ก้าวไกล ปักธง เปลี่ยนโครงสร้างประเทศไทย เพิ่มรายได้คนจน 40%

คณะก้าวไกล

ก้าวไกล ประกาศแคมเปญใหญ่ลุยเลือกตั้ง ใช้งบ 8 แสนล้าน สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง เพิ่มเงินค่าครองชีพ – หวยใบเสร็จ – สินเชื่อ SME ดิจิทัล เพิ่มรายได้คนจน 40% ลดความเหลื่อมล้ำเหลือ 7.8 เท่า

วันที่ 30 เมษายน 2565 ที่อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พรรคก้าวไกลจัดการประชุมสามัญใหญ่ประจำปี 2565 ภายใต้ชื่องาน “เปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน” ทั้งนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งถึงวิสัยทัศน์ของพรรคก้าวไกลว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่าไตรวิกฤต มีเรื่องทั้งวิกฤตโรคระบาด วิกฤตด้านเศรษฐกิจ และวิกฤตความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีสงครามมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย

ซึ่งกระทบกับเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ผ่านมา หากเราพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เมื่อหลายสิบปีมาแล้วอาจเป็นแค่ทางเลือก แต่จากนี้ไปการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนจะเปลี่ยนแปลงแบบไหนนั้น

ในวิสัยทัศน์ของเรานั้น คำตอบไม่สำคัญเท่ากับคำถาม และทุกการเลือกตั้งมีคำถามสังคมซ่อนอยู่เสมอ โดยมีผลของการเลือกตั้งครั้งนั้นคือฉันทามติของสังคม ยกตัวอย่างเลือกตั้งปี 2544 คำถามตอนนั้นคือ ประเทศไทยจะฟื้นจากวิกฤต้มยำกุ้งได้อย่างไร เลือกตั้งปี 2554 คำถามคือ จะทวงความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงได้อย่างไร เลือกตั้งปี 2562 คำถามคือ จะยุติระบอบสืบทอดอำนาจ คสช.ได้อย่างไร

และสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ในปี 2566 คำถามที่สำคัญคือ จะเปลี่ยนประเทศไทยจริงๆ ได้อย่างไรให้ประเทศอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 และถ้าคิดว่าคำถามนี้ใช่ คำตอบก็คือพรรคก้าวไกล นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า เปลี่ยนประเทศไทยก้าวไกลทั้งแผ่นดิน

นายพิธา กล่าวว่า คำว่า เปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน ไม่ใช่แค่คำคล้องจอง ไม่ใช่แค่ข้อความพีอาร์ แต่กลั่นกรองมาจากคำถามสำคัญสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง เราจึงขอให้พี่น้องเลือกผู้สมัคร ส.ส.ก้าวไกล ให้เราเข้าไปเป็นพรรคใหญ่ เพื่อที่ยกเลิกเกณฑ์ทหารทำได้ทันที สมรสเท่าเทียมทำได้ทันที สุราก้าวหน้าทำได้ทันที รัฐสวัสดิการทำได้ทันที

“และประเทศไทยจะสามารถอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 ได้นั้น ต้องกระจายไม่กระจุก คือ กระจายอำนาจปลดล็อกท้องถิ่น ต้องจากล่างขึ้นบนไม่ใช่บนลงล่าง เศรษฐกิจใหญ่เลี้ยงรากหญ้าแบบเดิมใช้ไม่ได้อีกแล้ว และต้องจากนอกเข้าในไม่ใช่ในไปนอก นี่คือคุณค่าประเทศ สิทธิมนุษยชน กฎหมาย ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ หรือค่านิยมแบบไทยๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อปลายทางของเราคือกู้ศักดิ์ศรีประเทศไทยให้ยืนอยู่ได้บนเวทีโลก” นายพิธา กล่าว

