แอชตัน อโศก : ข่าวดี ไม่ต้องทุบทิ้ง กทม.เปิดช่องแก้ไข เพื่อให้มีใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้

แอชตัน อโศก
แอชตัน อโศก

หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ในการสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแบรนด์ “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา สร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าของห้องชุด 668 ห้องที่โอนกรรมสิทธิ์และเข้าอยู่อาศัยไม่ต่ำกว่า 4 ปีมาแล้ว

ล่าสุดทาง กทม.เผย น้อมรับคำสั่งศาลปกครอง เตรียมสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยทำทางผ่านเข้า-ออกให้ถูกต้องต่อไป

กทม.น้อมรับคำสั่งศาลปกครองฯ

วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลสำนักการโยธา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเด็นแอชตัน อโศก ที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นเวลายาวนาน โดยผู้ว่าฯ กทม. (ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้สั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ 

สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้นในกรุงเทพฯ) ในการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดฯ แอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังนั้น ขอให้รอผู้ว่าฯ ชัชชาติเป็นผู้แถลงรายละเอียด ซึ่งกำหนดแถลงข่าววันพฤหัสฯ 3 สิงหาคมนี้

รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล

“คดีแอชตัน อโศก ขอเวลาให้ทีมกฎหมายของกรุงเทพมหานครพิจารณารายละเอียด ตามคำพิพากษาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง เนื่องจากมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน”

ในเบื้องต้น จากการพูดคุยกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ทาง กทม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่เพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดฯ แอชตัน อโศก

ขั้นตอนหลังจากนี้ กทม. โดยสำนักงานเขตวัฒนา ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เตรียมส่งหนังสือถึง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 51% กับบริษัท ซีอินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด ที่เป็นบริษัทในเครือบริษัท มิตซุย ฟูโดซัง จำกัด ยักษ์อสังหาริมทรัพย์ติดอันดับท็อป 3 จากประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 49%) เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ในการออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้อง

 

เปิดช่องให้มีใบอนุญาตก่อสร้างใหม่

อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าคอนโดฯ แอชตัน อโศก จะต้องมีการรื้อถอนอาคาร โดยยังมีแนวทางบริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการ สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักงานเขตวัฒนา

โดยมีสาระสำคัญในการยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างอีกครั้ง บริษัทจะต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง ซึ่งก็คือเพิ่มทางเข้า-ออกโครงการให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร และอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด

หากบริษัทเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกแล้วเสร็จ ก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้

“คดีแอชตัน อโศก ขอเวลาให้ทีมกฎหมายของกรุงเทพมหานครพิจารณารายละเอียด ตามคำพิพากษาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง เนื่องจากมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน” 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ บริษัทอนันดาฯ กำลังพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาหลายแนวทาง รวมถึงแนวทางปรับปรุงแก้ไขทางเข้า-ออกโครงการ เพื่อให้โครงการแอชตัน อโศก ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารต่อไป


668 ห้องชุดโอน+เข้าอยู่แล้ว 5 ปี

ทั้งนี้ ผลกระทบคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ที่มีต่อผู้บริโภค ในฐานะเจ้าของห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 นั้น

“ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวชี้แจงว่า รายละเอียดแอชตัน อโศก มีห้องชุดรวม 783 ยูนิต ปัจจุบันลูกค้ารับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 668 ห้อง จำนวน 580 ครอบครัว ซึ่งทยอยรับโอนตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

คิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น คำนวณจากห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก 783 ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ส่งมอบไปแล้ว 668 ยูนิต มูลค่า 5,653 ล้านบาท แบ่งเป็นลูกค้าคนไทย 438 ราย ลูกค้าต่างชาติ 142 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก

โดยมีมูลค่าคงเหลือ (ห้องชุดรอขาย) 828 ล้านบาท จึงคิดเป็นความเสียหายในแอสเสตที่อนันดาฯ ถือหุ้นมีอยู่เพียง 250-300 ล้านบาทเท่านั้น หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสต๊อกในโครงการ เนื่องจากแอชตัน อโศก พัฒนาโครงการโดยบริษัทร่วมทุน “อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย” ที่มีอนันดาฯ ถือหุ้น 51% บริษัท ซีอินเวสเม้นท์ ไฟว์ ไพรเวท ลิมิเต็ด 49%

 

แอชตัน อโศก

 

ส่องคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด

สำหรับคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด ทาง “ดร.พีท พีรภัทร” ทนายความและนักวางแผนการเงิน CFP โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

คดีแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ทางกลุ่มนายศรีสุวรรณ จรรยา 16 คน ในนามสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางในปี 2559 โดยฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ราย

ได้แก่ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา, ผู้อำนวยการสำนักการโยธา, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ผู้ว่าการ รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน (คชก.)

