รู้จัก ลาซาด้า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เสริมทัพอาลีบาบาในยุโรป

รู้จัก ลาซาด้า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ทำความรู้จัก “ลาซาด้า” แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ “อาลีบาบา” วางแผนให้ช่วยขยายการเติบโตในยุโรป ท่ามกลางมรสุม #แบนลาซาด้า ที่กำลังร้อนแรงในประเทศไทย

วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 กรณีการโปรโมตแคมเปญโฆษณา ลาซาด้า 5.5 ของ “นารา เครปกะเทย” ที่แสดงร่วมกับ หนูรัตน์ ธิดาพร ชาวคูเวียง ซึ่งรับบทคนนั่งรถเข็น จนเกิดกระแสวิจารณ์ว่าหมิ่นเหม่พาดพิงบุคคล และเป็นการล้อเลียนลักษณะทางร่างกายที่เกิดจากความเจ็บป่วย

ต่อมา สินค้าจำนวนมากต่างแบนการซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มนี้ รวมถึง 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งมีคำสั่งห้ามรถส่งสินค้าของลาซาด้าเข้าเขตทหาร

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมเรื่องราวของ “ลาซาด้า” ที่กำลังถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วถึงปัจจุบัน

รู้จัก “ลาซาด้า” ใต้ปีก “อาลีบาบา”

“ลาซาด้า กรุ๊ป” เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีสำนักงานใหญ่ในสิงคโปร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555

ต่อมา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีนอย่าง “อาลีบาบา” ที่ก่อตั้งโดย “แจ๊ค หม่า” มหาเศรษฐีโลกชาวจีน ได้เข้าซื้อหุ้นลาซาด้า 51% ด้วยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 ก่อนจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 83% โดยลงทุนเพิ่มอีก 1,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนมิถุนายน 2563

โดยเป้าหมายในการซื้อกิจการลาซาด้าของอาลีบาบา คือการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น และขยายการเติบโตนอกจีน

สะพัด ! อาลีบาบาอัดฉีดเงินเพิ่มให้ลาซาด้า

ฟอร์บส์รายงานเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมว่า ลาซาด้าได้รับเงินอัดฉีดอีก 378.5 ล้านดอลลาร์ จากการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับบริษัทแม่อย่าง “อาลีบาบา สิงคโปร์” ตามรายงานของดีลสตรีทเอเชีย ซึ่งระบุด้วยว่าการลงทุนครั้งนี้นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่อาลีบาบาลงทุน 1,300 ล้านดอลลาร์ในลาซาด้า เมื่อเดือนมิถุนายน 2563

ไม่นานมานี้ อาลีบาบาได้วางแผนขยายลาซาด้าไปยังยุโรปเพื่อเพิ่มการเติบโต เนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือดในจีน ตามรายงานของรอยเตอร์ส โดยปัจจุบันอาลีบาบามีแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ในยุโรปแล้ว ได้แก่ “อาลีเอ็กซ์เพรส” (AliExpress) ซึ่งดำเนินการขายข้ามพรมแดนจากจีน

อย่างไรก็ตาม ลาซาด้า ยังไม่ยืนยันอย่างเป็นทางการเรื่องการออกหุ้นเพิ่มใหม่ให้อาลีบาบา สิงคโปร์ แต่อย่างใด

หมัดต่อหมัด ลาซาด้า-ช้อปปี้

ลาซาด้าบันทึกยอดขายรวม (Gross Merchandise Value: GMV) ที่ 21,000 ล้านดอลลาร์ และมีผู้ใช้ 159 ล้านคนในช่วง 12 เดือน สิ้นสุด ณ เดือนกันยายน 2564 ขณะที่คู่แข่งอย่างช้อปปี้ (Shopee) ภายใต้บริษัท “ซี กรุ๊ป” (Sea Group) มียอดขายรวม 62,500 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

ลาซาด้า ที่เพิ่งเปิดตัวสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ในสิงคโปร์ มีการดำเนินการใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนช้อปปี้ดำเนินการใน 13 ประเทศ ซึ่งรวมถึงโปแลนด์ และสเปน นอกจากนี้ช้อปปี้ยังเคยเปิดให้บริการในฝรั่งเศส แต่ได้ถอนธุรกิจออกไปหลังทดลองตลาดได้ไม่กี่เดือน

อาลีบาบาตั้งเป้าจะเพิ่มยอดขายรวมของลาซาด้าเป็น 100,000 ล้านดอลลาร์ และเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 300 ล้านคนในปี 2573