เปิดหน้า 37 กรรมการพรรคประชาธิปัตย์ เช็กสถานะใครอยู่-ใครลาออก

เปิดหน้า 37 กรรมการบริหารพรรค ปชป. ก่อนปริญญ์เอฟเฟค ใครอยู่-ใครลาออกแล้ว

เปิดรายชื่อ 37 กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นั่งหัวหน้าพรรคก่อนปริญญ์เอฟเฟกต์ ลาออกแล้ว 4 คน 

สถานภาพกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ หลายรายกลืนไม่เข้า-คายไม่ออก ต้องเผชิญหน้ากับมรสุม คดีการล่วงละเมิดทางเพศ ของอดีตรองหัวหน้าพรรค นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ทำให้ถูกเรียกร้องให้ล้างไพ่ ลาออกทั้งคณะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ

นายปริญญ์ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งของพรรค ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในพรรค 3 ตำแหน่ง ได้แก่ รองหัวหน้าพรรค, หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยและผู้อำนวยการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ของพรรค

ขณะที่ ท่าทีของ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคได้ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายสตรีแห่งชาติเท่านั้น พร้อมปฏิเสธที่จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อรับผิดชอบจากกรณที่เกิดขึ้น

นายจุรินทร์ ระบุถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ลาออกจากทุกตำแหน่งภายในพรรคแล้ว กรรมการบริหารพรรคไม่มีหน้าที่ที่จะแสดงความรับผิดชอบจนเกินเลยขอบเขต กรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหา ไม่ใช่การหนีปัญหา

อย่างไรก็ตาม มีกรรมการบริหารพรรคส่วนหนึ่งได้ยื่นลาออก เนื่องจากรู้สึกสำนึกผิดในจริยธรรมเพื่อรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมของพรรค คือ นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขาระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมอย่างรุนแรง ด้วยสำนึกต่อศีลธรรมที่สำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมือง จึงขอลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อรับผิดชอบ ลงวันที่ 25 เม.ย. 2565

วันเดียวกัน นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคแล้ว โดยในหนังสือลาออกไม่ได้ระบุเหตุผล โดยมีการลงวันที่ 23 เม.ย. 2565

จากนั้น ช่วงบ่ายของวันมีกระแสข่าวการแถลงลาออกของ 7 กรรมการบริหารพรรค นำโดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก 2.นางเจิมมาศ จึงศิริ 3.น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ 3. นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ รองเลขาธิการ 4. น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล 5. อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ 6. นางสุพัชรี ธรรมเพชร

แต่สุดท้ายกลับไม่มีการแถลงข่าวลาออกแต่อย่างใด มีเพียงแถลงยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมทั้งยังไม่ลาออกจากกรรมการบริหารพรรค โดยให้เหตุผลว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำผิด แต่มีคนที่ทำผิด และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ พร้อมทั้งจะรับผิดชอบในเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ 1 ใน 7 กรรมการบริหารพรรคหญิง ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ได้เขียนใบลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคแล้ว โดยมอบไว้ให้กับ 1 ใน 7 กรรมการบริหารพรรค หญิง แต่สุดท้ายกลับไม่มีการแถลงข่าวลาออก แต่อย่างใด

4 วันถัดมา น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ได้ยื่นหนังสือความประสงค์ถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ลงวันที่ 28 เม.ย. 2565

สำหรับกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่จะเกิดเหตุนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ถูกกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 คน

หัวหน้าพรรค

  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค

รองหัวหน้า 13 คน

    1. นายนราพัฒน์ แก้วทอง
    2. นายไชยยศ จิรเมธากร
    3. นายสาธิต ปิตุเตชะ
    4. นายเดชอิศม์ ขาวทอง
    5. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์
    6. นายนิพนธ์ บุญญามณี
    7. นายสามารถ ราชพลสิทธิ์
    8. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
    9. นายอลงกรณ์ พลบุตร
    10. นายกนก วงษ์ตระหง่าน ลาออก
    11. นายสรรเสริญ สมะลาภา
    12. นายอัศวิน วิภูศิริ
    13. นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ลาออก

เลขาธิการพรรค

  • นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน

รองเลขาธิการพรรค

    1. น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร
    2. นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
    3. นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์
    4. นายธนา ชีรวินิจ
    5. พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร
    6. นายชัยชนะ เดชเดโช

เหรัญญิก

  • นายสุทธิ ปัญญาสกุลวงศ์

นายทะเบียนพรรค

  • นายวิรัช ร่มเย็น

โฆษกพรรค

  • นายราเมศ รัตนะเชวง

กรรมการบริหารพรรค

    1. นางขนิษฐา นิภาเกษม
    2. นางกษมา วงศ์ศิร
    3. นายชวลิต รัตนสุทธิกุล
    4. นายถนอมศักดิ์ แป๊ะเส้ง
    5. นายทวีโชค อ๊อกกังวาล
    6. นางเจิมมาศ จึงเลิศศิริ
    7. นางสุพัชรี ธรรมเพชร
    8. นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล
    9. น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ
    10. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก
    11. น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล
    12. น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ลาออก
    13. นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ลาออก

ปัจจุบันมีกรรมการบริหารพรรค ยื่นขอลาออกแล้ว 4 คน ซึ่งตามหลักการแล้ว หากมี กก.บห.ลาออกเกินกึ่งหนึ่ง หรือ เกิน 18 คน จะส่งผลให้ กก.บห.ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ

เป็นหลักการเดียวกับกรณีพรรคพลังประชารัฐที่มี กก.บห.ลาออกเกินกึ่งหนึ่งส่งพ้นให้นายอุตตม สาวนายน พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค และกก.บห.พ้นทั้งคณะ

หรือกรณีที่มีความพยายามล่ารายชื่อ กก.บห.พรรคพลังประชารัฐเพื่อกดดันให้ ร.อ.ธรรมนัส พหรมเผ่า พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