โดยมี บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด เป็นผู้ร้องสอด

โดยฟ้อง 5 ข้อ 1.ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯแอชตัน อโศก 2.เพิกถอนมติของ คชก. ที่เห็นชอบ EIA ไม่ถูกต้อง 3.ให้นำทางเข้าออกคอนโดฯที่ให้อนันดาเช่ากลับมาเป็นทางสาธารณประโยชน์ดังเดิม 4.เพิกถอนการเช่าที่ระหว่าง รฟม.กับอนันดา 5.เพิกถอนประกาศ รฟม.เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินของ รฟม. เนื่องจากเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อวินิจฉัยทั้ง 5 ประเด็นแล้ว ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์ก่อสร้างที่ออกให้อนันดา (ยผ.4) โดยให้มีผลย้อนหลัง

ล่าสุดคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด โดยที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยว่า คอนโดฯแอชตัน อโศก ไม่มีที่ด้านใดด้านหนึ่งยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนอโศกมนตรี ประเด็นปัญหา การขออนุญาตใช้ที่กับ รฟม.นั้นไม่ถูกต้องใน 2 ประเด็น

“1.วัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดินของ รฟม.” ตุลาการศาลปกครองเสียงข้างมาก มองว่าที่ดินที่นำมาเป็นทางเข้าออกตึก ซึ่งเช่ามาจาก รฟม.นั้น รฟม.ได้มาจากการเวนคืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างทางพิเศษตามโครงการรถไฟฟ้ามหานครระยะแรก การที่นำที่ดินที่เวนคืนมาให้เช่าเป็นทางเข้าออกตึกเป็นการผิดวัตถุประสงค์การเวนคืน

ขณะที่ตุลาการศาลปกครองเสียงข้างน้อยมองว่า การขออนุญาตใช้ที่ดินดังกล่าว นอกจากจะเป็นทางเข้าออกคอนโดฯแล้ว ทางตรงนั้นยังสามารถใช้เป็นทางเข้าออกลานจอดรถสถานีสุขุมวิทด้วย จึงยังเป็นไปตามวัตถุประสงค์การเวนคืนอยู่ ไม่ได้ทำให้สาระสำคัญของการเวนคืนเสียไป

“2.เงื่อนไขในการขออนุญาตใช้ที่ระหว่าง รฟม.กับอนันดาฯ” ตุลาการเสียงข้างมากมองว่า ในการขออนุญาตใช้ที่ดินกับ รฟม.นั้น รฟม.ได้มีการระบุเงื่อนไขว่า รฟม.ขอสงวนสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขตำแหน่งที่ดิน ลดขนาดที่ดินได้

ทำให้ทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะดังกล่าวนั้นมีความไม่แน่นอน เกิดวันไหน รฟม.ลดขนาดที่ดินที่ให้ใช้แล้วทำให้ความกว้างจาก 13 เมตร ลดเหลือน้อยกว่า 12 เมตร ทางเข้าออกก็จะแคบกว่าที่กฎหมายกำหนด หากเกิดภัยพิบัติแล้ว รถดับเพลิงเข้าออกไม่สะดวก ก็จะมีความเสียหายตามมา

ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อยมี 2 ความเห็น โดยความเห็นแรกมองว่า การขออนุญาตนั้นหากไปทำตามขั้นตอนให้ถูกต้อง ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือลดขนาด การอนุญาตให้ใช้ที่นั้นก็จะยาก ไม่ได้ทำได้โดยง่าย

ดังนั้น การที่ตกลงให้ใช้ที่ดังกล่าวทำให้คอนโดฯแอชตัน อโศกมีทางเข้าออกติดถนนอโศกมนตรีตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว จึงเสนอว่าถ้า รฟม.เอาไปเข้า ครม. ให้เห็นชอบใน 270 วัน ก็จะทำให้การออกการเพิกถอนใบรับแจ้งก่อสร้างของศาลปกครองสิ้นผลไป แต่ถ้า ครม.ไม่เห็นชอบก็จะการเพิกถอนคำสั่งอนุญาตมีผลต่อไป

ความเห็นที่สอง มองว่าการอนุญาตให้ใช้ที่โดยได้ค่าตอบแทน 97.6 ล้านบาทนั้น เป็นอำนาจของ รฟม. ไม่ต้องกลับไปขอความเห็นชอบจาก ครม.อีก เสนอให้พิพากษาให้ยกฟ้องคดีนี้

บทสรุปคือ ตอนนี้คอนโดฯแอชตัน อโศก ถูกเพิกถอนใบรับแจ้งก่อสร้าง แต่ยังไม่ได้ถูกสั่งห้ามใช้ หรือถูกสั่งรื้อแต่อย่างใด แปลว่าลูกบ้านก็ยังอยู่อาศัยต่อไปได้

เพราะอาคารนี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในการใช้อาคาร ปัญหาอยู่ที่ทางออกสู่ถนนสาธารณะที่ทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น