ฝ่ายค้าน ถล่ม ศักดิ์สยาม ซุกหุ้น ใช้นอมินีถือหุ้นเอกชน รับงานคมนาคม

ปกรณ์วุฒิ

ศักดิ์สยาม อ่วม โดนฝ่ายค้านถล่ม ซุกหุ้นในบริษัทเอกชน แล้วให้นอมินีถือไปประมูลรับงานของคมนาคม ใช้แท็กติก ดึงเรื่องคืนที่ดินเขากระโดงให้ ร.ฟ.ท.

วันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยนายศักดิ์สยามได้ปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) บ. โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ

โอนหุ้นให้นอมินี แจ้งทรัพย์สินเท็จ

ทั้งนี้ หจก.บ. ก่อตั้งในปี 2539 โดยมี ตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือบ้านของนายศักดิ์สยามในขณะนั้น เมื่อมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก. นี้ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น พอยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายศักดิ์สยามก็กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ หจก.บ. ในปี 2558 โดยเพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง

จนเมื่อปี 2561 ที่มีข่าวการเลือกตั้ง นายศักดิ์สยามก็โอนหุ้นทั้งหมดไปให้นอมินีในวันรุ่งขึ้นทันที และย้ายที่ตั้งสำนักงาน หจก.บ. ออกจากบ้านของตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อคนถือหุ้นให้ลูกจ้างมาเป็นนอมินี หรือมีการซื้อขายหุ้นจริง เพราะไม่พบหลักฐานว่ามีการชำระเงินค่าหุ้นเลย

หากมีการซื้อขายกันจริง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายต่ำกว่า สูงกว่าราคาทุนที่ 120 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม หรือ ผู้ถือหุ้นคนใหม่ ก็จำเป็นต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี หรือหากซื้อขายเท่าราคาทุน นายศักดิ์สยามก็ต้องระบุเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ก็ไม่ปรากฏเงินก้อนนี้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่น ป.ป.ช. ในปี 2562

“ในปี 2562 ท่านยื่นทรัพย์สินในการเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ 115 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดบวกเงินฝากอยู่ประมาณ 76 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น ๆ เกือบทั้งหมดระบุว่าได้มาก่อนปี 2561 แทบทั้งสิ้น คำถามคือ เงิน 120 ล้านบาทก้อนนี้หายไปไหนครับ” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

ใช้บริษัทตัวเองรับงานรัฐ

นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า นายศักดิ์สยามยังนำ หจก.บ. มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี เป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท โดยหลายงานก็มีความผิดปกติ คือ ราคาที่ชนะประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยไม่ถึง 0.3% และมีคู่เทียบเพียงรายเดียว ซึ่งเป็นบริษัทที่บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 5 ล้านบาทในปี 2562 แบบนี้เอาไปให้ใครดู เขาก็ว่าฮั้ว เอาธุรกิจตัวเองเข้ามารับงานกระทรวงที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีก็ว่าผิดแล้ว ยังมีพฤติกรรมที่เป็นการฮั้วประมูลอย่างชัดเจน

อีกทั้ง นอมินี ผู้ถือหุ้นบริษัทร้อยล้าน แต่มีรายได้เดือนละ 9,000 บาท ซึ่งแจ้งข้อมูลรายได้น้อยมากจนน่าสงสัย ทั้งที่เขาสามารถซื้อต่อที่ดินในพื้นที่พิพาทเขากระโดง ต่อจาก บิดาของนายศักดิ์สยาม และซื้อหุ้น หจก.บ. ทั้งหมดมาจาก นายศักดิ์สยาม ได้

โดยจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คนนี้เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในธุรกิจ 4 แห่ง แต่มีสถานะทิ้งร้างไป 3 แห่ง ส่วนอีกแห่งที่เหลือไม่มีรายได้เลยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และข้อมูลจากประกันสังคม และกรมสรรพากร ในช่วงปี 2558-2563 ยังพบว่า เขาแสดงรายได้เพียงปีละประมาณ 100,000 บาท หรือเดือนละ 9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเงินเดือนที่ได้รับจาก บริษัท ศ. ธุรกิจครอบครัวของตระกูลชิดชอบ มาตั้งแต่ปี 2558 ไล่เลี่ยกับช่วงที่ นายศักดิ์สยาม เป็นกรรมการบริษัท ศ.

