ครึ่งทางโปรเจ็กต์ “รัฐสภาใหม่” ยิ่งสร้าง ยิ่งช้า งบยิ่งบาน

 

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย ประเสริฐ จารึก

 

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า “เมกะโปรเจ็กต์ 1.2 หมื่นล้าน” อาคารรัฐสภา อาณาจักร 123 ไร่ย่านเกียกกาย บ้านหลังใหม่ของสภาผู้แทนราษฎร

หลัง “สรศักดิ์ เพียรเวช” เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกมาระบุผู้รับเหมาก่อสร้างปรับลดงานอาคารจอดรถ จาก 3,000 คัน เหลือ 2,000 คัน

ทำให้ “ภาคภูมิ ศรีชำนิ” เอ็มดี “ซิโน-ไทยฯ” ผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการ ถึงกับควันออกหู สวนกลับในทันที

“ยืนยันไม่มีการปรับแบบ ยังคงยึดรูปแบบเดิมตามที่เซ็นสัญญาไว้”

พร้อมสำทับ “หากมีการให้ข่าวที่ส่งผลร้ายกับบริษัท อาจจะมีการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”

ขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงต้นตอของปัญหาที่ฉุดให้โครงการล่าช้า จนรับเหมาโครงการตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนต้องขอขยายเวลามาแล้วหลายครั้งหลายครา

เกิดจากมีข้อผิดพลาดตั้งแต่การส่งมอบพื้นที่จากรัฐสภาที่ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด

อีกทั้งระหว่างดำเนินการพบปัญหาไม่มีที่ทิ้งดินที่ขุดขึ้นมากว่า 1 ล้านคิว

หากเป็นไปตามสัญญาการก่อสร้าง จากที่เริ่มงานเมื่อเดือน มิ.ย. 2556 จะแล้วเสร็จในปี 2559

“เอ็มดี ซิโน-ไทยฯ” ย้ำว่า จากปัญหาทำให้บริษัทต้องเสียเวลาดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 ปี สร้างความเสียหายให้บริษัท จากภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าแรงและราคาวัสดุก่อสร้าง

“บริษัทกำลังพิจารณาจะส่งหนังสือชี้แจงรัฐสภา ขอความช่วยเหลือจากปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ไม่ใช่ความรับผิดชอบของบริษัท แต่เป็นส่วนของการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า จนทำให้การทำงานจากเดิม 900 วัน เป็น 2,400 วัน (6 ปี 5 เดือน)”

ปัจจุบันโครงการคืบหน้าประมาณ 50% จะเร่งสร้างให้เสร็จตามสัญญาใหม่ในปี 2562 สิ้นปีนี้จะเร่งอาคารบางส่วนให้เสร็จ เพื่อให้ข้าราชการและสมาชิกสภาได้เข้ามาทำงาน

ว่ากันว่า…โปรเจ็กต์นี้ “ซิโน-ไทยฯ” ได้แต่กล่องสร้างชื่อ เพราะเจ๊กอั้กเข้าเนื้อไปหลายพันล้านบาท

ดูจากผลรายได้รวมปี 2560 ที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ขาดทุนสุทธิ 611 ล้านบาท จากปี 2559 มีกำไรสุทธิ 1,381 ล้านบาท

สาเหตุจากต้นทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากการสำรองผลขาดทุนและขยายเวลางานก่อสร้างของโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เนื่องจากปัญหาส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างของเจ้าของโครงการ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ ตอนนี้กำลังลุ้นจะขอค่าชดเชยจากรัฐสภา ซึ่งยังไม่รู้จะได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่มหากาพย์งานก่อสร้างกำลังได้รับการสะสาง กำลังมีปมปัญหาใหม่เกิดขึ้น หลังมีการออกมาขย่ม “รัฐสภา” ที่กำลังขอจัดสรรงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี 8,658 ล้านบาท ติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและส่วนที่เกี่ยวข้องในโครงการอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่แยกออกมาจากงานก่อสร้าง ด้วยเม็ดเงินปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 3,586 ล้านบาท ถึง 5,072 ล้านบาท อีกทั้งยังใช้ “วิธีพิเศษ” คัดเลือก โดยส่งจดหมายเชิญชวนไปยังบริษัทเอกชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด จึงยิ่งทำให้โครงการนี้เป็นที่จับตามากยิ่งขึ้น !

“โชติจุฑา อาจสอน” กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา CAMA แจกแจงว่า ระบบไอทีเดิมศึกษาไว้เมื่อปี 2553 ไม่ทันสมัย ในปี 2557 จึงจ้าง “เมอร์ลินส์ โซลูชั่นส์ อินเตอร์แนชั่นนัล” ออกแบบใหม่ เป็นงานส่วนเพิ่มเติมจากงานเดิมที่ตัดออกไป แยกเป็นงานระบบรักษาความปลอดภัย 586 ล้านบาท ระบบไอซีที 2,759 ล้านบาท เช่น ระบบเครือข่ายสื่อสาร 815 ล้านบาท เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย และซอฟต์แวร์สนับสนุน 1,448 ล้านบาท

เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย พร้อมอุปกรณ์ต่อพ่วงและโทรทัศน์ 324 ล้านบาท และระบบสารสนเทศ 170 ล้านบาท

ยังมีงานระบบที่ไม่ใช่ส่วนของไอที คือระบบไฟฟ้า 276 ล้านบาท งานรักษาความปลอดภัยในอาคาร 178 ล้านบาท งานประกอบอาคาร 594 ล้านบาท งานจัดสร้างศูนย์ข้อมูลหลัก สำรอง 895 ล้านบาท และงานโสตฯอีก 2,244 ล้านบาท

เมื่อเงินก้อนใหม่ยังไม่มาตามนัด ต้องลุ้นจะกระทบต่อแผนเปิดใช้อาคารใหม่ของรัฐสภาไปอีกกี่เดือนกี่ปี