เป็นทั้งมหากาพย์ และวิบากกรรม ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกราย กรณีคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21”
หลังจากศาลปกครองสูงสุด มีคำตัดสินให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ โดยให้มีผลย้อนหลัง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 กล่าวได้ว่าเป็นช่วงชุลมุนฝุ่นตลบ ปัญหาใหญ่อยู่ที่คดีความที่ฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ กำลังมีผลกระทบมหาศาลถึงประชาชน และผู้ประกอบการเจ้าของโครงการ (บริษัทร่วมทุน คนไทย 51% ญี่ปุ่น 49%)
รฟม.ชี้แจงข้อเท็จจริง
มีกรณีที่อาจจะดูค้านสายตาไปบ้าง ที่อยู่ ๆ มีหนังสือชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ระบุเคยมีคำวินิจฉัยไปแล้วในปี 2563 ตามที่ รฟม.เคยขอปรึกษาหารือเข้ามา
ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นคดีสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับวงการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่ต้องขอเชื่อมทางผ่านเข้า-ออกบนที่ดินเวนคืนของหน่วยงานรัฐ โลกโซเชียลจึงกระหึ่มไปด้วยข้อมูลสารพัดสารพัน ทำให้ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” (ผู้ออกใบอนุญาตผ่านทางให้แอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557) ส่งข่าวแจกฉบับที่ 33/2566 เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ตอบคำถามทั้งโลกโซเชียล และประเด็นสำนักงานกฤษฎีกา
หัวข้อ “รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีไม่มีการเผยแพร่คำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน” ความว่า
ตามที่มีสำนักข่าวได้นำเสนอประเด็นที่มีคำวินิจฉัยของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับการอนุญาตให้บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ชื่อเดิม) ใช้ที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่าน โดยที่ รฟม. ไม่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน นั้น
สืบเนื่องจากในปี 2557 รฟม. ได้อนุญาตให้ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ทู จำกัด (ชื่อเดิม) ผ่านที่ดินของ รฟม. บริเวณลานจอดรถสถานีสุขุมวิท โครงการรถไฟฟ้ามหานคร
เป็นทางผ่านสู่ถนนอโศกมนตรี ต่อมาในปี 2559 และ 2560 ได้มีการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองเกี่ยวกับทางผ่านบริเวณดังกล่าวรวม 2 คดี
ซึ่งขณะที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนั้น รฟม. ได้รับการประสานงานจากองค์กรอิสระ ให้ รฟม. หารือเรื่องการอนุญาตให้บริษัท อนันดาฯ ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อเรื่องดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมทั้งแจ้งผลการหารือให้ รฟม. ทราบ และ รฟม. ได้นำผลการหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวแจ้งกลับไปยังองค์กรอิสระแล้ว
ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า รฟม. มิได้มีเจตนาปกปิด หรือเพิกเฉยต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่อย่างใด ประกอบกับคดีความทั้ง 2 คดีข้างต้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งศาลยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ รฟม. ต้องปฏิบัติตามเป็นอย่างไร ดังนั้น รฟม. จึงจำเป็นต้องรอคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคดีเกี่ยวกับทางผ่านดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว จำนวน 1 คดี โดยให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ ของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 4 ฉบับ
โดยศาลมิได้เพิกถอนประกาศกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. และใบอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม. เป็นทางผ่านดังกล่าวแต่อย่างใด
เจ้าของร่วมฟ้องรักษาสิทธิ
อีกกรณีมาจากฝั่งเจ้าของร่วม หรือเจ้าของห้องชุด แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ที่รับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยแล้ว 668 ห้องชุด
