เปิดกฎหมาย รฟม.ปี 2556 แอชตัน อโศก ขออนุญาตผ่านทางถูกต้อง 100%

แอชตัน อโศก
แอชตัน อโศก

ส่องกฎหมาย รฟม. ตรวจสอบการนำที่ดินเวนคืนมาอนุญาตให้ใช้ผ่านทาง หรือใช้เชื่อมทางเข้า-ออกโครงการเอกชน ทำได้หรือไม่ พบมีอำนาจอนุญาตตามประกาศ รฟม.ปี 2556 “ธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่” ขอผ่านทาง-ขอขยายทางเพิ่มเติม ทำได้ถูกต้องตามที่กฎหมายแม่ให้อำนาจไว้

วันที่ 2 สิงหาคม 2566 แหล่งข่าวอดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ปี 2557 ซึ่งเป็นชุดที่อนุมัติใบอนุญาตผ่านทาง โดยขยายทางจำเป็นเดิมกว้าง 6.4 เมตร เพิ่มความกว้างถนนเป็น 13 เมตร ให้กับแอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลักการใหญ่คือ ที่ดิน รฟม.เป็นที่ดินเวนคืนทั้งสิ้น  

ในการเวนคืนมีการเวนคืนเผื่อเหลือเผื่อขาด ทำให้เจ้าของเดิมที่ถูกเวนคืนอาจทำให้เป็นที่ดินตาบอด หรือที่ดินแปลงติดกันไม่สามารถผ่านเข้า-ออกแปลงที่ดินได้สะดวก 

จึงเปิดให้เจ้าของที่ดินหรือผู้รับมอบอำนาจ สามารถยื่นขอใบอนุญาตผ่านทาง หรือเชื่อมทางเข้า-ออกได้ทุกราย ถ้าเข้าเงื่อนไขมีที่ดินติดกับที่ดินเวนคืน รฟม. เป็นสิทธิ์เจ้าของที่ดินมาขอเชื่อมทางได้

ทั้งนี้ รฟม. มีกฎหมายลูกคือ “ประกาศ รฟม. เรื่องกำหนดประเภทการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของ รฟม.เป็นทางผ่าน” ฉบับลงนามวันที่ 26 กันยายน 2556 โดย “ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล” ผู้ว่าการ รฟม. ในขณะนั้น 

บทบัญญัติมี 3 หมวด 15 ข้อ โดยสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตผ่านทางให้โครงการแอชตัน อโศก มีดังนี้

ข้อ 4 กำหนดนิยามผู้มีสิทธิ์ขออนุญาต มีประเภท “ธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่” (หรือคอนโดมิเนียม)

ข้อ 5 กำหนดเรื่องค่าตอบแทนเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่

ข้อ 7 กำหนดธุรกิจที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่ขออนุญาตผ่านทาง เรียกเก็บค่าตอบแทนครั้งเดียว (ธุรกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ จ่ายรายปี ปรับทุก 3 ปี) 

ข้อ 9.1 กรณีอนุญาตผ่านทางความกว้างไม่เกิน 4 เมตร ไม่เรียกเก็บค่าตอบแทน แต่ถ้าถนนกว้างเกิน 4 เมตร จะมีการเรียกเก็บค่าตอบแทน 

และ ข้อ 11 “การขออนุญาตผ่านที่ดินของ รฟม.ให้มีขนาดกว้างเพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่ รฟม.ได้อนุญาตให้ผ่านที่ดินแล้ว ให้ รฟม.อนุญาตตามความจำเป็น โดยให้คิดค่าตอบแทนสำหรับความกว้างของที่ดินที่ขออนุญาตส่วนที่เพิ่มขึ้น ในอัตราตามที่กำหนด”

หากพิจารณาตามประกาศ รฟม. หรือจะเรียกว่า กฎหมายลูกของ รฟม. การนำที่ดินเวนคืนมาเปิดให้ขออนุญาตผ่านทาง หรือเชื่อมทางเข้า-ออกโครงการ สามารถทำได้โดยถูกต้อง ตามที่กฎหมายลูก รฟม. ให้อำนาจไว้ 

แอชตัน อโศก

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับประกาศ รฟม. เรื่องเดียวกัน มีการปรับปรุงอีก 2 ครั้ง แบ่งเป็นฉบับลงนาม วันที่ 8 ธันวาคม 2557 โดยนายรณชิต แย้มสอาด ผู้ว่าการ รฟม. ในขณะนั้น 

และล่าสุด ประกาศ รฟม. ฉบับลงนามวันที่ 10 มีนาคม 2565 โดย “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม.คนปัจจุบัน

ซึ่งประกาศ รฟม.ทุกฉบับ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาตขอผ่านทางโดยโครงการเอกชน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ขออนุญาตผ่านทางคล้ายๆ กัน 

มีข้อแตกต่างในเรื่องการปรับปรุงเพิ่มเติมรายละเอียด ในขั้นตอนการปฏิบัติ เพราะวัตถุประสงค์หลักของ ประกาศ รฟม. จัดให้มีขึ้นเพื่อให้มีสูตรคำนวณในการเรียกเก็บค่าตอบแทน 

กรณีเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีการอนุญาตให้ผ่านทาง ที่มีขนาดความกว้างของทางผ่านเกิน 4 เมตรขึ้นไป จะมีการเรียกเก็บค่าตอบแทน

ในขณะที่การอนุญาตผ่านทาง ที่มีขนาดความกว้างของทางผ่านไม่เกิน 4 เมตร ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือไม่มีการเรียกเก็บค่าตอบแทนแต่อย่างใด

โดยโครงการแอชตัน อโศก ได้รับใบอนุญาตผ่านทางจาก รฟม. ขนาดความกว้างทางผ่าน 13 เมตร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557