปิดพื้นที่คนรุ่นใหม่

เธอกล่าวต่อว่า ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็เปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ มาแสดงความคิดเห็น เช่น พรรคมีการจัดเสวนาสิทธิของสตรีในการบริการจากรัฐควรจะมีอะไรเพิ่มเติมบ้าง ให้น้อง ๆ มาสะท้อนความคิด ล่าสุดกลุ่มผู้นำฝ่ายค้านไปจัดสัมมนาที่เชียงใหม่ เด็กวัยรุ่นเยอะมาก และมาจากหลากหลายที่

ทุกคนสะท้อนปัญหาที่เราคิดไม่ถึงเหมือนกัน เช่น เด็กเรียนนิเทศศาสตร์ จบมาเงินเดือนไม่พอกับค่าใช้จ่าย หรือตอนเรียนใช้งบฯเยอะมาก แต่ไม่รู้ว่าพอ
ทำงานจะคุ้มค่ากับที่ตัวเองเรียนมาอย่างหนักไหม หรือค่าแรงขั้นต่ำไม่ขึ้นเสียที

นางแบกเพื่อไทย VS ติ่งส้ม

ถาม “ธีรรัตน์” ว่า มองปรากฏการณ์ที่แฟนคลับเพื่อไทย-ก้าวไกล ตีกันในทวิตเตอร์อย่างไร เธอตอบว่า มองว่าเป็นแนวความคิดของเขา แสดงออกมาตรง ๆ ไม่ต้องเก็บเอาไว้ เพราะในพื้นที่โซเชียล ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ คิดว่าก็ดีนะ ทำให้เกิดการถกเถียงและจบกันไปเลย

“แต่สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ ทำแล้วเกิดความขัดแย้ง เอาข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเข้ามาพูด ทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือนไป และถ้าทำแล้วทำให้รู้สึกเป็นศัตรูกัน ไม่อยากให้ทำ”

การปะทะกันของติ่งส้ม-นางแบกเพื่อไทย คิดว่ามี “ไอโอ” ไหม “ธีรรัตน์” กล่าวว่า ได้ยินว่ามันมี (หัวเราะ) ก็อาจจะมีทีม ไม่ถึงการเป็นกองกำลังเหมือนของทหาร แต่อาจจะมีอาสาสมัคร ที่เราเรียกว่า นางแบก ละมั้ง…หรือเปล่า ที่คอยซัพพอร์ตพรรคของตัวเอง น่าจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า

ขัดกันเองไม่ชนะทหาร

ทว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยพยายามขายความสำเร็จของ “ชินวัตร” และพรรคไทยรักไทย คิดว่าคนรุ่นใหม่ที่เกิดยุคหลังๆ จะอินไหม

ธีรรัตน์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยคือความผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ มีอะไรที่ต่อยอดยาวนานมา แม้แต่การต่อสู้เรื่องของประชิปไตย ก็เป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ต่อสู้กัน โดนจับ หนีออกนอกประเทศ เพราะรู้ว่าโดนรุนแรงแน่นอน

ดังนั้น ถามว่า ความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมาที่เราทำได้ คือสิ่งที่เราไม่อยากให้คนลืม อยากให้น้องๆ รุ่นใหม่ เข้ามาทำงานการเมืองในวันนี้ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยหนี ไม่เคยหยุดสู้ไปกับเขาเลย

และเราก็โดนหนักสุดอยู่แล้วด้วย ในวันที่เราอยู่กับประชาชน เราอยู่กับเขาจริงๆ ไม่เคยหนีเอาตัวรอด

เคยได้คุยกับน้องคนหนึ่ง ตอนนั้นมี topic เรื่องที่เกิดปัญหาในสภา น้องเข้ามาคุยว่าทำไมพรรคเพื่อไทยทำแบบนี้ คุณพ่อ คุณแม่เลือกพรรคเพื่อไทยมาตลอด ไม่เห็นจะสำเร็จอะไรเลย เราก็ตอบไปว่า

“พี่ฝากขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะคะที่ร่วมกันต่อสู้จนทำให้เรามีวันนี้” มันมีที่มาไง ไม่ใช่ว่าวันนี้คุณอยู่ แล้วคุณมาเรียกร้องตะโกนดังๆ ได้เลย..ไม่ใช่

