EEC พร้อมแล้ว! พื้นที่รองรับอนาคตใหม่ไทย ชี้ภายในปี66 ทุกอย่างฟูลออปชันสู่ไทยแลนด์ 4.0

งานสัมมนา 3 สมาคมวงการอสังหาริมทรัพย์ วันที่ 30 มกราคม 2561 นางพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิกาคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) บรรยายหัวข้อ “นโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับที่มีผลต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2561” สรุปดังนี้

นโยบายโปรโมต EEC เป็นการทำซ้ำพื้นที่อีสเทิร์นซีบอร์ด หากไทยไม่ทำอะไรจะเสียเปรียบการแข่งขันโดยเฉพาะประเทศจีน แนวคิดการพัฒนาเป็นกรอบพัฒนาพื้นที่ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นำเทคโนโลยีกับการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งนำ 10 อุตสาหกรรมพัฒนาสูง โดยทำในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเดิม

รอบนี้มีการพัฒนาเมืองทั้งเขตเมืองใหม่และเมืองเก่า ใน 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จำนวน 8 แผนงานด้วยกัน โดยโครงสร้างพื้นฐานเดิมดีอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ใช้เต็มที่ เช่น สนามบินอู่ตะเภา, รถไฟความเร็วสูงเดิมไม่ได้เชื่อมสามสนามบิน ต้องเชื่อมให้ใช้ประโยชน์เต็มที่มากขึ้น, กระทรวงวิทยฯ ทำเขตส่งเสริมดิจิตอล, เขตส่งเสริมการท่องเที่ยว, วันสต็อปเซอร์วิสภาครัฐ ฯลฯ

ในอนาคต เมื่อพัฒนาเต็มรูปแบบ มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ การทำงานมีคณะกรรมการนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีผู้บริหารหน่วยงานรัฐร่วมเป็นกรรมการ

สำหรับ 8 แผนงาน ได้แก่ ปี 2561 ภายในเดือนกรกฎาคมเป้าหมายมี 5+1 โครงการ คือ โครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ในระหว่างทางจอดเฉพาะสถานีใหญ่ ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภาเป็นเฟสแรก ที่เหลือเป็นเฟสถัดไป ตั้งเป้า 15 ปีรองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคน เปิดบริการในปี 2566 ตั้งเป้ารองรับก่อน 15 ล้านคน ซึ่งทำให้พื้นที่กลายเป็นเมืองใหญ่รองจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางจากอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ ประมาณ 1 ชั่วโมง

ในอนาคตคาดว่าการเดินทางของนักท่องเที่ยว คนไทย เปลี่ยนมาที่นี่มากขึ้น ตัวสนามบินซึ่งกองทัพเรือให้พืนที่เฟสแรก 6,500 ไร่ ได้นักออกแบบเมืองจากเจิ้นโจวเป็นที่ปรึกษา มีโรงแรม ที่อยู่อาศัย เขตฟรีโซน โรงพยาบาล

โครงการที่รับอนุมัติแล้วยังรวมถึงท่าเรือน้ำลึกเทียบกับรถไฟรางคู่ อนุมัติแล้ว ปัจจุบันรถไฟรางคู่ยังไม่ได้เข้าไปจอดในท่าเรือ ภายในปี 2566 จะมีรถไฟทางคู่จอดในท่าเรือ คาดลดต้นทุนขนส่ง 2 แสนล้านบาท และเปลี่ยนโหมดจากขนส่งทางรถบรรทุกมาขนส่งทางเรือมากขึ้น ทำให้การจราจรดีขึ้น โดยอนุกรรมการมีข้อเสนอชักชวนเอกชนร่วมลงทุนจาก 40 เดือน เหลือ 10 เดือนในด้านขั้นตอนการทำงาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้เอกชน

โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว 6 โครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงคาดเดือนกุมภาพันธ์เปิดยื่นซองทีโออาร์ และในเดือนกรกฎาคมได้ตัวผู้ลงทุน เปิดบริการปี 2566

นอกจากนี้ สนามบินอู่ตะเภา เปิดบริการเต็มเฟส มีศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยการบินไทยร่วมลงทุนกับแอร์บัส , ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด ส่วนวงเงินอนุมัติต้องรออีกขั้นตอนจนกว่าเอกชนเข้าร่วมประมูล