ด้าน น.ศ.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วิกฤตค่าครองชีพที่กำลังเผชิญ เงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปี ของแพง ต้นทุนราคาสินค้าขึ้นไม่หยุด แต่ค่าแรงยังต่ำ วิกฤตค่าครองชีพกระทบคนเล็กคนน้อยหนักที่สุดยิ่งกว่าครั้งที่เจอวอกฤตโควิดแล้วกระทบเศรษฐกิจเสียอีก แต่รัฐบาลกลับบอกว่าไม่เป็นอะไร เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวแล้ว ไม่ต้องมีมาตรการช่วยเหลืออะไรแล้ว งงมากกว่าไปดูที่ไหนมา หรือรัฐบาลไปดูเฉพาะกำไรสุทธิในตลาดหุ้นซึ่งเติบโตขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดถึง 12 % แล้วไปดึงตัวเลข GDP ขึ้นมา ขณะที่ประชาชนและ SME มีรายได้น้อยลง

ต้องยืนยันว่าไม่เอาอีกแล้วเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเมกกะโปรเจกต์ การส่งออก ดึงนักลงทุนต่างชาติแบบนี้ เพราะทำให้เศรษกิจแบบนี้ดีจริง คนระยองคงมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ปัจจุบันรายได้ครัวเรือนของคนระยองอยู่ลำดับที่ 31 ในขณะที่เป็นจังหวัดที่มี GDP สูงสุดในประเทศ เศรฐกิจประเทศไม่สามารถพึ่งพาคนมั่งคั่งแค่หยิบมือเดียวได้ แต่เราต้องการเศรษฐกิจของคนเล็กคนน้อยทั่วประเทศเพื่อทำให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็งขึ้น และถ้าไม่ทำอะไรกับวิกฤตค่าครองชีพในเวลานี้จะนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำขั้นสูงสุด

วิธีผ่านทางตันวิกฤตค่าครองชีพ มี 3 เรื่องคือ เพิ่มเงินช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน เพิ่มโบนัส 20% บวกหวยใบเสร็จ และสินเชื่อ SME ดิจิทัล เราต้องเลือกว่าจะตรึงราคาสินค้าอย่างเดียวหรือเติมเงินในกระเป๋าประชาชนด้วย ซึ่งรัฐบาลทำเฉพาะเรื่องแรก จึงเห็นแค่มาตรการอย่างตรึงราคาน้ำมันและสินค้า แต่ก็จะเห็นว่าอั้นไม่อยู่ ราคาดีเซลกำลังจะขึ้น มาม่ากำลังจะขึ้น ล่าสุดก็คือ น้ำมันปาล์ม

ดังนั้น ทางออกที่สมเหตุสมผลที่สุดคือการเติมเงินในกระเป๋าประชาชน ยอมรับว่าอาจจะทำให้เงินเฟ้อมากขึ้น แต่เศรษฐกิจจะไปต่อได้เพราะคนมีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นรวมทั้งผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยก็จะขายของได้แม้ราคาสินค้าสูงขึ้น

ทางออกที่ 2 คือการเพิ่มเงินให้อีก 20 % หากไปซื้อของในร้านค้าที่ออกใบเสร็จได้ เพื่อนำไปลุ้นรางวัล หรือที่เรียกว่า ‘หวยใบเสร็จ’ ทุกๆสองเดือน แนวทางนี้นอกจากจะจูงใจให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมาขึ้น ยังจะทำให้ SME อยากร่วม ส่วนรัฐก็จะได้รู้ฐานข้อมูล SME เพราะปัญหาของประเทศไทยคือการที่เศรษฐกิจนอกระบบใหญ่มาก SME ในประเทศมีจำนวนเท่าไหร่รู้แค่ประมาณการไม่ชัดเจนและไม่ตรงกัน ซึ่งฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะได้จากหวยใบเสร็จจะช่วยเรื่องอื่นได้ด้วย

