
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม
พุทธศักราช 2567 สำหรับวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กล่าวได้ว่าเป็นปีที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้ออกมาตรการรัฐที่ไม่เพียงแต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอสังหาฯ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศในภาพใหญ่
โดยมาตรการรัฐ ทั้งมติคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง วันที่ 21 มีนาคม 2567 และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 เมษายน 2567 เป็นเข็มทิศที่นำทางให้วงการอสังหาฯ ก้าวไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างครั้งสำคัญอีกครั้ง
ย้อนรอย “รัฐบาลประยุทธ์”
ก่อนหน้านี้ ในปี 2562 รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันจนสามารถบังคับใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 สำเร็จ เพื่อมาทดแทนกฎหมายล้าสมัย 2 ฉบับ คือ กฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ กับกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ทั้งนี้ ภาษีที่ดินฯ มีอีกชื่อหนึ่งว่า Property Tax เมื่อบังคับใช้แล้วเป็นการปฏิรูปโครงสร้างวงการอสังหาฯ เพราะเป็นกฎหมายที่เจ้าของทรัพย์สิน “ทั้งรักทั้งชัง”
ในทางหนึ่งเป็นกฎหมายที่นำรายได้ภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทางหนึ่งเป็นกฎหมายที่จัดเก็บภาษีรายปี (ต้องจ่ายทุกปี) จากผู้ถือครองทรัพย์สิน ฉะนั้น ถ้าไม่อยากจ่ายพร็อพเพอร์ตี้แทกซ์ ก็ไม่ต้องถือครองทรัพย์สิน ง่าย ๆ แบบนั้นเลย
โดยที่พร็อพเพอร์ตี้แทกซ์ มีจุดเริ่มต้นพยายามผลักดันตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อปี 2537 แต่มาสำเร็จในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2562 ดังกล่าว
เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่แข็งแรง
อัพเดตล่าสุด มาตรการรัฐประจำปี 2567 เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงขานรับรอบทิศทางจากคนในวงการอสังหาฯ หัวขบวนใหญ่สุดมาจากฟากของ 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มีหนังสือขอบคุณรัฐบาลเศรษฐาอย่างเป็นทางการ
นำโดย “อิสระ บุญยัง” ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, “วสันต์ เคียงศิริ” นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, “พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย, “พรนริศ ชวนไชยสิทธิ์” นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
“โอฬาร จันทร์ภู่” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, “ปรีชา ศุภปีติพร” นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และ “ประวิทย์ อนุศิริ” นายกสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย
7 องค์กรขอบคุณที่รัฐบาลตอบรับและออกมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง รายละเอียดดังนี้
เฮรับลดโอน-จำนอง 7 ล้าน
1.มาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง จาก 3% เหลือ 0.01% เดิมมีเพดานไม่เกิน 3 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 7 ล้านบาท มาตรการนี้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดค่าโอนและจดจำนอง มิใช่เป็นเพียงการกระตุ้นภาคอสังหาฯเท่านั้น เนื่องจากที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท มีสัดส่วนเกิน 85% ของการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งมือหนึ่งและมือสอง
จะส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า การใช้สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา อีกทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ในการจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้น
มาตรการดังกล่าว แม้ว่าจะดูเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่
มาตรการรัฐฝนตกทั่วฟ้า
2.มาตรการนำเงินว่าจ้างก่อสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 1 แสนบาท นอกจากช่วยกระตุ้นตลาดบ้านสร้างเอง (นอกโครงการจัดสรร) รัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของการซื้อวัสดุก่อสร้างในการก่อสร้างบ้าน และผู้รับจ้างสร้างบ้านต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลอีก 20% (แล้วแต่กรณี)
ประเด็นสำคัญ จูงใจให้ธุรกิจรับสร้างบ้านทั้งประเภทบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต้องเข้าสู่ระบบการเสียภาษีมากขึ้น เพราะเจ้าของบ้านต้องเลือกสร้างบ้านกับผู้ประกอบการที่เข้าระบบภาษีและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย
3.มาตรการขยายวงเงินสินเชื่อบ้านล้านหลัง จาก 1.5 ล้านบาทเป็น 3 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% กรณีนี้เป็นผลดีอย่างมากต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย สามารถขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินลงได้ เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนลดลง
ประกอบกับประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วย