ในส่วนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่มมีศักยภาพเดิม กับ 5 กลุ่มที่มีศักยภาพใหม่ เช่น โรบอท, อุตสหากรรมชิ้นส่วนยานบิน มีความต้องการชิ้นส่วนอีกจำนวนมาก เป็นการลงทุนระดับอาเซียนโดยพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอาเซียน, อุตสาหกรรมการแพทย์ เชื้อเพลิงชีวภาพ เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิตอล นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ

ตัวเลขด้านการลงทุน ปี 2560 ได้ 2.96 แสนล้านบาท เกินเป้าหมาย ปีนี้ทางสำนักงานส่งเสริมการลงทุนเตรียมตั้งเป้าหมายใหม่ โดยสัดส่วน 84% การลงทุนกระจุกอยู่ในพื้นที่ EEC ปัจจุบันมีการยื่นขอรับการส่งเสริมลงทุน ทำให้เขตนวัตกรรมกับเขตดิจิตอลแผนแม่บทได้รับงบสนับสนุนบางส่วนแล้ว โดยเขตดิจิตอลทำที่ศรีราชา กับเขตนวัตกรรมทำที่ระยอง

และวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ เตรียมนำแผนพัฒนาการท่องเที่ยว 3 จังหวัดเข้าที่ประชุมที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นอกจากมีแหล่งท่องเที่ยว ยังมีอาหารอร่อย ที่มีข้อเสนอพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และเชื่อมโยงสถานที่ใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมา

อีกเรื่องสำคัญคือเรื่องการศึกษา มีงานทำต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ยังทำไม่จบ การพัฒนา EEC ทำให้มีความต้องการนักวิชาชีพจำนวนมาก อาทิ นักบัญชี วิศวกร ฯลฯ การเตรียมคนเหล่านี้ต้องปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงไอซีที และอาชีวศึกษา ดูความต้องการเป็นตัวหลัก ตามแผนจะมีการให้ทุนการศึกษา 500 ทุน จัดระบบการเรียนการสอนสองภาษา มีแคมป์วิทยาศาสตร์ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มีการนำเข้าครูจากต่างประเทศโดยใช้ ม.44 ให้สามารถจัดทำได้ง่ายขึ้น

ส่วนเรื่องที่ได้เตรียมการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ จากสถานะปัจจุบันสามารถรองรับได้ถึงปี 2569 ล่าสุดได้รับมอบหมายให้กลับไปดูให้มีน้ำใช้ในระยะยาว, ด้านไฟฟ้า ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ยกระดับไฟฟ้าให้เพียงพอ

นางพจณีกล่าวถึงการพัฒนาเมืองใหม่ด้วยว่า อยู่ระหว่างศึกษาว่าต้องมีกี่เมืองใหม่ โดยกรมโยธาฯ ศึกษาเบื้องต้นมี 11 เมืองเก่าและใหม่ เมื่อจัดลำดับความสำคัญ ฉะเชิงเทราเป็นที่อยู่อาศัยรองรับความเติบโตให้กับคนทำงานในสามจังหวัด, ชลบุรี ศูนย์บริการการเงินและธุรกิจการเงิน เมืองการบินในทำเลใกล้สนามบินอู่ตะเภา, ระยองเป็นเมืองวิจัยและพัฒนา เมืองการศึกษา เพราะมีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่หลายแห่ง

สุดท้าย ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ในด้านที่ดินไม่ได้นำมาใช้ทำนิคมอุตสาหกรรมมากมาย แต่เจ้าของที่ดินก็สามารถขายที่ดินได้มากขึ้น ราคาปรับขึ้น​ , การเดินทางไปมาสะดวกมากขึ้น, มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น, การจราจรภายในปี 2566 ปรับตัวดีขึ้น, การทำงานด้วยเทคโนโลยีคาดว่าใช้แรงงานคนน้อยลง, ระบบการเรียนเป็นแบบสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นตัวแบบในการพัฒนาบุคลากรของประเทศไทยในอนาคต คาดว่ามีระบบอาชีวศึกษาแบบใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและดิจิตอลที่เข้มแข็ง