“นโยบายหวยใบเสร็จจะไม่ใช่การรีดภาษี สามารถนำไปหักภาษีลดหย่อนได้ 90% แต่สิ่งที่เราต้องการคือข้อมูลเพื่อให้สามารถอุดหนุนสนับสนุนได้ตรงเป้าขึ้น ที่ผ่านมา รัฐบาลมีแต่การทำแบบใช้แล้วทิ้ง เราเที่ยวด้วยกันเสร็จ พอมีเรารักกันก็ต้องลงทะเบียนใหม่ไปเรื่อยๆ” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า ฐานข้อมูลมีสำคัญในการปล่อยสินเชื่อรูปแบบใหม่ SME ดิจิทัล ซึ่งเป็นทางออกที่ 3 เพราะสามารถนำข้อมูลหลังบ้านจากการซื้อขายพิจารณาออกสินเชื่อได้ ตลาดสินเชื่อจะเปลี่ยนไป SME เองก็สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้จริง ไม่เหมือนที่ผ่านมา แม้รัฐบาลจะออกซอฟต์โลน 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SME

แต่ถึงตอนนี้ยังปล่อยแค่ 300,000 ล้านบาท สาเหตุเพราะธนาคารไม่กล้า ไม่มีใครกล้าเสี่ยง ดังนั้น ถ้าติดกรอบปล่อยสินเชื่อแบบเดิมๆจะแก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ ยังจะเป็นการลดการผูกขาดของธนาคารด้วย เพราะตนคิดว่าการแข่งขันในตลาดนี้ยังคงมีความจำเป็นต้องเพิ่ม

โจทย์ต่อไปคือแรงงาน เราเสนอว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะต้องปรับขึ้นตามค่าครองชีพ ตาม พ.ร.บ.แรงงาน ฉบับที่พรรคก้าวไกล ยื่นต่อสภาไปแล้ว ส่วนแรงงานนอกระบบ 10 ล้านราย ต้องมีการปฏิรูปเพื่อจูงใจให้สมัครเป็นผู้ประกันตน ม.40 โดยรัฐต้องเพิ่มเงินสมทบให้เท่ากองทุนการออมอื่น และให้แรงงานนอกระบบยื่นแบบรายได้ประจำปี ไม่ใช่เพื่อเก็บภาษี แต่เพื่อดูแลว่า ถ้าหากเขามีรายได้น้อย เขาจะต้องได้รับเงินอุดหนุนตาม ม.40 เพิ่ม เรื่องปากท้องและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปด้วยกันได้โดยไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขณะที่นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา รายได้ครัวเรือนไทย เพิ่มเพียง 500 บาทเท่านั้น แต่หนี้สินเพิ่ม 50,000 บาท ทำให้สัดส่วนหนี้สินต่อรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ เมื่อนำข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างครัวเรือนที่จนที่สุด 10 % กับรวยที่สุด 10 % ยิ่งทำให้เป็นปัญหาว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างสองกลุ่มนี้อย่างมากและกำลังขยายตัวจากคนรุ่นปัจจุบันไปสู่ความเหลื่อมล้ำของคนรุ่นถัดไป

เมื่อคิดจากฐานปัญหาเหล่านี้ สิ่งที่ต้องทำคือ ระบบสวัสดิการพื้นฐานถ้วนหน้า เพราะเป็นวิธีการที่จะทำให้ไม่เกิดการตกหล่น ตั้งแต่แรกเกิด- 22 ปี ต้องมีโอกาสได้เรียนถึง ป.ตรี เท่าเทียมครอบครัวที่รวย และมีเงินสวัสดิการเพื่อออมโดยมีรัฐบาลร่วมลงทุน หากไม่ต้องการเรียนก็นำเงินก้อนนี้ไปสร้างอาชีพในอนาคตได้ ผู้สูงอายุมีบำนาญประชาชนในอัตรา 3,000 บาทต่อเดือน

เช่นเดียวกับสุขอนามัยเจริญพันธุ์รวมถึงผ้าอนามัย จะต้องได้รับเงินอย่างน้อย 200 บาทต่อเดือน ระบบถ้วนหน้าทุกคนจะประโยชน์ แต่ครัวเรือนที่จนจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากครัวเรือนที่จนที่สุดมักมีเด็ก ผู้พิการ และผู้สูงอายุอาศัยอยู่ร่วมกันมากกว่า เมื่อคำนวนลงไปในรายละเอียด กลุ่มรวยสุดรายได้จะเพิ่มขึ้น 2 % แต่กลุ่มที่จนที่สุดจะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นถึง 40%

