2 CEO สิริวัฒนภักดี ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ เชื่อมแลนด์มาร์กระดับโลก

ฐาปน สิริวัฒนภักดี - วัลลภา ไตรโสรัส
ฐาปน สิริวัฒนภักดี - วัลลภา ไตรโสรัส

กล่าวกันว่า ตระกูลเจ้าสัว “สิริวัฒนภักดี” มหาเศรษฐีท็อปทรีของประเทศไทย ในฐานะเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีมูลค่านับแสน ๆ ล้านบาท ทั้งอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ค้าปลีก ประกัน อาหารและเครื่องดื่ม นอกจากจะเป็น “นักซื้อกิจการ” ตัวยงแล้ว

ล่าสุด กลุ่มทายาทสายเลือดพ่อแม่เดียวกันกำลังต่อยอด “เพิ่มมูลค่า” ธุรกิจในเครือ ด้วยการต่อจิ๊กซอว์เชื่อมบิ๊กโปรเจ็กต์ให้ครบวงจร ภายใต้เป้าหมายใหญ่ในการสร้างรายได้ระยะยาว นั่นคือ “ธุรกิจท่องเที่ยว”

ศูนย์สิริกิติ์-สวนป่าเบญจกิติ แรงส่งเบอร์ใหญ่

ท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอย เกิดข่าวร้ายข่าวลบในหน้าสื่อทุกวัน แต่อีกมุมช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ 3 งานติดต่อกันของธุรกิจเจ้าสัวค่ายนี้ เริ่มจากวันที่ 12 กันยายน 2565 ตระกูล “สิริวัฒนภักดี” ถือฤกษ์เปิด “ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์” โฉมใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมประเดิม 8 อีเวนต์ในระดับสากล ฉลองการเปิดตัวในเดือนแรก

การกลับมาของ “ศูนย์สิริกิติ์” หลังรีโนเวตครั้งใหญ่รอบนี้ ดูไม่ธรรมดา นอกจากจะขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 5 เท่าแล้ว ยังได้ปฏิวัติตัวเองในเรื่องของการดีไซน์ เน้นสวยงามอลังการ มีกลิ่นอายสากลผสมความเป็นไทย ตรงใจเจ้าของเงิน

ที่สำคัญ ยังเป็นจังหวะที่ “สวนป่าเบญจกิติ” สวนใหม่ใจกลางกรุงขนาด 300-450 ไร่ เปิดให้บริการพอดี ซึ่งสวนสาธารณะแห่งนี้ถือเป็นแม็กเนตของทุกสิ่งรอบด้าน เป็นแลนด์สเคปของการเปลี่ยนแปลง และสร้างมูลค่าให้กับคอนโดมิเนียม ย่านซีบีดี ทั้งทำเลรัชดาภิเษก พระรามสี่ อโศก และสุขุมวิท

แผน 30 ปีของการพัฒนาสวนเบญจกิติของกระทรวงการคลัง ถือว่า “คุ้มค่า” สมการรอคอย ในการสร้างพื้นที่ธรรมชาติแบบดิบ ๆ มีเส้นทางลัดเลาะในการเดินและวิ่งออกกำลังกาย เหลือเพียงการปรับปรุงอาคารที่จะแปรสภาพจากโกดังเก็บใบยาสูบของโรงงานยาสูบสู่การเป็นพิพิธภัณฑ์ในฝัน

“สวนป่าเบญจกิติ” จึงเป็นแรงส่งที่ทำให้ “ศูนย์สิริกิติ์” out standing ขึ้นมาทันที เช่นเดียวกับบิ๊กโปรเจ็กต์ “ศูนย์สิริกิติ์” ที่จะเป็น “แรงส่ง” ให้กับ MRT รถไฟฟ้าใต้ดินของ BEM บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ ของตระกูล “ตรีวิศวเวทย์” เพราะทราฟฟิกและปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว รวมทั้ง BTS รถไฟฟ้าสายสีเขียวด้วย