โดยวันที่ 3 สิงหาคม 2566 อาศัยเวทีของกรุงเทพมหานคร (กทม.) หน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้แอชตัน อโศก จัดแถลงข่าวเป็นครั้งแรก หลักใหญ่ใจความน้อมรับคำสั่งศาลในการเพิกถอนเอกสารขออนุญาตก่อสร้างเดิม และเปิดให้มีการขออนุญาตก่อสร้างใหม่
ทางตัวแทนเจ้าของร่วม หรือเจ้าของห้องชุด แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 ได้ยื่นหนังสือถึง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการ กทม. เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีแอชตัน อโศก
ในทางนิติกรรม ต้องบอกว่าเจ้าของห้องชุดหากต้องการรักษาสิทธิตามกฎหมาย ก็ต้องมีการฟ้องเจ้าของโครงการ เรียกว่าเป็นการปฏิบัติ “ตามน้ำ” ไปก่อน โดยตัวแทนคือ “ทนายความพิสุทธ์ รักวงษ์” ให้ข่าวว่า ขอเรียกร้องบริษัท อนันดาฯ แสดงความจริงใจในการเข้ามาร่วมประชุมกับตัวแทนนิติบุคคลภายใน 7 วัน ถ้าไม่มา มีความจำเป็นต้องฟ้องร้องต่อไป ประเด็นฟ้องร้องจะฟ้องคดีแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหาย 5,000 กว่าล้านบาท
ทำซ้ำกฎหมาย EIA-ก่อสร้าง
ทั้งนี้ การฟ้องคดีแพ่งระหว่างเจ้าของห้องชุดกับบริษัท อนันดาฯ ในทางหนึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปลายเหตุ
แต่ยังมีเรื่องต้นเหตุที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมแรงอย่างแข็งขันของ “เจ้าของโครงการ” กับ “ผู้บริโภค” ที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างในครั้งนี้
เพราะผลโดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างฯ แบบมีผลย้อนหลังนั้น ทาง กทม. หน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตก่อสร้าง จะต้องมีการเพิกถอนใบเดิมก่อน จากนั้นเปิดให้ยื่นขออนุญาตใหม่ได้
ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนจะจบที่แอชตัน อโศก ไปหาทางเข้า-ออกโครงการ ให้มีถนนกว้าง 12 เมตร แล้วยื่นขอใหม่กับ กทม.ได้เลย
แต่ชีวิตจริง ขั้นตอนราชการ การยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ จำเป็นต้องยื่นขอใบอนุญาตพร้อมกันเป็น 2 ใบ นั่นคือ 1.รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (ซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว และไม่ได้เป็นประเด็นสั่งให้เพิกถอนของศาลปกครอง) กับ 2.ใบอนุญาตก่อสร้างใหม่
ข้อกฎหมาย ถ้าเคลียร์รันเวย์ได้เร็ว โอกาสเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ย่อมเร็วขึ้นเป็นเงาตามตัว ในกรณีนี้ ทางตัวแทนเจ้าของห้องชุดถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว พิจารณาจากหนังสือที่ยื่นถึง กทม. สรุปสาระสำคัญ คือ
1.เจ้าของร่วมในโครงการอาคารชุด แอชตัน อโศก ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดมาโดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผลกระทบของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงร้องขอความเป็นธรรมมายังท่านผู้ว่าราชการ กทม. เพื่อให้ท่านจัดหามาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง ที่จะไม่ต้องทำให้เจ้าของร่วมในโครงการอาคารชุด แอชตัน อโศก ได้รับความเดือดร้อนเสียหายเกินควร
2.นิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก และเจ้าของร่วมทุกคน ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ในรูปแบบการตั้งคณะทำงานร่วมกับ กทม. โดยนิติบุคคลยินดีที่จะส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นคณะทำงาน
เพื่อแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกรณีอาคารชุด แอชตัน อโศก ให้ถูกกฎหมายต่อไป
- อาฟเตอร์ช็อก แอชตัน อโศก สมาคมคอนโดจี้รัฐแก้กฎหมายเวนคืน
- ชัชชาติ เปิดใจครั้งแรก บทเรียนใหญ่ “แอชตัน อโศก” ต้องได้ข้อสรุป
- แอชตัน อโศก : อนันดาฯ เปิดโซลูชั่น 5 ข้อ ผ่าทางตันไม่ต้องทุบทิ้ง
- เปิดกฎหมาย รฟม.ปี 2556 แอชตัน อโศก ขออนุญาตผ่านทางถูกต้อง 100%
- คดีบรรทัดฐาน แอชตัน อโศก ปมที่ดินเวนคืน รฟม.-สั่งทุบทิ้งหลังโอนแล้ว 4 ปี