ปัญหาเกษตรกร ต้องปลดล็อกหนี้สิน สร้างความมั่นคงด้านแหล่งน้ำ และการปฏิรูปที่ดิน นอกจากนี้ จะต้องมีการสร้างงานทั่วประเทศให้ได้ 1 ล้านตำแหน่งงาน ในรูปแบบเศรษฐกิจของการดูแลกันและกัน ทั้งนี้ จากนโยบายหลักประกันเพื่อดูแลผู้สูงอายุ จะทำให้เกิดการจ้างงานได้ถึง 200,000 ตำแหน่ง เมื่อบวกกับเด็กเล็กและผู้พิการ จะทำให้มีการจ้างงานเพิ่มเป็น 300,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ยังมีการสร้างงานในรูปแบบของการส่งเสริมเศรษกิจสีเขียว เช่น ปลูกป่าในพื้นที่เขตเมือง การปลูกป่าล้างหนี้ การพัฒนาพลังงานทดแทน การพัฒนาแหล่งน้ำในไร่นา ก็จะได้อีก 370,000 ตำแหน่ง งานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และดิจิทัลอีก 300,000 ตำแหน่ง และจะต้องมองออกไปถึงตลาดแรงงานนอกประเทศสร้างโอกาสให้คนรุ่นต่อไปอีก 30,000 ตำแหน่ง รวมเป็นการจ้างงาน 1,000,000 ตำแหน่งที่เกิดขึ้นได้จริง

แต่ปัญหาคอขวดติดล็อกเหล่านี้จะแก้ไม่ได้เลย ถ้าไม่กระจายอำนาจ กระจายบทบาท กระจายงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าการพัฒนาแหล่งน้ำ ตลาดสินค้าเกษตร การสร้างงานในระบบดูแลกัน การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาและเรียนรู้ ต้องปลดล็อก การทลายคอขวดเหล่านี้จะสามารถย้อนกลับไปแก้ปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำที่จะถูกส่งต่อข้ามรุ่นได้

“กระบวนการของพรรคก้าวไกลจะทำให้สัดส่วนความยากจนลดลง 6% เหลือ 2 % ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มรวยที่สุดกับจนที่สุด จะลดจาก 11 เท่า เหลือ 7.8 เท่า” นายเดชรัต กล่าว

นายเดชรัต กล่าวอีกว่า แน่นอนว่าเราต้องการลดลงอีก แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปตลอดการ เด็กทุกคนจะสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนไปถึง ป.ตรี หรือจะเลือกประกอบอาชีพ มีงานทำ ทุกคนอยู่ในระบบประกันสังคมได้ ไม่มีคำว่าแรงงานนอกระบบ ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลทั้งบำนาญและมีระบบดูแล เกษตรกรมั่นคงในที่ดินและแหล่งน้ำ

ทั้งหมดเราคำนวนงบประมาณโดยละเอียดแล้วว่าต้องใช้งบประมาณ 800,000 ล้านบาท ที่มางบมาจากสองส่วน หนึ่ง ปรับลดงบประมาณรายจ่ายลงเพื่อมาทำใหม่จะได้ 300,000 ล้านบาท อีกส่วนเป็นรายได้ที่มาจากการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษี 400,000 – 500,000 ล้านบาท การปรับปรุงระบบภาษีไม่ได้หมายความว่าต้องรีดภาษี

แต่เป็นการทำให้ความสามารถในการจัดเก็บภาษีที่ลดลงอย่างมากในช่วงสองปีมากลับไปอยู่ในงบประมาณภาวะปกติ ปัจจุบันสวัสดิการประชาชนอยู่ที่ 2.4 %ของ GDP ถือว่าค่อนข้างน้อยมาก จะต้องขยายให้เพิ่มเท่าตัวพร้อมการวางแผนที่ละเอียดรัดกุม จะทำให้การขาดดุลงบประมาณจากที่ 4 % ให้เหลือ 3.4 % ภายใต้แนวทางของพรรคก้าวไกล

คณะก้าวไกล