ยื้อไฮสปีดกระทบเชื่อมั่นEEC ซี.พี.ติดล็อกเงินกู้2แสนล้าน

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซี.พี.
หวั่นไฮสปีดยืดเยื้อ กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุน EEC “บิ๊กตู่” สั่ง “อนุทิน-ศักดิ์สยาม” เร่งเคลียร์ปัญหา ขีดเส้นเซ็นสัญญา 15 ต.ค. ไม่มาตามนัดริบเงินประกันซอง 2,000 ล้าน ขึ้นบัญชีดำทั้งกลุ่ม เผยเอกชนติดปัญหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2 แสนล้าน แบงก์ต่างชาติยื่นเงื่อนไขขอรัฐค้ำประกันผู้โดยสารและภาระหนี้การรถไฟฯ กังวลส่งมอบพื้นที่ล่าช้าส่งผลต้นทุนก่อสร้างบาน บิ๊กซี.พี.ย้ำ พร้อมปิดดีลเมกะโปรเจ็กต์

นับถอยหลังถึง 12 พ.ย. 2562 จะครบ 1 ปี ที่โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท เดินหน้าเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ผู้ชนะและร่วมลงทุน 117,227 ล้านบาทแลกสัมปทาน 50 ปี แต่ถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการแล้วเมื่อ 28 พ.ค. และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำหนดเซ็นสัญญาในเดือน ก.ย.นี้ แต่สุดท้ายต้องเลื่อนไปอีก หลังคณะกรรมการคัดเลือกมีนายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นประธาน ประกาศขยับไทม์ไลน์ไปเดือน พ.ย. 2562 ขณะที่รัฐบาลเร่งให้โครงการเริ่มตอกเข็ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ 20 ก.ย.

พลเอกประยุทธ์สั่งการ 2 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวงคมนาคม และ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคลียร์ปัญหาทั้งหมดให้เร็วที่สุดจึงเป็นที่มาของการประชุมนัดพิเศษ ระหว่าง “อนุทิน-ศักดิ์สยาม-คณะกรรมการคัดเลือก-คณะอีอีซี” ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยขีดเส้นให้กลุ่ม ซี.พี.ต้องเซ็นสัญญา 15 ต.ค.นี้

ขีดเส้นเซ็น 15 ต.ค.

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า หลังรับฟังข้อมูลที่ประชุมมอบให้คณะกรรมการคัดเลือกจะประชุมวันที่ 27 ก.ย. ให้ทำหนังสือแจ้งกลุ่ม ซี.พี.ให้มาเซ็นสัญญาพร้อมแนบหลักประกันสัญญา 4,500 ล้านบาท ภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ ตามที่เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ทำหนังสือขอเวลาคณะกรรมการมา 3 สัปดาห์ พิจารณาว่าจะเซ็นหรือไม่เซ็นสัญญา เนื่องจากติดปัญหาแหล่งเงินกู้ กับเป็นห่วงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ที่อาจจะทำให้การก่อสร้างไม่ทัน 5 ปี ตามที่กำหนดไว้

“ใช้เวลาเจรจากันมานานมากแล้ว และคณะกรรมการคัดเลือกยืนยันทำตามทีโออาร์ประมูลหมดแล้ว ถ้ากลุ่ม ซี.พี.ตัดสินใจเซ็นสัญญาก็ดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป ถ้าไม่เซ็นจะถูกริบเงินค้ำประกันซอง 2,000 ล้านบาท ถูกขึ้นบัญชีดำทั้งกลุ่ม เพราะเป็นผู้ทิ้งงานโครงการรัฐ และจะเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR รายที่ 2 เสนอวงเงิน 169,934 ล้านบาท เกินจากกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ 119,425 ล้าน เป็นจำนวน 49,969 ล้านบาทมาเจรจาทันที และกลุ่ม ซี.พี.จะต้องจ่ายส่วนต่างที่เกินตรงนี้แทนด้วย ทุกอย่างต้องเคลียร์ให้เสร็จก่อนวันที่ 7 พ.ย. เพราะเป็นวันสุดท้าย ทั้ง 2 กลุ่มจะยื่นราคาที่เสนอมา”

