เพื่อไทย-ชินวัตร คนที่ 6

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : อิศรินทร์ หนูเมือง

 

ครอบครัวเพื่อไทย-ครอบครัวชินวัตร ยากที่จะแยกออกจากกัน

ทั้งนักการเมือง ส.ส.ระบบเขต-ระบบบัญชีรายชื่อ และฐานมวลชนทั่วทุกภาค รวมใจปฏิบัติภารกิจ ส่ง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ทายาทสายตรงตระกูล “ชินวัตร” คนที่ 3 ให้ถึงทำเนียบ

แม้ว่าการเมืองแอนะล็อกจะกวาดพี่-น้อง เครือข่ายตระกูลชินวัตร และวงศ์สวัสดิ์ พ้นการเมืองไปแล้วถึง 5 ราย

ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์, นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ต่างถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพราะเหตุแห่งผลประโยชน์ทับซ้อนคดีซุกหุ้น และคดียุบพรรค

หลังจากชื่อทักษิณ ชินวัตร อยู่ในประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23

หลังจากนั้นชื่อ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ถูกเข็นขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 ปฏิบัติหน้าที่ได้ 75 วัน ก็ถูกคว่ำแบบไร้ทำเนียบให้บัญชาการ

เว้นวรรค 2 สมัย จากนั้นตระกูลชินวัตรส่งทายาทการเมืองสายตรง คนที่ 2 ขึ้นสู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี ใส่ชื่อในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ หมายเลข 1 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 หลังขึ้นรถแห่หาเสียงเพียง 49 วัน

การเมืองแบบพี่-น้อง และเครือข่ายตระกูล ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ “ชินวัตร” ตระกูลแรก

ทว่าพี่น้องใน “ราชสกุลปราโมช” ถึง 2 คน ต่างก็เคยได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี คนที่ 6 และด้วยกำลังภายในพลิกผันการเจรจา ทำให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 13 ท่ามกลางสารพัดพรรครัฐบาลผสม

สองพี่น้องแห่งราชสกุลปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีที่เคียงข้างอำมาตย์เครือข่ายฝ่ายอนุรักษนิยม ในยุคก่อนแอนะล็อก

ต่างจากพี่น้องในสายตระกูลชินวัตร ก่อร่างสร้างตัวขึ้นสู่อำนาจ ในยุคธุรกิจการเมือง คลื่นลูกที่ 3 จนถึงยุค 5G

แพทองธาร คือ ทายาทชินวัตร คนที่ 3 ที่จะก้าวขึ้นสู่เส้นทางอำนาจการเมือง ในยุคเมตาเวิร์ส (Metaverse)

ไม่ควรลืมว่า 1 ในเป้าหมายและเข็มมุ่งทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีขณะนั้น นอกจากจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ต้องมีเค้าโครงกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักการเมืองไทยรักไทย 111 คนได้คืนสนาม และทักษิณ ชินวัตร ได้กลับเมืองไทย

และความมุ่งหมายทางการเมืองเหล่านี้ กลายเป็นพิษชนวนคดี-ล้มเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จากตระกูลชินวัตรคนที่ 2 พ้นจากเมืองไทยอย่างยากที่จะคืนกลับแผ่นดินเกิด

ยุคที่เพื่อไทยรีแบรนดิ้ง เปิดตัวกลุ่มแคร์ เป็น think-tank ทางการเมือง มีการแง้มชื่อนักธุรกิจที่สนใจการเมือง อย่าง เศรษฐา ทวีสิน เป็นเครือข่ายแชร์บัญชีอำนาจ ระหว่างพี่ชาย-น้องสาว ในตระกูลชินวัตร

แต่เมื่อ “ชินวัตร” สายบ้านจันทร์ส่องหล้า หวังกลับมาผงาดในวงการเมืองยุคใหม่ ชื่อแพทองธาร ตระหง่าน-สว่างเจิดจ้า แสงไฟที่เคยสาดส่องฟอลโลโฟกัส ที่เศรษฐาก็ลดเงา-ลดแสงลงสงัด

ประวัติการเมืองของเศรษฐา ที่เคยวิพากษ์รัฐธรรมนูญระดับปักโดนจุดดำในดวงอาทิตย์ ตีแสกกลางเรื่อง 1 สิทธิ 1 เสียง กับปิดสวิตช์ ส.ว. 250 เสียง อ่านปรากฏการณ์การเมือง และการออกแบบนโยบายสาธารณะในรัฐบาลหน้าว่า “เศรษฐกิจและการเมืองต้องไปด้วยกัน ถ้าเศรษฐกิจดี แต่จะไปไม่สุด จะถูกฉุดจากการเมือง”

ในฐานะผู้นำองค์กร ผู้นำประเทศ “เศรษฐา” บอกว่าต้องมีคำหนึ่งในใจคือ “เราทำได้” อันเป็นมอตโต้ของพรรคกิจสังคม ยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

เมื่อ “เศรษฐา” ตอบคำถามที่ว่า นักการเมืองที่เขาชื่นชอบ และคิดว่าดี คือใคร ? ชื่อนั้นไม่ใช่ใครที่ไหน เขาบอกว่า

“ผมชอบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นะ ท่านมีนโยบายที่ก้าวหน้า นำพาพรรคที่มี ส.ส.แค่ 18 คน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ผู้นำพรรคกิจสังคม ปัญญาชนหัวขบวนสายอนุรักษนิยม ใช้นโยบาย “เงินผัน ประกันราคา และรักษาฟรี” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

เมื่อแพทองธาร ชินวัตร ตอบคำถามเรื่องตำแหน่งว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่า ยุบสภาเมื่อไร ได้เห็นกัน คำนี้สร้างความหวังให้ตระกูลชินวัตรเรืองรองขึ้นอีกครั้ง