สายสีน้ำเงิน “หัวลำโพง-บางแค” สายแรกวิ่งลอดแม่น้ำเจ้าพระยา

เป็นรถไฟฟ้าอีก 1 สายทางที่มีคนกรุงรอคอย สำหรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน “บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค ” ระยะทางรวม 27 กม. ภายใต้การขับเคลื่อนของ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” มี “BEM-บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ” เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถเหมาทั้งโครงข่ายเก่าและใหม่รวม 47 กม.

มีกำหนดเปิดบริการเต็มโครงการในปี 2563 โดยจะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศที่ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมการเดินทาง 2 ฝั่งแม่น้ำให้เข้าถึงกันได้สะดวกมากขึ้น

“ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม. เปิดเผยว่า หลัง รฟม.เริ่มงานก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเมื่อปี 2554 ขณะนี้มีความคืบหน้า 99.26% ส่วนการติดตั้งระบบได้เซ็นสัญญาสัมปทานกับ BEM ให้เป็นผู้ลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท งานระบบรถไฟฟ้า บริหารจัดการการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ ระยะเวลา 30 ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตั้งงานระบบ มีความก้าวหน้า 53.58% มีกำหนดเปิดบริการ 2 ระยะ ระยะที่ 1 ช่วงหัวลำโพง-บางแค ภายในเดือน ก.ย. 2562 จากนั้นภายในเดือน มี.ค. 2563 จะเปิดเดินรถระยะที่ 2 ช่วงเตาปูน-ท่าพระ คิดค่าโดยสาร 14-42 บาท

ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 20 สถานีในแนวเส้นทาง มีบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (BMN) บริษัทลูกของ BEM เป็นผู้บริหารพื้นที่ ซึ่งพัฒนาพื้นที่ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินปัจจุบันอยู่แล้ว

รูปแบบก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย มีโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ ระยะทาง 21.5 กม. และทางวิ่งใต้ดิน ระยะทาง 5.4 กม. มีสถานียกระดับ 15 สถานี และสถานีใต้ดิน 4 สถานี แนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินปัจจุบันช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ที่สถานีหัวลำโพงไปบางแค และที่สถานีบางซื่อไปท่าพระ

และมีสถานีท่าพระเป็นสถานีร่วม (Interchange Station) ของสายสีน้ำเงิน ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกท่าพระคร่อมอุโมงค์ทางลอดและสะพานข้ามแยกท่าพระ มี 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นออกบัตรโดยสาร ชั้นชานชาลาของสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-ท่าพระ

เมื่อเปิดให้บริการเดินรถต่อเนื่องทั้งระบบแล้ว จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรีที่สมบูรณ์ และสามารถเดินทางเป็นวงกลมได้ ถือเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑลให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ปัจจุบันสายสีน้ำเงินมีผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ยกว่า 300,000 เที่ยวคนต่อวัน หากช่วงหัวลำโพง-บางแคเปิดให้บริการในปีหน้า คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 100,000 เที่ยวคนต่อวัน รวมเป็น 400,000-450,000 เที่ยวคนต่อวัน และเมื่อเปิดส่วนต่อขยายครบทั้งหมด จำนวนผู้โดยสารก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 เที่ยวคนต่อวัน