ซื้อเวลาหาผู้ชนะไฮสปีดเทรนเชื่อม3สนามบิน ซีพีตัวเต็ง เฉือนBTSเฉียดฉิว!

แฟ้มภาพ

จับตา “ซีพี” นอนมาคว้าอภิไฮสปีดเทรน 2.2 แสนล้านเฉือนเจ้าพ่อรถไฟฟ้าบีทีเอสเฉียดฉิว รอ “ร.ฟ.ท.” แถลง พร้อมต่อรองราคาก่อนเสนอ ครม. ซีพีผนึก 10 แบงก์ “ไทย-จีน-ญี่ปุ่น” กู้ดอกเบี้ยต่ำให้รัฐอุดหนุน 1.19 แสนล้าน สัมปทาน 50 ปีสร้างเมืองใหม่แปดริ้ว ปลุกอสังหาฯ EEC ตั้ง 4 เขตส่งเสริมฯ “โตโยต้าเกตเวย์-บ้านโพธิ์-WHA ธรรมศาสตร์”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดซองที่ 3 ข้อเสนอราคางานประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ของเอกชน 2 กลุ่มผ่านการพิจารณาซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค

เลขาฯอีอีซีร่วมเป็นสักขีพยาน 

ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งและ 2.กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บจ.ไชน่าเรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอปอร์เรชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

รถไฟรอต่อรองราคา

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก กล่าวว่า คณะกรรมการได้เปิดซองราคาแล้ว โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายตรวจสอบราคาว่าถูกต้องหรือไม่ และเพื่อความโปร่งใส ให้ทั้ง 2 ฝ่ายแลกเอกชนตรวจสอบและดูราคาของแต่ละฝ่ายกันแล้ว แต่มีข้อตกร่วมกันจะยังไม่สามารถเปิดเผยราคาได้ จนกว่าที่ปรึกษาจะทำการตรวจสอบเอกสารราคาจนครบถ้วนเรียบร้อย คาดว่าจะสามารถประกาศผลราคาที่แน่นอนได้ภายในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ จากนั้นก่อนจะประกาศผลผู้ชนะจะเจรจาต่อรองกันก่อน คาดว่าจะสามารถประกาศผลการประมูลเสร็จได้ภายในเดือน ม.ค. 2562

รัฐอุดหนุนไม่เกิน 1.2 แสนล้าน 

“ผู้ชนะคือผู้ที่ให้รัฐอุดหนุนค่าก่อสร้างน้อยที่สุด ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบไว้ที่ 119,425.75 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มเสนอราคาไม่เกินจากกรอบนี้อย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าใครเสนอเท่าไหร่ และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเสนอราคาเท่ากัน อย่างไรก็ตาม หากรายใดเสนอราคามาดี แต่ถ้าคำนวณผลผิด สุดท้ายก็อาจจะเป็นผู้แพ้ก็ได้”

นายวรวุฒิกล่าวว่า สำหรับซองที่ 3 เป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จะพิจารณา 8 ด้าน ได้แก่ 1.บัญชีปริมาณงาน รวมภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2.แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ 3.แผนการเงิน 4.การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 5.ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการและกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินดังกล่าว

6.การคำนวณผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุของสัญญาร่วมทุน 50 ปี 7.การคำนวณผลประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับและการขอรับเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการ และ 8.อัตราค่าโดยสาร ขณะที่ซองที่ 4 ข้อเสนออื่น ๆ ของผู้ชนะ ทางคณะกรรมการจะนำมาพิจารณาหรือไม่ก็ได้

กลุ่ม ซี.พี.เต็งจ๋า

รายงานข่าวแจ้งว่า มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่ม ซี.พี.จะเป็นผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านการก่อสร้างที่มีอิตาเลียนไทย ช.การช่าง และ CRCC ยักษ์รับเหมาจากจีนเป็นผู้ก่อสร้างให้ ส่วนการเงินก็ใช้แหล่งเงินกู้จากหลายแห่งร่วม 10 แห่ง ได้แก่ Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport and Urban Development (JOIN) จากประเทศญี่ปุ่น, ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก), ธนาคาร ICBC จากประเทศจีน และสถาบันการเงินในประเทศอีก 4-5 ราย

ส่วนการบริหารโครงการยังได้ บริษัท Ferrovie dello Stato Italiane หรือ FS จากอิตาลี มีรัฐบาลถือหุ้น 100% มีความเชี่ยวชาญด้านบริหาร บำรุงรักษาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงมายาวนาน อาจจะช่วยเลือกระบบและบริหารต้นทุนโครงการได้

ขณะที่ตัวระบบและขบวนรถ มีซัพพลายเออร์หลายรายให้เลือก ทั้งเอเชียและยุโรป ไม่ว่าซีเมนส์จากเยอรมนี, ฮุนได โรเทม จากเกาหลี ที่ได้ไลเซนส์อัลสตรอมของฝรั่งเศส, ทาลาสผู้ผลิตระบบจากฝรั่งเศส และ CRRC รัฐวิสาหกิจและผู้ผลิตระบบรถไฟฟ้ารายใหญ่ของจีนที่สนใจร่วมติดตั้งและผลิตขบวนรถให้

