ประธานศาลรัฐธรรมนูญ วรวิทย์อยู่ต่อได้จนครบวาระ แม้อายุเกิน 70 ปี

วรวิทย์ กังศศิเทียม
วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

กรรมการสรรหา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มติเอกฉัน ให้วรวิทย์ กังศศิเทียม อยู่ในตำแหน่งต่อไป ไม่มีลักษณะต้องห้าม

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอายุ 70 ปี มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 208 (1) ประกอบมาตรา 202 (1) ของรัฐธรรมนูญ กรณีเป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหาตุลาการ ได้มีหนังสือ ที่ สว (ศรธ) …8/(ส) 407 ลงวันที่ 29 เมษายน แจ้งคำวินิจฉัยคณะกรรมการสรรหา สรุปสาระสำคัญ ว่า

คณะกรรมการสรรหา เห็นว่า รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่งของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 293 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่เกี่ยวข้องจัดทำขึ้นตามมาตรา 267 ใช้บังคับ การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตาม พ.ร.ป.ดังกล่าว

ต่อมาเมื่อมีการตรา พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561  พ.ร.ป.ดังกล่าวได้กำหนดบทบัญญัติเพื่อให้สอดรับกับมาตรา 273 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 79 วรรคหนึ่ง โดยบัญญัติให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป. นี้ใช้บังคับยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 หรือพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 18 เว้นแต่ กรณีตาม (1) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติตามมาตรา 8 มิให้นำมาบังคับใช้

เมื่อนายวรวิทย์ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2557  จึงเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2550 และดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561  ใช้บังคับ

เมื่อวุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์ บุคคลทั้ง 4 และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ยังดำรงตำแหน่ง ไม่ครบวาระ จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายปัญญา อุดชาชน ได้เลือกกันเองให้นายวรวิทย์ เป็นประธานฯและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ถือได้ว่านายวรวิทย์ได้ดำรงตำแหน่งประธานตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 81  วรรคสาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561

ส่วนบทบัญญัติมาตรา 208 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่าประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งลาออกจากตำแหน่งให้พ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายให้ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นการเฉพาะ และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการสลับตำแหน่งระหว่างประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดังที่ปรากฏในเอกสารบันทึกความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560  หน้า 358

นายวรวิทย์จึงยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 และมาตรา 273 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 79 วรรคหนึ่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เมื่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติรับรองสถานะการดำรงตำแหน่งของนายวรวิทย์ ไว้อย่างชัดเจนในบทเฉพาะกาล ดังนั้น คณะกรรมการสรรหา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่านายวรวิทย์ ไม่ได้มีลักษณะต้องห้ามตาม 202 (1) ของรัฐธรรมนูญเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 208 (1)

ดังนั้น การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการสรรหาพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งของประธาน เพื่อให้มีข้อยุติในข้อกฎหมายและเกิดความชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาคดี และผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ป้องกันปัญหาที่อาจมีคู่กรณีหรือบุคคลภายนอกโต้แย้งความสมบูรณ์ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญภายหลังได้ รวมทั้งแสดงถึงความเป็นอิสระของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