“เพราะถ้าไม่ใช่วันนั้นที่คุณพ่อ คุณแม่มาร่วมสู้กับพรรคเพื่อไทย อาจจะแย่ไปกว่าเดิมก็ได้ สุดท้ายน้องเขาก็เข้าใจนะ เขาบอกว่าขอบคุณพี่มาก เพราะอยู่กับเพื่อไทยมาตลอด อยากให้สำเร็จจริงๆ ก็ต้องสู้กันต่อไป”

“ถ้าเรามาขัดกันเองอย่างนี้ยังไงก็ไม่ชนะ เพราะทหารพวกนี้เขาอยู่ด้วยความขัดแย้งของประชาชนอยู่แล้ว บางทียังสงสัยว่าคนที่เข้ามาปั่น บางทีเป็นพวกทหารหรือเปล่า..ที่อยากให้เราทะเลาะกัน เพราะถ้าเป็นฝั่งเดียวกัน ฝ่ายประชาธิปไตยไม่น่าจะมีความคิดแบบนี้ เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ได้แต่ให้ความรู้ ข้อมูลเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันที่เราทำได้”

เพื่อไทยแลนด์สไลด์

อีก 11 เดือนจะมีการเลือกตั้ง เพื่อไทยพร้อมขนาดไหน เธอกล่าวว่า พรรคไม่เคยหยุดทำงานเลยจริง ๆ ตั้งแต่เราเข้ามารับตำแหน่งแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่รู้สึกว่าประชาชนที่รอความหวังจากพรรคเพื่อไทย มีอะไรเกิดขึ้นได้ทุกนาทีจริง ๆ นะ และยิ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นใด ๆ ได้เลย

“แลนด์สไลด์เกิดขึ้นได้ เพราะประชาชนเรียนรู้ ประชาชน suffer กับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และไม่ใช่เราเพิ่งจะมาแลนด์สไลด์ในครั้งหน้าเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเราแลนด์สไลด์มาโดยตลอด เพียงแต่การเลือกตั้งปี 2562 ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ ทำให้เราไม่ได้เป็นรัฐบาล ทั้งที่ได้ ส.ส.มากที่สุด”

“พรรคเพื่อไทยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และอนาคตมีสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อปรับเปลี่ยนให้ทันยุคสมัย ตอนนี้คนก็จะเรียนรู้แล้วว่าระหว่างที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และทหารครองอำนาจ เขาอยู่ดีกินดี ต่างกันยังไง”

แพทองธาร เป็นนายกฯได้

กับบทบาท “แพทองธาร” ที่ถูกคาดหมายเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในนามพรรคเพื่อไทย “ธีรรัตน์” มองว่า

“คุณอิ๊งเคยพูดบนเวทีว่า เรียนรู้การเมืองตั้งแต่อายุ 12 เห็นมาตลอดว่าประชาชนโดนกระทำยังไง โดนกดขี่ข่มเหงยังไง และตรง ๆ เลย ท่านนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นตัวอย่างให้เขาในการทำงานทางการเมือง ดังนั้น คุณสมบัติตรงนี้ เป็นประโยชน์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับประเทศได้”

“คุณอิ๊งมีผลงานในการประสบความสำเร็จในฐานะผู้บริหารบริษัท และยังมีคนรอบข้างที่ให้การสนับสนุนด้วย มีที่ปรึกษาที่ดี เรียกว่าความพร้อมที่จะเข้ามาทำงาน คือตัวเลือกหนึ่งที่ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าอยากให้ใครเข้ามาทำงานเป็นตัวแทนของเขา”


“ถ้าถามว่าเป็นนายกฯได้ไหม ก็เป็นได้นะ เพราะประเทศเราตอนนี้เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ คุณอิ๊งอายุน้อยกว่าเรา แต่ความสามารถเยอะมาก ดังนั้นถามว่าเราต้องจำกัดนายกฯเหรอ ว่าอายุเท่าไหร่ขึ้นไป แต่ถ้าเขามีความสามารถก็เป็นได้เหมือนกัน” เธอกล่าวปิดท้าย