นอกจากนี้ ทาง ซี.พี.ยังมีที่ดินจำนวนมากหลาย 10,000 ไร่ ในแนวเส้นทาง เช่น ฉะเชิงเทรา จะสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์หรือพัฒนาโครงการเพื่อต่อยอดกับโครงการได้ นอกจากที่ดินสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และศรีราชา 25 ไร่ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าทางกลุ่ม ซี.พี.อาจจะให้รัฐอุดหนุนไม่มากก็ได้ ขณะที่บีทีเอสมีประสบการณ์ด้านการเดินรถไฟฟ้ามานาน จะลดต้นทุนตรงนี้ได้ แต่ไม่มีที่ดินจำนวนมากที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ต่อยอดโครงการได้ ซึ่งโครงการรถไฟความเร็วสูงจะประสบความสำเร็จเหมือนกับโมเดลต่างประเทศจะต้องมีรายได้จากเชิงพาณิชย์ด้วยถึงจะอยู่ได้

ให้รัฐอุดหนุนปีละ 2 หมื่นล้าน 

“ทั้ง ซี.พี.และบีทีเอสเสนอให้รัฐอุดหนุนไม่เกินกรอบ 119,425 ล้านบาท แต่เมื่อรวมดอกเบี้ย 10 ปี น่าจะเกิน 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ อยู่ที่การเจรจาจะต่อรองได้อีกหรือไม่ เพราะรัฐจะต้องจ่ายคืนให้เอกชนในระยะเวลา 10 ปี ในวงเงินที่เท่ากัน นับจากเปิดบริการ ซึ่งหากใครสามารถหาแหล่งเงินที่อัตราดอกเบี้ยต่ำและให้รัฐจ่ายไม่เกินปีละ 20,000 ล้านบาท จะเป็นผู้ชนะไป”

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ตัวแทนกลุ่มบีทีเอสอาร์ กล่าวว่า ไม่สามารถจะบอกผลชนะได้ ต้องรอคณะกรรมการพิจารณาอย่างเป็นทางการก่อน อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มบีเอสอาร์ก็ทุ่มเทให้กับโครงการนี้มาอย่างเต็มที่ และมีความพร้อมทั้งด้านก่อสร้างและการเงิน ถึงสุดท้ายจะไม่เป็นผู้ชนะก็ตาม

ด้านแหล่งข่าวจาก กลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า การเสนอราคาอยู่ในวงเงินที่ทั้งรัฐและเอกชนรับได้

ตั้งเขตส่งเสริมพิเศษเพิ่ม 4 แห่ง 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า ที่ประชุมเสนอให้ตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง ประกอบด้วย เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ “เพื่อกิจการอุตสาหกรรม” 3 แห่ง คือ เขตส่งเสริมฯ Toyota อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,640 ไร่ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต เงินลงทุน 1,000 ล้านบาท, เขตส่งเสริมฯ Toyota เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 625 ไร่ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต เงินลงทุน 20,000 ล้านบาท เขตส่งเสริมฯพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เสนอโดย บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น พื้นที่ 232 ไร่ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ดิจิทัล โลจิสติกส์ เงินลงทุน 13,480 ล้านบาท สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษี 50% เป็นเวลา 5 ปี เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ “เพื่อกิจการพิเศษ” อีก 1 แห่ง คือ เขตส่งเสริมฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จ.ชลบุรี หรือการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์ (EECmd) พื้นที่ 566 ไร่ เพื่อตั้งเป็นศูนย์นวัตกรรมด้านการแพทย์ ยานยนต์ และดิจิทัล เงินลงทุน 8,000 ล้านบาท สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลเพิ่ม 2 ปีจากปกติ แต่ไม่เกิน 13 ปี ลดหย่อนภาษี 50% 5 ปี

วันที่ 23 ม.ค. 2562 เตรียมนำเสนอตั้งเขตส่งเสริมฯ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 1,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(บอร์ด EEC) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อพิจารณาเห็นชอบ

สรุปผลขายทีโออาร์ EEC 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้รายงานภาพรวมการดำเนินงานในพื้นที่ EEC ตลอดปี 2561 ซึ่ง 4 โครงการ (project list) ได้ขายซอง TOR ให้เอกชนแล้ว ได้แก่ โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เอกชนซื้อซอง 42 ราย, โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เอกชนซื้อซอง 32 ราย, โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เอกชนซื้อซอง 18 ราย และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ได้ประกาศรายละเอียดท่าเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชน โดยไม่ใช้วิธีการประมูล และวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมาให้เอกชนที่จะได้รับการคัดเลือกส่งเอกสารกลับมาภายในกลางเดือน ก.พ. 2562

ส่วนเขตนวัตกรรมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECi) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กำหนดแผนแม่บทการพัฒนา EECi โดยจะเน้นการเกษตรแปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลิตผลการเกษตรเชื่อมโยงไปสู่การวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นกลไกพัฒนา ระยะเวลา 20 ปี เงินลงทุนภาครัฐ 33,170 ล้านบาท คาดจะเกิดการลงทุนภาคเอกชน 110,000 ล้านบาท เกิดผลหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจโดยรวม 271,000 ล้านบาท

ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมืองเตรียมความพร้อมด้านกายภาพ ปรับปรุงแก้ไขผังเมืองรองรับการพัฒนา EECi มีการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค คาดจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ม.ค. 2562 รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงระบบโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและปรับปรุงภูมิทัศน์ การสนับสนุนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์และคมนาคมทั่วไป เพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดและรองรับการขยายเมืองต่อไป

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!