คดีบรรทัดฐาน แอชตัน อโศก ปมที่ดินเวนคืน รฟม.-สั่งทุบทิ้งหลังโอนแล้ว 4 ปี

ชานนท์ เรืองกฤตยา-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชานนท์ เรืองกฤตยา-ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โดยให้มีผลย้อนหลัง คอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก”

ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ในการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่ออกให้โดยหน่วยงานรัฐ ส่งผลกระทบระดับสึนามิให้กับเจ้าของห้องชุด 580 ครัวเรือน ที่ซื้อ และโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 668 ยูนิตทันที

ทิ้งปมคำถามให้ดังอึกทึกอยู่ในใจเจ้าของห้องชุดว่า ทำไมมีคำตัดสินย้อนหลัง ทั้ง ๆ ที่มีผู้บริโภคซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว มีการอยู่อาศัยไปแล้วนานถึง 4 ปีเต็ม

การฟ้องคดีต่อศาลปกครองก็เกิดขึ้นในขณะที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ทำไมไม่ตัดสินเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างในขั้นตอนกำลังก่อสร้าง เรื่องจะได้จำกัดวงความเสียหายอยู่ที่หน่วยงานรัฐกับผู้ประกอบการเท่านั้น …ทำไม ทำไม และทำไม

5 ประเด็นคำตัดสินศาลปกครองสูงสุด

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อเวลา 18.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางเจ้าของโครงการแอชตัน อโศก มีการจัดแถลงข่าวฉุกเฉินจากเจ้าของโครงการ หลังจากฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อเวลา 16.00 น. จบลง

สาระสำคัญของคำพิพากษาสรุปเป็น 5 ประเด็น คือ 1.นายศรีสุวรรณ จรรยา ตัวแทนสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ไม่ใช่ผู้เสียหาย ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้องคดี 2.ใบอนุญาตผ่านทาง รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ออกข้อบังคับให้เป็นทางผ่านเข้า-ออก มีอำนาจทำได้ ไม่เป็นข้อต้องห้าม

3.สัญญาการอนุญาตให้ใช้ที่ดินของ รฟม. ทางสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนไม่มีอำนาจฟ้อง 4.ใบอนุญาตก่อสร้าง 39 ทวิ, 39 ตรี มีทางเข้า-ออกโครงการแอชตัน อโศก ตามกฎหมาย พิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง และ 5.การก่อสร้างอาคารของ AMF ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อนันดาฯ กับมิตซุย ฟุโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น ไม่ทับที่สาธารณะ สามารถสร้างได้

โดย “พิสิษฐ เดชไชยยาศักดิ์” ที่ปรึกษากฎหมายจากสำนักงาน WCP กล่าวว่า กรณีศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย ไม่มีอะไรซับซ้อน พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (วันที่ 30 กรกฎาคม 2564)

“ประเด็นสำคัญมีอยู่ประเด็นเดียวในข้อ 4 เรื่องที่ดิน รฟม.เวนคืน จึงไม่อาจที่จะนำมาให้เอกชนใช้ในการประกอบการได้ ศาลก็เลยอ้างโยงไปว่าเมื่อไม่สามารถนำมาใช้ในการประกอบการอ้างได้ การที่หน่วยงานของรัฐ มาออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง

จึงเป็นประเด็นขัดต่อกฎหมาย คือ ที่ดินไม่มีทางที่เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 33 ประกอบด้วยฉบับที่ 50 เป็นประเด็นสำคัญที่ศาลยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ส่วนประเด็นอื่น ๆ เป็นประเด็นปลีกย่อย ไม่เป็นประเด็นอะไรที่มีนัย ทำให้เกิดความเสียหายในครั้งนี้”

ขอเข้าพบผู้ออกใบอนุญาต “รฟม.-กทม.”