นอกจากนี้ งบดุลของบริษัท ศ. ในปี 2561-2562 ยังระบุว่า ลูกจ้างคนนี้กลายมาเป็นเจ้าหนี้เงินกู้ระยะยาว 221.5 ล้านบาทของบริษัท จนปี 2564 สรุปสุดท้าย บริษัทนี้เป็นหนี้ลูกจ้างอยู่ 250.2 ล้านบาท

ในปี 2562 บริษัท ศ. ยังบริจาคให้พรรคภูมิใจไทยไป 4.7 ล้าน ก็บริจาคให้พรรคไปอีก 2.77 ล้านบาท พร้อมกับให้ หจก.บ. ที่ตัวเองเป็นเจ้าของ บริจาคให้พรรคไป 4.8 ล้านบาท และในปี 2563-2564 ยังให้บริษัท ศ. กู้เพิ่มอีก 100 กว่าล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นการกู้เงินไม่มีสัญญา ไม่คิดดอกเบี้ยใด ๆ

“ถ้าเราลองเปลี่ยนชื่อ พฤติการณ์นี้ทั้งหมดจาก นายเอ เป็น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และบริษัท ศ. เป็นเหมือนกงสี ทุกอย่างก็ดูเรียบง่าย ตัวเลขกำไรขาดทุนก็อาจไม่สำคัญมากนัก ถึงบริษัทจะขาดทุนและเป็นหนี้อยู่เป็นร้อยล้าน แต่ก็เป็นหนี้คนในครอบครัว เอาเงินไปบริจาคให้พรรคการเมืองตัวเองก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไร” นายปกรณ์วุฒิกล่าว

ใช้แท็กติก ดึงเรื่องที่ดินเขากระโดง

ต่อมา นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ในส่วนของกระทรวงคมนาคม กรณีครอบครองที่ดินเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ 5,083 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ว่า หลังจากการอภิปรายเดือน กันยายน 2564 ตนติดตามว่าที่ดินเขากระโดง มีการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเพียงใด

แต่ปรากฏว่าการดำเนินการยังไม่สะเด็ดน้ำ เหมือนง้างธนูไม่สุด วันนี้รัฐมนตรีและพวกพ้อง ยังคงทำธุรกิจ และพักอาศัยอยู่ตรงนี้ไม่ได้ออกไปไหน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ร.ฟ.ท. ซึ่งกำกับดูแลโดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีหนังสือถึงกรมที่ดิน ให้ทำการเพิกถอนโฉนดที่ดิน

ปรากฏว่าวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 กรมที่ดิน มีหนังสือตอบมาว่า การเพิกถอนโฉนดที่ดิน ทางกรมที่ดินจะดำเนินการได้ต้องมีรูประวางแผนที่ส่งให้กรมที่ดิน พร้อมมีคำถามไปยัง ร.ฟ.ท.ว่า ที่ดิน 2 แปลง ซึ่งเป็นภูมิลำเนา 30/2 ม.15 ที่รัฐมนตรีแจ้งอยู่บนที่ดินแปลงนี้ ซึ่งที่ดิน 2 แปลงนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาปี 2541 เคยวินิจฉัยว่าเป็นที่ ร.ฟ.ท. ปี 2554 คณะกรรมป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยวินิจฉัยให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ก็วินิจฉัยให้ ร.ฟ.ท.ฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ

กรมที่ดินบอกว่าสามารถเพิกถอนที่ดินเอกสารสิทธิได้ แต่มีกระบวนการที่ต้องให้ ร.ฟ.ท. ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต้องให้ความร่วมมือโดยส่งรูประวางแผนที่ไปให้ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ส่งไปให้กรมที่ดิน 2 ครั้ง แต่ทั้ง 2 รูประวางที่ส่งไปมีเนื้อที่ไม่ครบ อีกทั้งรูประวางปี 2531 กับปี 2539 ไม่ตรงกัน ตนไม่ทราบว่า ร.ฟ.ท.ที่รัฐมนตรีกำกับดูแล เจตนาส่งให้กรมที่ดินไม่ครบ หรือต้องการให้มีความล่าช้าทางเทคนิคหรือไม่อย่างไร จะได้ให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิช้ากว่าปกติ

โดยกรมที่ดินมีหนังสือวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เมื่อรูประวางไม่ตรงกับกรมที่ดิน ก็ขอให้ ร.ฟ.ท.จัดส่งผู้แทนไม่เกิน 6 คน เข้าเป็นคณะทำงาน 2 ชุด แต่กลับไม่มีการส่งผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ แถมยังไปฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครอง เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งการฟ้องต่อศาลปกครองใช้เวลานาน

การที่ท่านฟ้องศาลปกครองโดยไม่ส่งคณะกรรมการ 2 ชุด ส่อเจตนาว่าท่านกำลังปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และพวกพ้องให้นานที่สุด โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย แต่ท่านอย่าลืมว่ามีประมวลจริยธรรมคุ้มครองอยู่