“ศูนย์สิริกิติ์” ใช้เงินลงทุนปรับปรุงไปประมาณ 15,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่โควิด-19 โจมตีเมืองไทยหนัก โดยมีพื้นที่ทำเงินมากถึง 3 แสนตารางเมตร คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการมากกว่า 13 ล้านคนต่อปี พร้อมตั้งเป้าทำรายได้ไว้ 2,000 ล้านบาทในปี 2566

งานยักษ์ระดับประเทศที่ตระกูลเจ้าสัวคาดหวังมาก และเป็นไปตามนั้น นั่นคือ การจัดงานเอเปคและเดินหน้าสู่อีเวนต์แพลตฟอร์มใหม่ระดับนานาชาติ

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

Soft Power ชูศิลปะระดับโลก

วันที่ 13 กันยายน 2565 “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ซีอีโอ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของตระกูล ปรากฏตัวในรอบปี และร่ายยาวถึงแรงบันดาลใจอย่างหมดเปลือกเป็นครั้งแรกบนเวที ประกาศความพร้อมการจัดงาน “Bangkok Art Biennale 2022” ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ย่านปทุมวัน

ทุกคำทุกประโยคของบิ๊กเบียร์ช้างมี “รอยยิ้ม” เต็มมุมปากตลอด 30-45 นาทีอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงเชียร์และการต้อนรับของผู้ใหญ่ในวงการศิลปะ อาทิ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานจัดงาน, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ที่มาร่วมงานเป็นคนแรก ฯลฯ งานนี้เป็นความร่วมมือกับ กทม., TCEB รวมถึงพันธมิตรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนหลากหลาย

ซึ่งแสดงถึง “พลัง” ของเจ้าภาพ และความน่าสนใจของงานที่มี 73 ศิลปิน 35 สัญชาติ นำผลงานมาโชว์กว่า 200 ชิ้น ในสถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ 12 แห่ง ตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2565-23 กุมภาพันธ์ 2566

“งานอาร์ตเป็นเรื่องของ soft power เรากำลังถามหาศิลปวัฒนธรรม มองมุมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เราจะเห็น culture value artistic value ท้ายที่สุดจะมีโอกาสเทิร์นเข้ามา หรือรับเข้ามาเป็น economic value”

หากลองเปรียบเทียบภาพที่เราคุ้นชินอย่างการฟ้อนรำ นุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ ถ้าสะท้อนในมุมเศรษฐกิจ เรามองความสวยงามในมิติที่เรียกว่า Artistic value เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเราจะมองให้ใกล้ขึ้น เพื่อพิจารณาความพิเศษและเอกลักษณ์

งาน Art Biennale พัฒนามาจากต้นทุนทางด้านวัฒนธรรม เหมือน Pleats Please ของ issey miyake ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการพับกระดาษออริกามิ ผมคิดว่าดีไซน์เขาอาจมีแรงบันดาลใจจากหลาย ๆ ที่ จะว่าคล้ายสไบบ้านเราก็ไม่น้อย ซึ่งงานผ้าก็สามารถสร้างมูลค่าได้หลายหมื่นล้าน

อีกตัวอย่างคือ จิตรกรรมฝาผนังก็เพิ่มมูลค่า เหมือน จิม ทอมป์สัน ที่นำภาพจิตรกรรมฝาผนังมาทำในเรื่องแพ็กเกจจิ้งและตัวโปรดักต์ดีไซน์ หรือ culture value ชุดโนราห์ที่ร้อยลูกปัดแล้วมาจำหน่ายขาย แม้ไม่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่เรามองความสวยงามที่ใกล้ขึ้นในเชิง artistic value สร้างสรรค์เป็นสินค้าได้หลากหลาย

ทางเรารู้สึกดีใจที่มีโอกาสทำงานและได้เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ร่วมสร้างสรรค์งานศิลปะ จะเห็นว่าหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ซึ่งเราได้เอางานศิลปะมากระตุ้นในเชิงความคิดและสะท้อนภาพในมุมเศรษฐกิจ

“ตัวผมมีโอกาสได้บวชเรียนที่วัดโพธิ์ ก็ได้รับความกรุณาจากวัดอนุญาตให้นำเอาผลงานศิลปะ modern contemporary art ที่สร้างโดยรัชกาลที่ 1 มาให้ความรู้พร้อมเรื่องราวมากมาย”