ถัดมา “ชานนท์ เรืองกฤตยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวผ่าน zoom จากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า คำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทก็ไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้นถึงขนาดนี้ บริษัทขอความเป็นธรรม บริษัทเป็นภาคเอกชน มีการทำงานสุจริตทุกอย่าง มีการขออนุญาตจากทุกหน่วยงานภาครัฐครบถ้วน

“จริง ๆ แล้วผมก็ไม่ได้เก่งกฎหมาย ได้มาดูเรื่องกฎหมายตรงนี้ ก็จะเห็นว่าศาลปกครองไม่ใช่ศาลยุติธรรม ศาลปกครองเป็นศาลเกี่ยวกับประชาชนกับรัฐ ถ้ารัฐเอาเปรียบประชาชน หรือทำอะไรไม่ถูกต้อง ประชาชนสามารถฟ้องได้

นกรณีนี้จะเห็นว่าในการพิพากษา ภาครัฐทำบางสิ่งบางอย่างอาจจะไม่ถูกต้อง เราก็ต้องน้อมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่เห็นชัดเจนว่าเราเองก็เป็นหนึ่งในเอกชนที่เสียหาย จากการที่ได้ใบอนุญาตเป็นตราครุฑที่เราทำงานสุจริตมาตลอด”

“ชานนท์” ตั้งคำถามว่า แล้วจะแก้ปัญหาร่วมกันกับภาครัฐในฐานะผู้ถูกฟ้องยังไง ในกรณีนี้ อนันดาฯ ก็เป็นหนึ่งในประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

“ผมก็เชื่อว่าลูกค้า stakeholder อินเวสเตอร์กลุ่มมิตซุย ฟุโดซัง บริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่นมาถือหุ้น พนักงานเรา และผู้เกี่ยวข้องที่เสียหายทั้งหมดในวงจรนี้ เราก็สงสัยเหมือนกันว่า สถานการณ์ถึงขนาดนี้แล้ว ภาครัฐจะช่วยกันหาทางออกซึ่งกันและกันได้ยังไง ทางออกเป็นปัญหากฎหมาย เราไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย เราก็เป็นหนึ่งบริษัทที่คิดว่าทำตามทุกอย่าง ขั้นตอนที่ขออนุญาตทุกอย่างแล้ว”

ทั้งนี้ ถ้าเป็นปัญหากฎหมาย จะมีการออกกฎหมายใหม่ให้แก้ปัญหา ให้ รฟม.สามารถเอาที่ดินทำทางเข้า-ออกได้หรือไม่ อันนี้ก็ไม่รู้เหมือนกัน

“ผมเองก็ยังเกาหัวเหมือนกัน ก็คิดว่าทางศาลสูงจะแก้ปัญหาสังคมยังไง เราเองก็ยังคิดไม่ออก ขอให้ภาครัฐ หลัก ๆ น่าจะเป็นทาง กทม. กับ รฟม.ช่วยหาทางออก ช่วยเรากับลูกค้าของเรา ว่ายังไงบ้าง อันนี้ก็ต้องด่วนเร็วที่สุด”

และ “…ในการแถลงเราก็อยากขอไปเข้าพบท่านผู้ว่าฯ กทม. (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ท่านผู้ว่าการ รฟม. (ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ) ว่าจะช่วยเราหาทางออกร่วมกันยังไง เพราะเป็นปัญหาสังคม …ตอนนี้เป็นยามที่ลำบากของเรามาก ว่าจะแก้ปัญหายังไง” คำกล่าวของซีอีโออนันดาฯ

ความเสียหาย 668 ยูนิต 5,653 ล้าน

คีย์แมนอีกราย “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวชัดเจนว่า ปรากฏการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมนี้ ที่ตึกเรสซิเดนเชียลที่สร้างเสร็จแล้ว และศาลปกครองมีคำพิพากษาเช่นนี้ แต่เราก็ต้องเคารพคำพิพากษา

โดยรายละเอียดมี 580 ครัวเรือน ที่รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 668 ยูนิต จาก 700 กว่ายูนิต สุดท้ายก็ต้องเป็นการฟ้องร้องกันระหว่างผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหาระหว่างเอกชนกับหน่วยงานราชการ อนันดาฯ ในฐานะเป็นผู้ร้องสอดร่วมกับผู้รับผลกระทบอีก 580 ครัวเรือน ต่างชาติใน 20 ประเทศ รวมประเทศไทยด้วยก็เป็น 21 ชนชาติในตึกนี้