นายกมลศักดิ์กล่าวว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 3564 อัยการบอกให้เพิกถอน ท่านก็ไม่ดำเนินการ จนทุกวันนี้ท่านก็ยังคงใช้ภูมิลำเนาอยู่ที่นั่น และเป็นที่ตั้งของ หจก.อีกหลายบริษัทในบริเวณนี้ ถ้าตรวจสอบทีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะพบว่าบริษัทต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับท่านทั้งนั้น โดยเฉพาะบริษัท ศ. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน 3466 ก็ตั้งอยู่ที่นั้น

รวมถึง หจก. บ. จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ศ. บริจาคเงินให้พรรคภูมิใจไทย 4.7 ล้านบาท ส่วน หจก. บ. บริจาค 4.8 ล้านบาท นี่คือความเกี่ยวโยงกันระหว่างรัฐมนตรีกับพวกพ้อง เพราะเช่นนี้หรือไม่ ท่านจึงไม่ดำเนินการเพิกถอน อีกคดีที่น่าสนใจคือคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินของนายเอ จำเลยในคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาปี 2561 แต่สังเกตว่าทำไมไม่มีการบังคับคดี

พอไปตรวจสอบข้อมูลยิ่งเห็นชัดว่านายเอ มีความสัมพันธ์กับรัฐมนตรี สะท้อนให้เห็นว่ารัฐมนตรีจึงไม่ดำเนินการใด ๆ กับที่ดินแปลงนี้ ในการฟ้องขับไล่ แตกต่างจากคดีอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับรัฐมนตรี คดีของนายเอที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตั้งแต่ปี 2561 รัฐมนตรีมารับตำแหน่งปี 2562 จนถึงปีนี้ 2565 เพิ่งจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อเดือน มิถุนายน 2565 ก่อนการอภิปรายจึงเหมือนแค่ขยับให้เห็น

จี้ทวงที่ดิน ร.ฟ.ท.คืนโดยเร็ว

นายกมลศักดิ์กล่าวว่า ดังนั้น ต้องทวงสิทธิ์เอาที่ดินของ ร.ฟ.ท.คืนโดยเร็ว แต่ทำไมท่านไม่เลือกวิธีที่เร็วที่สุด คือให้กรมที่ดินเพิกถอน แต่กลับใช้วิธีที่ยืดเยื้อที่สุด ซึ่งนายกฯปล่อยปละละเลยให้หน่วยงานของรัฐฟ้องร้องค่าเสียหายกันเอง ดังนั้น ขอให้ท่านเลิกใช้แท็กติก

แต่ขอให้มีความจริงใจกับทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน โดยท่านต้องแสดงสปิริตให้คนทั้งประเทศได้รับรู้ว่า ท่านก็อยู่ในมาตรฐานจริยธรรม ท่านต้องรีบเอาทรัพย์สมบัติของแผ่นดินคืน ปล่อยไว้แบบนี้ยิ่งกว่าที่ท่านเคยกล่าวหาพี่น้องใน 3 จังหวัดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน นี่คือการเอาแผ่นดินของประเทศมาเป็นของตัวเองโดยใช้กฎหมายอย่างแยบยล

“นายกฯในฐานะผู้นำรัฐบาลจะอ้างว่าไม่เกี่ยวไม่ได้ ทั้งหมดนี้ตนมองได้อย่างเดียวว่า ท่านละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รักษาผลประโยชน์พวกพ้องตัวเองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ จึงไม่อาจไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายกรัฐมนตรีให้บริหารราชการแผ่นดินอีกต่อไป” นายกมลศักดิ์กล่าว

11 ข้อ ไม่มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี

ต่อมานายทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายเป็นคนต่อมา โดยระบุว่า นายศักดิ์สยาม ไม่มีคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรี เพราะ 1.ยังคงไว้ซึ่งหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัท บ. โดยมีการซุกหุ้น 2.การขัดการแห่งผลประโยชน์ เอาห้างหุ้นส่วนเข้าทำสัญญากับรัฐ 3.มีความประพฤติและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไร้คุณธรรม จริยธรรม 4.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 5.พรรครับบริจาคเอกชน อันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงการบริหารราชการแผ่นดินและเศรษฐกิจ

6.ก้าวก่ายแทรกแซง เอื้อพวกพ้องและพรรคการเมือง 7.แสวงหาผลประโยชน์จากหน่วยงานที่ตัวเองกำกับดูแล 8.ใช้อำนาจเพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องมีส่วนได้รับประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ของรัฐ 9.บริหารราชการแผ่นดินโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติ 10.ละเว้นไม่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดจนเกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน และ 11.ไม่ดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เกิดการฮั้วประมูลงาน