ปี 2022 พิเศษอย่างมาก ที่เราจะนำผลงานจากศิลปินทั่วโลกมาจัดแสดงที่หอศิลปฯ ดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าใจกลางเมือง พร้อมเพิ่มพื้นที่จัดแสดงงานแห่งใหม่ โดยประสานกับศูนย์สิริกิติ์ ที่เรียกว่า BAB box ซึ่งเป็นพื้นที่ใหม่ สิ่งสำคัญ ที่นี่จะเป็นที่จัดงานประชุม APEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยในเดือนพฤศจิกายนนี้

งานศิลปะจากศิลปินทั่วโลกจะมีโอกาสเข้าถึงสายตาของผู้ที่เดินทางมาประชุมในเรื่องความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ถือเป็นโอกาสดีที่จะเชื่อมโยงเรื่องของอาร์ตกับเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่เราภูมิใจ

CHAOS : CALM คือธีมปีนี้ที่สะท้อนเรื่องความโกลาหลวุ่นวายกับความสงบ เรียบ นิ่ง เป็นมิติที่แตกต่าง จากโควิด-19 ปี 2020 เราเห็นความวุ่นวายในใจของพวกเรา แต่พอมองท้องถนนที่ถูกล็อกดาวน์ บ้านเมืองที่วุ่นวายก็เงียบสงัดทันที สองมิติจึงเป็นสองเอ็กซ์ตรีมที่อยู่ด้วยกันได้ เหมือนมิติด้านเศรษฐกิจ การเมือง และความอยู่รอดของผู้คน

“ผมยอมรับเลยว่า ในหัวไม่มีความรู้ในเรื่องศิลปะ ผมดูไม่เป็น ตาไม่ถึง แต่ผมเชื่อในเรื่องแรงบันดาลใจและสามารถสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นยั่งยืนได้”

ทำให้ฐาปนตัดสินใจต่อสัญญาการจัดงาน Bangkok Art Biennale 2022 ไปอีก 3 ครั้ง จนถึงปี 2028 เท่ากับไทยเบฟฯสนับสนุนงานนี้ถึง 6 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพราะเขาเชื่อว่า คุณค่าของศิลปะและวัฒนธรรมจะมาพร้อมกับนักเดินทางทั่วโลก และทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยสัญจรสะดวกจาก BTS และ MRT

เพื่อการเป็น “เจ้าบ้าน” ที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยว สร้างความประทับใจและภาพลักษณ์ให้คนทั้งโลกจดจำว่า “กรุงเทพฯคือเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมระดับโลก”

วัลลภา ไตรโสรัส
วัลลภา ไตรโสรัส

AWC พลิกโฉม “เดอะ ล้ง 1919-ทรงวาด”

วันที่ 14 กันยายน 2565 ลูกสาวเจ้าสัว “วัลลภา ไตรโสรัส” ซีอีโอ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC ได้จัดงานเซ็นสัญญากับ Marriott International ลงทุนโครงการใหม่ โรงแรมเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน แบงค็อก เดอะ ริเวอร์ไซด์ พลิกโฉมพื้นที่ประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำที่ “เดอะ ล้ง 1919” เป็นแลนด์มาร์กด้านสุขภาพริมน้ำในระดับโลก ภายใต้แนวคิด “The River Journey” ที่ตระกูลเจ้าสัวได้เช่าเซ้งพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้นานถึง 64 ปี มาจากตระกูล “หวั่งหลี”

พร้อมประกาศเสริมว่า จะพัฒนาที่นี่พร้อมไปกับย่านทรงวาด ในไชน่าทาวน์เยาวราช เพื่อยกระดับกรุงเทพฯ สู่การเป็นจุดหมายปลายทางลักเซอรี่ระดับโลก


เทรนด์ธุรกิจจะเป็นไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร มีแลนด์มาร์กสำคัญ ๆ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนของไทยในอนาคต เพราะการโหยหากลิ่นอายความเก่าที่ล้ำค่า ทั้งศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และสถาปัตยกรรมที่แตกต่าง