ตุลาการผู้แถลงเสนอยกฟ้องคดีแอชตัน อโศก ลุ้นศาลปกครองสูงสุด 5 คนตัดสิน

แฟ้มภาพ

นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้อง รอตุลาการศาลปกครองสูงสุดเคาะชี้อนาคตแอชตัน อโศก

วันที่ 20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรกในวันนี้ โดยตุลาการผู้แถลงคดี ให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืน เพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร

ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบ คำอุทธรณ์ฟังขึ้น

ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี

ตุลาการผู้แถลงคดี ได้เสนอคำแถลงการณ์ ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งการให้ความเห็นในทางชี้ขาดตัดสินคดีต่อองค์คณะก่อนที่องค์คณะจะลงมติวินิจฉัย เปรียบเสมือนเป็นความเห็นของตุลาการนายเดียวว่า หากตนเองมีหน้าที่ตัดสินคดีเรื่องนั้นตนจะพิพากษาอย่างไร ด้วยเหตุผลประการใด

อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี

สำหรับคดีแอชตัน อโศก เป็นคดีระหว่างสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 16 คน ฟ้อง กรุงเทพมหานคร (กทม.) และการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยมีตัวแทนจาก บมจ.อนันดาฯ เป็นผู้ร้องสอด กรณีพิพาทหน่วยงานทางปกครองอนุมัติโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคาร หรือเปลี่ยนการใช้อาคาร โดยไม่ยื่นคําขอรับใบอนุญาตที่ออกให้แก่ผู้ร้องสอดโดยให้มีผลย้อนหลัง วันที่ออกหนังสือทุกฉบับในกรณีดังกล่าว

สำหรับตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้น ๆ

ในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นจะเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองในศาลปกครองชั้นต้นนั้น ซึ่งจะต้องแต่งตั้งจากศาลปกครองชั้นต้น

ประธานศาลปกครองจะเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการผู้แถลงคดีปกครองในศาลปกครองสูงสุด โดยจะแต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการศาลปกครองชั้นต้นได้

การมีตุลาการผู้แถลงคดีเพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และคำวินิจฉัยขององค์คณะอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกันในการวินิจฉัยคดี ระหว่างองค์คณะและตุลาการผู้แถลงคดี จะทำให้องค์คณะต้องใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดี และใช้อำนาจในการตัดสินคดีอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่องค์คณะไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ ก็จะต้องแสดงเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่า

แม้ว่าคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ใช่คำพิพากษา เพราะคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือเป็นคำพิพากษา แต่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองต้องพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีต่อสาธารณะด้วย