การส่งมอบพื้นที่จะมอบให้ตามที่พร้อมคงจะไม่ได้ 100% อย่างที่ต้องการ หากติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ใดก็ขอขยายเวลาก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ได้ เพราะสามารถยืดหยุ่นได้ตามรูปแบบการก่อสร้างที่จะออกแบบไป ก่อสร้างไปอยู่แล้ว ไม่น่าจะนำมาเป็นเงื่อนไขจะไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ และในทีโออาร์กำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับภาระการตรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด และคงไม่ใช้เวลาเป็นปีเพื่อเคลียร์ปัญหาแล้วค่อยเริ่มออกหนังสือให้เริ่มต้นโครงการ (NTP) เพราะหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมให้ความร่วมมือในการส่งมอบพื้นที่

กังวลส่งมอบพื้นที่

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า สิ่งที่กลุ่ม ซี.พี.กังวลหลัก ๆคือ แหล่งเงินกู้ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ และปัญหาการส่งมอบพื้นที่ที่เอกชนมองว่าแผนส่งมอบยังไม่ชัดเจน ตามแผนจะใช้เวลาเคลียร์ให้เสร็จ 2-3 ปี ทั้งที่ดินบุกรุก เวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภค ทั้งนี้ ในฐานะผู้ปฏิบัติจะต้องเร่งให้เซ็นสัญญาวันที่ 15 ต.ค.ก่อน ส่วนการเริ่มงานก็ให้เวลา 2 ปี เพราะการรถไฟฯต้องเคลียร์การส่งมอบพื้นที่ ส่วน ซี.พี.ต้องใช้เวลาออกแบบรายละเอียดก่อสร้างอีก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากลุ่ม ซี.พี.มีบางอย่างขอให้รัฐช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ขอไม่เปิดเผยรายละเอียด ทั้งโครงการจะใช้พื้นที่ก่อสร้าง 3,571 ไร่ รวมเวนคืนอีก 850 ไร่ เป็น 4,421 ไร่ พร้อมส่งมอบ 3,151 ไร่ คิดเป็น 88% ของพื้นที่ทั้งหมด ยังมีพื้นที่อุปสรรค 2 ส่วน คือ ที่บุกรุก 210 ไร่ มีผู้บุกรุก 513 ราย พื้นที่เช่า 83 สัญญา 210 ไร่ ส่วนสถานีมักกะสันส่งมอบได้ 100 ไร่ ศรีราชา 25 ไร่ ยังมีรื้อย้ายเสาไฟฟ้าแรงสูง ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ บริเวณคลองแห้งและโค้ง ถ.พระราม 6, ท่อน้ำมัน บจ.ท่อส่งปิโตรเลียมไทย (แทปไลน์) ช่วงลาดกระบังมุ่งหน้าอู่ตะเภา, ท่อก๊าซ ปตท.หน้าวัดเสมียนนารี-สนามบินดอนเมือง 11 กม., ท่อระบายน้ำ กทม.บริเวณสามเสน

ขอรัฐค้ำประกัน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า การที่กลุ่ม ซี.พี.ยังเจรจากับแหล่งเงินกู้ไม่ได้ เนื่องจากต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารต่างประเทศที่ปล่อยกู้ เช่น ธนาคารไชน่าดีเวลอปเมนต์ของจีน (CDB) ซึ่งต้องการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันผู้โดยสารและค้ำประกันหนี้ของรถไฟกรณีที่ขาดทุน ซึ่ง ซี.พี.พยายามขอเจรจากับรัฐ แต่คงเป็นไปได้ยาก ซึ่งรัฐจ่ายเงินอุดหนุน 10 ปีไปแล้ว เป็นการรับประกันความแน่นอนของโครงการแล้ว

“ซี.พี.ต้องหาเงินกู้มาลงทุนร่วม 2 แสนล้านบาท เช่น จ่ายค่าใช้สิทธิแอร์พอร์ตลิงก์ 10,671 ล้านบาท ค่าก่อสร้างกว่า 1 แสนล้านบาท ค่าลงทุนและค่าเช่าที่ดินพัฒนาสถานีมักกะสันและศรีราชา ในช่วงที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐที่จะเริ่มจ่ายปีที่ 6 เป็นระยะเวลา 10 ปี จำนวน 14,965 ล้านบาท/ปี ถ้าสัญญาเริ่มช้า การจ่ายเงินจะช้าตามไปด้วย เช่น อีก 2 ปีสัญญาเริ่มนับหนึ่ง ก็เท่ากับว่าจะได้เงินจากรัฐปีที่ 8 จะมีต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้อีก ทาง ซี.พี.จึงอยากได้พื้นที่ก่อสร้างให้ครบเพื่อให้เสร็จตามเวลา 5 ปี ลดภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการขยายเวลา เพราะรัฐให้แค่การต่อเวลา แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เอกชนต้องรับภาระเอง”

แหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า มีแนวโน้มโครงการนี้ต้นทุนก่อสร้างจะเพิ่มขึ้น ต้องปรับปรุงมูลค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างใหม่ (value engineering) เนื่องจากการก่อสร้างเริ่มเป็นแบบฟันหลอสร้างตามพื้นที่ที่พร้อม ต้องปรับแผน ปรับแบบก่อสร้างบางส่วนให้ก่อสร้างอยู่ในกรอบเวลา เพื่อลดต้นทุน

บิ๊ก ซี.พี.พร้อมเซ็น

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือ ซี.พี.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้คงจะพูดรายละเอียดการเจรจามากไม่ได้ ทั้งนี้ กลุ่ม ซี.พี.ได้ตอบไปหมดแล้วว่า มีความตั้งใจที่จะเซ็นสัญญา เพราะมาถึงขั้นนี้แล้วกว่าจะประมูลเข้ามาได้ก็ใช้เวลาตั้งนาน อย่าเพิ่งถามผมเลยว่า พร้อมเซ็นสัญญาเมื่อไหร่ ยังตอบไม่ได้

ก่อนหน้านี้ นายศุภชัยเคยกล่าวว่า แหล่งเงินทุนในโครงการไฮสปีดที่เจรจามาด้วยตลอดมีทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ของไทย และองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ของญี่ปุ่น และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้ส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว จะเข้าใจว่าผลตอบแทนโครงการไม่สูง ทำให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างดี ส่วนเรื่องการปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่ก็ขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นรายโครงการได้

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าคงไม่สามารถตอบเรื่องการปล่อยกู้โครงการรถไฟความเร็วสูงของกลุ่ม ซี.พี.ได้ในตอนนี้ แต่ก็มีการหารือกันอยู่เรื่อย ๆ

กระทบลงทุน 3 จังหวัด

นางอรพินท์ เสริมประภาศิลป์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่เซ็นสัญญา และร่างผังเมืองรวมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทย และต่างชาติ ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ทางอีอีซีจะรายงานความก้าวหน้าของโครงการต่อที่ประชุม

แหล่งข่าวจาก 3 จังหวัดอีอีซี เปิดเผยว่า ความล่าช้าร่างผังเมืองรวมอีอีซีส่งผลกระทบต่อการขยายการลงทุนของโรงงานต่าง ๆ พอสมควร เนื่องจากอุตสาหกรรมจังหวัดทั้งชลบุรี ฉะเชิงเทรา ไม่อนุญาตให้ดำเนินการ ต้องรอร่างผังเมืองรวมอีอีซีประกาศก่อนจะได้ดำเนินการให้สอดคล้อง ทั้งนี้ ตามกฎหมายปัจจุบันอนุญาตให้ขยายโรงงานใหม่ได้เพียง 1 เท่าของพื้นที่เดิม แต่หากร่างผังเมืองฉบับใหม่ประกาศ มีขอกำหนดอนุญาตให้ขยายโรงงานได้มากกว่า 1 เท่า และได้เต็มพื้นที่ที่มีอยู่ ทางผู้ประกอบการต่างจด ๆ จ้อง ๆ ต้องชะลอแผนการลงทุนออกไปก่อน โดยที่ทางอีอีซีไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าจะได้ข้อยุติเมื่อไหร่

“ตอนนี้ร่างผังเมืองรวมฉบับใหม่ดำเนินการเสร็จแล้ว ติดปัญหาประชาชนพื้นที่บางส่วนกว่า 100 คน จากการหารือทางออกต้องเจรจากรมธนารักษ์ถึงความเป็นไปได้จัดหาที่ราชพัสดุบางส่วนมาจัดสรรให้ประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาได้เช่าทำกินระยะยาว” แหล่งข่าวกล่าว

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!