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ห้องชุดในโครงการแอชตัน อโศก มี 700 กว่ายูนิต มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ส่งมอบไปแล้ว 668 ยูนิต มูลค่า 5,653 ล้านบาท แบ่งเป็น ลูกค้าคนไทย 438 ราย ลูกค้าต่างชาติ 142 ราย มูลค่าคงเหลือในมือ 828 ล้านบาท

จึงคิดเป็นความเสียหายในแอสเสทที่อนันดาฯ ถือหุ้นมีอยู่เพียง 250-300 ล้านบาทเท่านั้น หรือประมาณครึ่งหนึ่งของสต๊อกในโครงการ โดยบริษัทร่วมทุน “อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย” อนันดาฯถือหุ้น 51% มิตซุย ฟุโดซัง 49%

ขอความเห็น 8 หน่วยงานก่อนสร้าง

“ประเสริฐ” ชี้แจงว่า การพัฒนาโครงการแอชตัน อโศก ยืนยันว่าทำถูกต้องและสุจริต ดังนี้ 1.แอชตัน อโศก ผ่านการขออนุญาตมาจาก 8 หน่วยงาน 2.มี 9 ใบอนุญาต 3.บริษัทขอความเห็นก่อนดำเนินการด้วย อย่างน้อย 8 หน่วยงาน

ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอความเห็นจาก 1 หน่วยงาน คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงคมนาคม 1 หน่วยงาน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

กรุงเทพมหานคร (กทม.) 3 หน่วยงาน จากสำนักงานเขตวัฒนา, สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.), สำนักการโยธา และกระทรวงมหาดไทย 3 หน่วยงาน จากสำนักงานที่ดินพระโขนง, กรมที่ดิน, กรมโยธาธิการและผังเมือง

4.ผ่านคณะกรรมการที่จะออกมาเป็น อช. ใบโฉนด 5 คณะกรรมการ 5.สิ่งสำคัญคือ มีโครงการที่คล้ายคลึงเหมือน ๆ กันอีก 13 โครงการ ยังไม่นับโครงการที่ใกล้เคียงกันอีกเป็นร้อย ที่เป็นลักษณะขอเชื่อมทางกับหน่วยงานราชการ

และ 6.บริษัทรับผิดชอบ ไม่ใช่เชื่อมทางฟรี มีการจ่ายค่าตอบแทนให้ รฟม.เกือบ 100 ล้านบาท ในเคสนี้

กทม.เบรกแถลงข่าวหัวทิ่ม

ข้อมูลพบว่า มีเจ้าของห้องชุดแอชตัน อโศก 580 ครัวเรือน 668 ยูนิต เป็นลูกค้าอยู่อาศัยเกิน 4 ปี จำนวน 488 ครอบครัว สัดส่วน 84% อยู่อาศัยน้อยกว่า 4 ปี จำนวน 92 ครอบครัว เป็นอันหนึ่งที่มีผลกระทบในวงกว้างกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีอย่างน้อย 13 โปรเจ็กต์ที่คล้าย ๆ กัน เหมือน ๆ กัน

“อยากจะขอความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือ รฟม. เพื่อหาทางออกเยียวยา เพื่อไม่ให้มันเกิดลามออกไปทั่ววงการอสังหาฯ ซึ่งเป็นโครงการลักษณะคล้าย ๆ ในการขอเชื่อมทางเข้าออกโครงการกับทางราชการ”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการสอบถามไปยังทีมโฆษก กทม. ถึงแนวทางในการรองรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ตอนแรกมีการเตรียมแถลงข่าวภายใน 12.00 น. ของวันศุกร์ 28 กรกฎาคม 2566 อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีการแจ้งยกเลิก โดยระบุว่า ขอเวลาให้ฝ่ายกฎหมายของ กทม. พิจารณารายละเอียดตามคำพิพากษาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากในคดีนี้มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน