จาตุรนต์ ซัด ประยุทธ์ พาประเทศลงเหว ใช้ สมช.กำกับแก้เศรษฐกิจ

จาตุรนต์ ฉายแสง
จาตุรนต์ ฉายแสง

จาตุรนต์ ฉายแสง อัด ประยุทธ์ พาเศรษฐกิจประเทศลงเหว หลังตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด แก้วิกฤตพลังงาน – อาหาร ภายใต้ร่ม สภาความมั่นคงฯ

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประชุมร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะปัญหาราคาพลังงาน-อาหาร โดยมีการนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการ จำนวน 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการวิกฤตเศรษฐกิจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (ครม.เศรษฐกิจ)

และคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อติดตามและวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอการแก้ปัญหาทุกมิติเพื่อจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤตการณ์ในอนาคต ว่า ตนคิดว่าผิดซ้ำซาก คิดยังไงก็ไม่พ้นเอางานด้านเศรษฐกิจอยู่ใต้กำกับของฝ่ายความมั่นคง แบบนี้ชื่อย่อตั้งให้เอามั้ย บปล. เป็นไง บ้าไปแล้ว

ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้ซับซ้อนมาก ตอนเจอกับสถานการณ์โควิดที่รุนแรง เศรษฐกิจไทยถดถอยหรือหดตัวถึง 6.1% ตกต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ปีต่อมาคือปีที่แล้ว กระเตื้องขึ้นก็โตเพียง 1.6% โตช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศเศรษฐกิจฟื้นก่อนเราประมาณ 1 ปี

และไทยกลายเป็นประเทศที่ตกขบวนจากการฟื้นเศรษฐกิจเพราะฉีดวัคซีนช้า พอไทยจะฟื้นก็มาเจอเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างหนัก เพราะสงครามรัสเซียในยูเครน และนโยบายซีโร่โควิดของจีน กระทบทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่คาดหวังกันว่าจะเป็นตัวดึงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ขณะนี้ไทยกำลังประสบปัญหาเงินเฟ้อที่ไม่เคยเจอมานานแล้ว ล่าสุดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายน 2565อยู่ที่ 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี ขณะที่ข้าวของอื่นยังแข่งกันขึ้นราคาไม่หยุดหย่อนและทั้งน้ำมันและแก๊สที่เป็นสาเหตุหลักก็กำลังจะแพงขึ้นอีก

มีแนวโน้มว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินทุนไหลออกและหวังว่าจะชะลอเงินเฟ้อได้บ้าง แต่เงินเฟ้อของไทยมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งมาจากสินค้านำเข้าเป็นหลัก ไม่ใช่เงินเฟ้อเพราะเศรษฐกิจกำลังร้อนแรง แต่เศรษฐกิจกำลังโตช้ามากด้วยซ้ำ การขึ้นดอกเบี้ยก็อาจมีผลชะลอการลงทุนให้น้อยลงไปอีก

นายจาตุรนต์ระบุว่า การรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ ของแพง ค่าครองชีพสูงของไทย ส่วนหนึ่งอาจทำได้ด้วยการลดต้นทุนการผลิตบางประเภท หรือตรึงค่าครองชีพบางอย่างไว้ เช่น ค่าโดยสารรถประจำทาง หรือการช่วยผู้ที่เดือดร้อนเป็นกลุ่ม ๆ แต่ที่สำคัญจะเน้นแต่การให้คนประหยัดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสร้างรายได้เข้าประเทศให้มากขึ้น ซึ่งก็คือการสร้างรายได้ให้คนจำนวนมากให้ได้ เพื่อจะได้มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยของที่แพงขึ้น

ทั้งหมดนี้เข้าใจว่าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังคิดไม่ตรงกัน ต้องมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างจริงจัง ต้องเปิดให้มีการเสนอความคิดเห็นจากภาคเอกชนอย่างกว้างขวางและต้องมีการตัดสินใจด้วยองค์ความรู้ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน มากกว่าการโอนเอนตามกระแสไปโดยปราศจากความเข้าใจ

ปัญหาเศรษฐกิจที่ซับซ้อนแบบนี้ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับมือไม่ได้แน่ จะอ้างว่าเป็นผู้ประสานก็ไม่ได้เพราะพอเป็นหน่วยงานหลักแล้ว วิธีคิด วิธีมองปัญหาก็จะถูกครอบงำโดยฝ่ายความมั่นคง จนไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ คำถามจึงมาอยู่ที่ว่าทำไมจะตั้งคณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจอยู่ใต้ สมช. ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงและไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจ

“สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รู้เลยหรือว่านายกฯสามารถตั้งคณะแบบนี้หรือใหญ่กว่านี้โดยใช้อำนาจตาม  ชพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินได้ แล้วตั้งเลขาฯ สมช.เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็พอ ทำงานอย่างนี้ นักลงทุนเขาจะรู้สึกอย่างไร ยิ่งนักลงทุนต่างประเทศ อยากจะมาลงทุนในไทยไหม บริหารประเทศแบบนี้ ถ้าเศรษฐกิจไทยเป็นรถ ก็เป็นรถที่คนขับกำลังพาลงเหว แต่มาติดหล่มที่เต็มไปด้วยกับดักที่คนขับวางไว้เอง แล้วยังมีหน้ามาขอให้คนช่วยกันเข็นได้ยังไง ใครอยากจะเข็นลงเหว” นายจาตุรนต์กล่าว