4.จูงใจให้มีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง โดยใช้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จากเดิมให้สร้างขายในราคาไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ขยับเป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
มาตรการนี้ได้ 2 เด้ง จาก 4.1 มีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้กำลังซื้อตลาดแมสไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มีตัวเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและราคาที่ต้องการได้มากขึ้น
4.2 เป็นการแบ่งเบาภาระหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง
ปลดล็อกเช่าเกิน 30 ปี
5.มาตรการขยายเวลาเช่าเกิน 30 ปี และกำหนดให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ (Real Right) ถือเป็นการวางโครงสร้างการอยู่อาศัยและการใช้ที่ดินในระยะยาวของประเทศ เนื่องจากไทยมีการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ความต้องการความมั่นคงเรื่องสิทธิการเช่าจึงต้องตามมาด้วย
ในขณะเดียวกัน การขยายเวลาเช่ายังเป็นประโยชน์ต่อผู้เช่าซึ่งเป็นคนไทยด้วย เนื่องจากที่ดินที่อยู่ในเขตเมืองจำนวนมาก ทั้งที่ดินหน่วยงานรัฐ หรือที่ดินเอกชนที่ไม่ประสงค์ขาย แต่ต้องการให้เช่า
การขยายเวลาเกิน 30 ปี และให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ จะก่อให้เกิดความมั่นคงในเรื่องเวลา ที่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ และมีความคุ้มทุนในทรัพย์สินที่เช่าตลอดช่วงอายุสัญญา และแก้ปัญหาการถือครองอสังหาฯโดยไม่ถูกต้องของชาวต่างชาติด้วย
ปรับปรุงนิยามบ้านจัดสรร
6.การขอลดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรร ประกอบด้วย “บ้านเดี่ยว” เดิมที่ดินเริ่มต้น 50 ตารางวา ปรับเป็น 35 ตารางวา “บ้านแฝด” จากที่ดินเริ่มต้น 35 ตารางวา เป็น 28 ตารางวา และ “ทาวน์เฮาส์-อาคารพาณิชย์” จากเริ่มต้น 16 ตารางวา เป็น 14 ตารางวา
คำอธิบายคือ การลดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรรลงมา มีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและขนาดครอบครัวที่เล็กลง เพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนได้มากขึ้น เป็นผลดีต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้นจากระดับราคาที่ลดลง
ประเด็นนี้ “คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง” ได้มีมติรับหลักการไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์มีความเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรี 9 เมษายน 2567 และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการกระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคสถาบันการเงินด้วย
พร้อมกันนั้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศในระยะยาวต่อไป ส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และภาคการลงทุนอื่น ๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป
อุ้มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง
“พีระพงศ์ จรูญเอก” นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI กล่าวว่า มาตรการรัฐ 5 ข้อตามมติ ครม. 9 เมษายน จะช่วยเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯได้ 8 แสนล้านบาท
อีกทั้งมีการลงทุนอีก 4-5 แสนล้านบาท กระตุ้นการใช้จ่าย 1.2 แสนล้านบาท จากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน
ทั้งหมดนี้จะช่วยผลักดันจีดีพีให้ขยายตัวเพิ่มอีก 1.7-1.8% โดยมาตรการที่จะเห็นผลชัดเจน เป็นเรื่องขยายเพดานลดค่าโอน-จดจำนอง จากไม่เกิน 3 ล้านเป็น 7 ล้านบาท ส่งผลต่อการเร่งตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในสภาวะตลาดทรงตัว และผู้มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของตนเองได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ธอส.ผนึก BOI หนุนเอกชน
“กมลภพ วีระพละ” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลัง ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ร่วมมือกับ BOI ในการเป็นหน่วยงานกลาง เชื่อมโยงข้อมูลด้านต่าง ๆ ระหว่าง BOI กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ
รวมถึง ธอส. จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการอสังหาฯแต่ละราย เพื่อออกหนังสือรับรอง ก่อนนำไปยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับ BOI ภายในสิ้นปี 2568 โดย ธอส.จะเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ แจ้งความประสงค์ขอรับบัตรส่งเสริมลงทุน ทาง www.ghbank.co.th ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
“ปัจจุบันประชาชนเลือกซื้อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาทได้ยากขึ้น เนื่องจากต้นทุนก่อสร้าง และปัจจัยต่าง ๆ ทำให้บริษัทอสังหาฯไม่สามารถทำราคาได้ ดังนั้นจึงเชื่อว่ามาตรการรัฐที่ออกมารอบนี้ จะเป็นแรงจูงใจทำให้มีที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้นในตลาด ส่งผลดีกับผู้มีรายได้น้อยมีโอกาสในการมีบ้านมากขึ้น”
ดึงธุรกิจรับสร้างบ้านเข้าระบบ
