3 นักรัฐศาสตร์ ฟันธงศึกผู้ว่าฯ กทม. ขั้วประยุทธ์อ่อนกำลัง เปิดทาง ชัชชาติ-วิโรจน์

ผู้ว่า กทม.
รายงานพิเศษ

 

เข้าสู่ช่วง “ชี้ขาด” ชัยชนะ 100 เมตรสุดท้าย ศึกเฟ้นตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17 ในประวัติศาสตร์

กลเกมใต้ดิน-บนดิน ของผู้สนับสนุน กองเชียร์ ทั้งที่เปิดหน้าและอยู่ลับหลัง ต่างขุดบาดแผลทางการเมือง-การบริหาร ของคู่ต่อสู้เข้าห้ำหั่นกัน เพื่อตัดคะแนน

พ่วงด้วยประเด็น “เลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์” หรือ strategic vote ระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูก “แปะป้าย” ว่าเป็นขั้วที่สนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แก่ สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ (อดีตผู้ว่าฯ กทม.) รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ

กับอีกขั้วที่เป็นขั้ว “ฝ่ายค้าน” ตรงข้ามรัฐบาล หรือไม่เอารัฐประหาร อย่าง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ

ถูกชูขึ้นเป็นประเด็น ให้ voter แต่ละขั้วเกิดความคล้อยตาม แต่ที่สุดแล้ว ผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ตัวเต็งทั้งหลาย ไม่ว่า ที่ต่างกรำศึกหาเสียงมาเต็มทน ใครจะเข้าวินเป็นอันดับ 1

ประชาชาติธุรกิจ รวบรวมการวิเคราะห์ของ 3 กูรูรัฐศาสตร์ ที่เกาะติดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาอย่างต่อเนื่อง ถึงโอกาสที่ใครจะเข้าเส้นชัย

ขั้วฝ่ายค้าน ชนะฝ่ายหนุนรัฐบาล

เริ่มจาก “รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วิเคราะห์ปัจจัยชี้ขาดชัยชนะผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไป มี 2 ปัจจัย คือ 1.ค่ายทางการเมือง เช่น ฐานเสียงของเพื่อไทยใน กทม. น่าจะมีอยู่ 8 แสนเสียง แม้ว่าในการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อไทยมี 6 แสนเสียง แต่เพราะส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขต รวมกับคะแนนของพรรคก้าวไกล 8 แสนเสียง จึงมีเสียงอยู่ที่ 1.4 ล้านเสียง บวกกับเศรษฐกิจใหม่ กับเสรีรวมไทย จึงรวมกันเป็น 1.6 ล้านเสียง ตรงนี้ก็ต้องอยู่ฝั่งนี้แน่นอน ไม่ไปเลือกขั้วพันธมิตรฝ่ายรัฐบาลแน่

ขณะที่ฝั่งที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาล มีผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ตัดคะแนนกันเอง 4 คน ซึ่งฐานเสียงเดิมน่าจะมี 1.2 ล้านเสียง คือพรรคพลังประชารัฐ 7 แสนเสียง บวกกับพรรคประชาธิปัตย์ 4.7 แสนเสียง จะถูกแบ่งกัน ซึ่งเรื่องขั้วการเมืองจะเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญ

ปัจจัยที่ 2.“คุณสมบัติ” ของผู้สมัคร ซึ่งสำคัญเหนือกว่า “นโยบาย” เพราะคนผูกนโยบายไปกับวิธีการนำเสนอและความน่าเชื่อถือของตัวผู้สมัครมากกว่า เพราะทุกวันนี้ผู้สมัครทุกคนก็แตะนโยบายกว้าง ๆ ทั้งหมด แต่วิธีการนำเสนอต่างกัน

ส่วนการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ทำนอง “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” รศ.ดร.สิริพรรณเชื่อว่าไม่มีผล เพราะต้องมีองค์ประกอบ 2 อย่าง ประการแรก ฝั่งที่จะใช้ยุทธศาสตร์นี้ต้องมีผู้สมัคร 1 คนที่ชัดเจน ที่คนอื่น ๆ เทคะแนนให้ แต่ครั้งนี้ฝั่งอนุรักษนิยมที่เป็นพันธมิตรรัฐบาลจะเทคะแนนให้ใครเพราะมีตั้ง 4 คน และ 4 คนก็ไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคะแนนนำตามโพล เพราะบางโพลก็เป็นคุณสุชัชวีร์ บางโพลก็เป็น พล.ต.อ.อัศวิน

ประการที่ 2 ต้องมีความคิดร่วมกัน ว่าจะเทคะแนนไปที่ฝั่งไหน ไม่สามารถเกิดขึ้นแบบอัตโนมัติว่าจะเทคะแนนให้คนนี้ จะเห็นจากการ endorsement ของคุณจำลอง ศรีเมือง คุณสนธิ ลิ้มทองกุล สนับสนุนคุณรสนา คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ หนุนคุณสกลธี พล.ต.อ.อัศวิน ก็มีคุณปารีณา ไกรคุปต์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม คุณถาวร เสนเนียม สนับสนุน

“และผู้สมัครทั้ง 4 คนก็ไม่ยอมแน่ ๆ เพราะมีต้นทุนทางการเมืองที่สูง ดังนั้นการเทคะแนนที่วิเคราะห์กันมันยากในทางทฤษฎีและปฏิบัติ”

ขณะที่จำนวนประชากรของโหวตเตอร์ในแต่ละรุ่น มีผลต่อการเลือกตั้งแน่นอน และเอื้อประโยชน์ให้กับฝั่งฝ่ายค้าน คุณชัชชาติและคุณวิโรจน์ ซึ่ง first time voter มีอยู่ 6.9 แสนคน Gen ที่มีประชากรมากที่สุดคือ Gen X ประมาณ 1.5 ล้านคน ที่มีอายุตั้งแต่ 43-57 ปี และเป็นคนกลุ่มเดียวกับผู้สมัครส่วนใหญ่ คุณชัชชาติ คุณวิโรจน์ คุณสุชัชวีร์ คุณสกลธี คุณศิธา มีอยู่ 33% ซึ่ง Gen X จะเป็นตัวแปร

แต่ถ้าดูฐานเสียงของ พล.ต.อ.อัศวิน คือ baby boomer กับ silent generation มีประมาณ 1 ล้านกว่าคน คิดเป็น 25% เป็นฐานเสียงหลักที่ผู้สมัครขั้วสนับสนุนรัฐบาลต้องมาแย่งกัน ถึงต่อให้เทคะแนนให้ใครก็จะมีอยู่ประมาณ 25% ขณะที่เจน X เจน Y และ first time voter คือส่วนที่เหลือ

แน่นอนว่า Gen X บางส่วนอาจมาเลือกฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ แต่ลองลงไปในรายละเอียด คุณสกลธีจะมี 1 แสนเสียง จากฐานคะแนนของพรรครวมพลังประชาชาติไทย คุณรสนา น่าจะไม่ถึงแสนเสียง คุณสุชัชวีร์ น่าจะมีฐาน 4.7 แสนเสียง จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เชื่อว่าจะได้ไม่ถึง ที่เหลือจะเป็นของ พล.ต.อ.อัศวิน จะมี 6 แสนเสียง

แต่ถ้าเทียบกับอีกฝั่งหนึ่งคือคุณชัชชาติ กับคุณวิโรจน์ มี 1.6 ล้านเสียง หาร 2 คือ 8 แสนเสียง จะเห็นว่าต่อให้อีกฝ่ายเทคะแนนให้กันก็จะชนะค่อนข้างยาก

“กลุ่มประชากรค่อนข้างเป็นใจให้กับฝั่งก้าวหน้า เพราะทั้งคนเลือกตั้งรุ่นใหม่ Gen Y ที่แอ็กทีฟทางการเมืองมาก และเชื่อว่าคนกลุ่มนี้จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งสูง และ Gen X แม้จะมีความอนุรักษนิยมอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่คุณชัชชาติลงอิสระและมีภาพประนีประนอม ดังนั้น ฝั่งก้าวหน้าจะมีฐานที่มากกว่า”

อนุรักษนิยมฟัดกันเอง

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผ่าน “มติชนทีวี” ในมุมใกล้เคียงกันว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อนุรักษนิยมตัดคะแนนกันเองเยอะแน่ และแข่งกันดุเดือดในขั้วเดียวกันเองมากกว่า