“โอฬาร จันทร์ภู่” นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน หรือ HBA-Home Builder Association กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการ “สร้างบ้านลดหย่อนภาษี ล้านละหมื่น” สำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง เอกสารอากรแสตมป์ (อ.ส.5) ที่มีมูลค่าการก่อสร้างบ้าน 1 ล้านบาท สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2568
ได้สร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญต่อภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในไตรมาส 2/67 และนับเป็นครั้งแรกของธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่ได้รับมาตรการลดหย่อนภาษีปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง
“ตลาดบ้านสร้างเอง มีมูลค่ารวมปีละ 2 แสนล้านบาท ซึ่งไตรมาส 1/67 กำลังซื้อจำนวนไม่น้อยชะลอการตัดสินใจอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ มาตรการลดหย่อนภาษี 1 แสนบาทสำหรับบ้านสร้างเอง จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี เป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลให้ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2/67 กลับมาคึกคักอีกครั้ง และส่งผลดีไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น วัสดุก่อสร้าง การจ้างงาน”
ประโยชน์ต่อรัฐ เป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบธุรกิจรับสร้างบ้านที่ยังไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเข้าสู่ระบบภาษี ส่งผลให้รัฐได้ VAT 7% และภาษีจากเงินได้นิติบุคคล ซึ่งส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม
อย่างไรก็ดี มาตรการนี้มีเวลาระยะสั้น จึงมีข้อเสนอว่ารัฐบาลควรออกเป็นมาตรการถาวร เหมือนกับการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อประกันชีวิต และลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยสูงสุด 1 แสนบาท
ตัวทวีคูณสามเท่า 17% ต่อจีดีพี
“อภิชาติ เกษมกุลศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN กล่าวว่า ข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2564 ระบุภาคอสังหาฯ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ก่อสร้าง ภาคการเงิน ธุรกิจโฆษณา และบริการให้เช่าที่อยู่อาศัย มีสัดส่วน 9.8% ของจีดีพี มีการจ้างงาน 2.8 ล้านคน และมีการใช้วัตถุดิบในประเทศหรือโลคอลคอนเทนต์มากกว่า 80%
ขณะที่ปี 2566 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 1.016 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ณ 5.67% ของจีดีพี เมื่อคำนวณผลทวีคูณจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 3 เท่า ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2566 ประมาณ 3.048 ล้านล้านบาท สัดส่วน 17% ของจีดีพีในปี 2566
ดังนั้น การกระตุ้นภาคอสังหาฯไม่ใช่การช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯ แต่เป็นการสร้างฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโต โดยประเมินว่า ทุก ๆ 1% ของการเติบโตของภาคอสังหาฯ จะมีผลต่อการเติบโตของจีดีพีไม่น้อยกว่า 0.06%
“ผมเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯที่ออกมาจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โฟกัสสินเชื่อและบ้าน BOI ทำให้คนไทยมีบ้านที่มีคุณภาพได้มากขึ้น ซึ่ง LPN พร้อมสนับสนุนมาตรการรัฐ โดยเฉพาะการสร้างบ้านบีโอไอ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้คนไทยมีบ้าน”

ธนาสิริ กรุ๊ปจัดโปรฯออนท็อป
“จรัญ เกษร” ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ (COO) บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาสิริในฐานะเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ พร้อมขานรับมาตรการรัฐ ด้วยการเสริมกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าพร้อมอยู่ และกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีแผนซื้อบ้านภายในปีนี้
โดยจัดโปรโมชั่นเพิ่มเติม On Top x2 Gift Voucher สูงสุด 1 ล้านบาท นอกเหนือจากฟรีแอร์ทั้งหลัง ฟรีค่าส่วนกลาง 2 ปี และส่วนลดพิเศษอื่น ๆ อีกมากมาย ในทุกโครงการของธนาสิริ
โดยบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท จะได้รับส่วนลด x2 และบ้านราคาเกิน 7 ล้านบาท ยังคงได้รับส่วนลดที่จัดไว้ให้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของมาตรการรัฐก็ตาม
ดัชนีเชื่อมั่นจัดสรรพุ่งแรง
สุดท้าย “ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์” ผู้ตรวจการ ธอส. รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ระดับ 48.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต่ำกว่าระดับ 50 แต่เป็นค่าดัชนีต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ระดับ 50 ต่อเนื่องถึง 5 ไตรมาส
โดยเป็นการขาดความเชื่อมั่นด้าน “ยอดขาย ผลประกอบการ ต้นทุนดำเนินงาน” โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม Nonlisted Company
แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนที่อยู่ในระดับ 57.3 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย แต่ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ 5 มาตรการ จะช่วยเพิ่มระดับความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือของปี 2567
ทั้งด้านการลงทุน การพัฒนาโครงการใหม่ ยอดขาย และผลประกอบการ อย่างแน่นอน