ถ้าเป็นทีมงานคุณสกลธี พล.ต.อ.อัศวิน สุชัชวีร์ เขารู้ ณ นาทีนี้ยากแล้ว ที่จะไปดึงคะแนนคนที่จะไปเลือกอีกฝั่งหนึ่งซึ่งจะไปเปลี่ยนใจไม่ได้แล้ว แต่จะเปลี่ยนใจขั้วเดียวกันเองได้ ดังนั้น เราจะเห็นความเข้มข้นตรงนี้ เช่น สกลธี เปิดตัว ส.ก.พรรคพลังประชารัฐที่จะสนับสนุนตัวเอง

แล้วการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายอนุรักษนิยมเทคะแนนให้กัน “รศ.ดร.ประจักษ์” ตอบว่า ผมคิดว่ายาก การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ถ้าไปดูในประเทศอื่น ๆ จะเกิดขึ้นโดยมีเงื่อนไข มันไม่ใช่ทำกันง่าย ๆ 1.คะแนนต้องไม่ห่างกันมาก ถ้าทิ้งห่างกันมากต่อให้เทคะแนนอย่างไรก็ยากที่จะตามทัน 2.ต้องมีการส่งสัญญาณกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะจากตัวผู้สมัครเอง

“จริง ๆ การเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ถ้าจะเวิร์ก ต้องยอมถอยกันตั้งแต่แรก แต่ถ้าลงสู่สนามแล้วมาถึงโค้งสุดท้าย…ยากแล้ว เว้นแต่ตัวผู้สมัครเองบอกว่า เทคะแนนไปเลยนะ อย่ามาเลือกผม พี่น้องไปเลือกคนนี้ ผู้เลือกตั้งถึงรู้ว่าสัญญาณไปทางไหน เขาจะทำไปตามนั้น”

“ทีนี้ตัวพรรคหรือตัวผู้สมัคร ไม่เห็นมีใครยอมถอยสักคน ในเมื่อผมเชียร์ พล.ต.อ.อัศวินอยู่ และก็ไม่ได้ถอย แล้วทำไมผมต้องไปเลือกคุณสกลธี ซึ่งตัวคุณสกลธีก็แบบเดียวกัน”

“แต่ตอนนี้คนที่มาชี้แนะเรื่องโหวตยุทธศาสตร์คือกองเชียร์ และอินฟลูเอนเซอร์บางคนเริ่มออกมาโพสต์ ถ้าไม่โหวตอย่างนี้เราแพ้แน่ แต่อินฟลูเอนเซอร์ก็ไม่ใช่ทีมหาเสียงที่เป็นทางการ แล้วทำไมผมต้องไปฟัง บวกกับเราไม่มีโพลที่เราแม่นยำ พอโพลบ้านเราเชื่อถือไม่ค่อยได้มาก จึงไม่รู้ว่าฝั่งนี้ คุณอัศวิน สกลธี หรือ ดร.เอ้ ใครกันแน่ที่มีคะแนนนำจริง ๆ มีโอกาสมากที่สุด ผมว่ามันยากมาก สับสน ที่จะไปเลือกเชิงยุทธศาสตร์ จึงคิดว่าไม่ประสบความสำเร็จ”

“ส่วนฝั่งประชาธิปไตย ถ้าจะตัดกันก็น้อยกว่าอยู่แล้ว เพราะมีแค่ 2 คนคือ คุณชัชชาติ กับคุณวิโรจน์ และต่อให้แย่งคะแนนกัน แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมตัดกันมากกว่า และยอดรวมคะแนนของฝ่ายอนุรักษนิยมจริง ๆ ก็น้อยกว่า ยิ่งไปตัดตัวหารมากกว่า ไม่ว่าคุณวิโรจน์จะไปตัดเท่าไหร่ ยากที่จะดึงคุณชัชชาติลงมาจนแพ้”

วิชามารใช้ไม่ได้ผล

“รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” อาจารย์รัฐศาสตร์ ม.รังสิต ผู้ช่ำชองรัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ในมุมว่า ปัจจัยชี้ขาดของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ คือ สถานการณ์ที่ไม่มีความตึงเครียด ความขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจน แบบที่เราเคยเห็นมา เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556 ก็เป็นผลความขัดแย้งจากปี 2553 ต่อเนื่องถึง 2549

แต่คราวนี้ 8 ปี สลายพลังของฝ่ายต่าง ๆ ให้ลดลง และมองหาชัยชนะในระบบมากกว่าพลังนอกระบบ กลุ่มที่เชื่อในพลังนอกระบบปี 2556-2557 กลายเป็นพลังที่อ่อนแอไป ส่วนกลุ่มที่เชื่อในพลังแบบประชาธิปไตย ก็ยืนยันที่จะใช้บัตรเลือกตั้งในการเปลี่ยนแปลง หรือเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบอบประชาธิปไตย

2.การเลือกตั้งครั้งนี้ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหาร หรือฝ่ายประชาธิปไตย เริ่มเปิดเสียงได้ ขณะที่กลุ่มผู้สมัครอีกฝ่ายที่ชัตดาวน์ประเทศ เป็นฝ่ายเอารัฐประหารจะแบ่งเป็น 2 ทีมชัดเจน

3.ผู้ว่าฯที่มาจากการแต่งตั้งตามมาตรา 44 มานานถึง 5 ปีครึ่ง คิดว่าคน กทม.อึดอัดแล้ว จากการสำรวจ 1,200 คน มีแค่ 5 คน ที่เห็นว่าอยากได้ผู้ว่าฯจากการแต่งตั้ง ก็จะไปสอดคล้องกับผลสำรวจว่า คน กทม.ไม่เอารัฐประหาร 93%

โค้งสุดท้ายจะมีการพลิกผันหรือไม่ เมื่อแต่ละโพลให้ “ชัชชาติ” นำ “ธำรงศักดิ์” วิเคราะห์ว่า ถ้าจะมีการพลิกผัน ตัวที่จะพลิกผันจะต้องอยู่เทียบเท่ากับคุณชัชชาติ เช่น ในระดับโพลคุณชัชชาติอยู่ในระดับ 40-45% คู่แข่งขันจะต้องอยู่ระดับ 30% ถึงจะเรียกว่ามีความสามารถพลิกสถานการณ์ได้ แต่ขณะนี้ คนที่มาอันดับ 2 เช่น พล.ต.อ.อัศวิน อยู่แค่ 10-11% จากการสำรวจของนิด้าโพล ดังนั้น ถ้าจะพลิกกันขนาดนั้น นิด้าโพลต้องปิดสำนักแล้วล่ะ

“รศ.ดร.ธำรงศักดิ์” ไม่เชื่อว่า “วิชามารหรือเกมใต้ดิน” ที่ใช้ในการเตะตัดขาคู่แข่งคราวนี้จะใช้ได้ผล…

เพราะเครื่องมือการสื่อสารเปลี่ยน เมื่อวิชามารในสังคมไทย คือการใช้ข่าวลือ พอแพร่ไป คนที่ถูกยิงด้วยวิชามารไม่สามารถแก้ความได้ทัน ทำให้สถานการณ์พลิก เช่น ใน กทม. พล.ต.จำลองพาคนไปตายปี 2535 ซึ่งตอนนั้นจำลองกำลังกลายเป็นฮีโร่ มี 8 ล้านเสียงหลังพฤษภาคม 2535 แต่เขต กทม.เจ๊งเลย เพราะโค้งสุดท้าย พาคนไปตาย ครั้งที่สอง คือ ไม่เลือกเราเขามาแน่ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2556

“แต่ปัจจุบันนี้ เราเริ่มเห็นวิชามาร เช่น คุณชัชชาติ จะตั้งคนเพื่อไทยเป็นรองผู้ว่าฯ 4 คน จะเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงของสื่อ ส่งผลให้ทีมคุณชัชชาติสามารถโต้กลับได้ภายในวันเดียว”

“วิชามารจะใช้ได้ผลเมื่อควบคุมสื่อได้ แต่ตอนนี้สื่อนอกกระแสหลัก ซึ่งรัฐไทยเคยควบคุมไว้ได้ แต่ตอนนี้ควบคุมสื่อยุคใหม่ไม่ได้ ทำให้วิชามารถูกลบทิ้งได้อย่างรวดเร็ว เด็ก ๆ จึงตาสว่างกันหมด”