ปี’64 “สถานีกลางบางซื่อ” ใหญ่สุดในอาเซียน นับถอยหลัง 5 ปี ปิดสถานีหัวลำโพง

ด้วยสไตล์การรถไฟแห่งประเทศไทย แม้จะนับถอยหลังเตรียมเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564 แต่ยังคงลุ้นกันว่ารถไฟชานเมืองสายสีแดง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต” ระยะทาง 41 กม. จำนวน 13 สถานี ที่ทุ่มเม็ดเงินลงทุนไปกว่า 1 แสนล้านบาท จะมาตามนัดหรือไม่ ในเมื่อการบริหารจัดการโครงการ ทั้งการเดินรถ บริหารพื้นที่สถานี ก็ยังคงลูกผีลูกคน

ด้าน “วรวุฒิ มาลา” รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวย้ำว่า งานก่อสร้างงานโยธาจะเสร็จในเดือน เม.ย. ส่วนงานระบบและจัดขบวนรถจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าปลายปี 2563 จะทดลองเดินรถ และเปิดบริการในเดือน ม.ค. 2564 ตามเป้าที่วางไว้ โดยเปิดเฉพาะบริการเดินรถ

ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีโดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ อาจจะยังไม่พร้อมเปิดบริการ ต้องคัดเลือกเอกชนเข้ามาออกแบบและบริหารพื้นที่ให้ได้ก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมโมเดลเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติ โดยจะเปิดให้เอกชนที่สนใจลงทุนพัฒนาทั้ง 13 สถานี รวมสถานีกลางบางซื่อด้วย จะเร่งได้ผู้ชนะประมูลภายในปีนี้

“การเดินรถจะให้บริษัทลูกคือ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่บริหารแอร์พอร์ตลิงก์ มาเดินรถสายสีแดง เตรียมขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาท เพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อบริหารรถไฟฟ้าสายนี้ จัดหาบุคลากร ในช่วงแรก 773 อัตรา มาจากการโอนย้ายพนักงานแอร์พอร์ตลิงก์ พนักงานจากการรถไฟฯ และเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ ตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ภายใต้เงื่อนไขใน 5 ปี ร.ฟ.ท.ต้องพิสูจน์ฝีมือจะบริหารโครงการได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ซ้ำรอยแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ถ้าทำไม่ได้จะให้เอกชนมาบริหารแทน”

นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า หลังเปิดบริการสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของระบบราง เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นจุดต้นทางของรถไฟทางไกล เพราะจะลดบทบาทของสถานีหัวลำโพง จากที่เดินรถดีเซลรางวันละ 130 เที่ยว เหลือ 30-40 เที่ยวในอนาคต ยังเป็นสถานีจอดและชุมทางของรถไฟความเร็วสูงสายอีสาน สายใต้และเชื่อม 3 สนามบินไปถึงอู่ตะเภา และจะเป็นสถานีใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปีแรกเปิดบริการคือเดือน ม.ค. 2564 สถานีกลางบางซื่อจะมีผู้มาใช้บริการ 208,000 เที่ยวคนต่อวัน และเพิ่มเป็น 396,000 เที่ยวคนต่อวันในปี 2575

สำหรับสถานีถูกออกแบบให้มีความยาว 596.6 เมตร ความกว้าง 244 เมตร ความสูง 43 เมตร พื้นที่ใช้สอยรวม 274,192 ตร.ม. เป็นอาคารสูง 3 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลารถไฟทางไกล 8 ชานชาลา และสายสีแดง 4 ชานชาลา และชั้นที่ 3 เป็นชั้นชานชาลารถไฟที่ใช้รางขนาด 1.435 เมตร มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และแอร์พอร์ตลิงก์ 2 ชานชาลา รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนและสายเหนือ 6 ชานชาลา และสายใต้ 4 ชานชาลา รวม 12 ชานชาลา

ภายในสถานี บริเวณชั้นใต้ดิน มีพื้นที่รวม 72,542 ตร.ม. มีที่จอดรถ 1,624 คัน ชั้น 1 มีพื้นที่รวม 86,700 ตร.ม. เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว ร้านค้า ศูนย์อาหาร โถงพักคอยและจุดเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงิน ชั้นลอย มีพื้นที่รวม 12,020 ตร.ม. เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม ร้านค้า และห้องควบคุม ชั้นที่ 2 มีพื้นที่รวม 42,000 ตร.ม. เป็นชานชาลาสายสีแดง และรถไฟทางไกล ชั้นที่ 3 มีพื้นที่รวม 42,300 ตร.ม. เป็นชานชาลารถไฟความเร็วสูง โดยชั้น 3 จะยังไม่เปิดบริการจนกว่ารถไฟความเร็วสูงจะสร้างเสร็จเปิดบริการ

“อีกไฮไลต์ของสถานีกลางบางซื่อ คือจะให้เป็นสถานีปลอดมลพิษ จะมีรถไฟที่เป็นระบบไฟฟ้าเท่านั้นที่มาใช้บริการ ดังนั้นในปีหน้าซึ่งจะเปิดบริการ รถไฟยังไม่พร้อมที่จะนำรถไฟทางไกลที่วิ่งด้วยระบบดีเซลรางมาวิ่งภายในสถานีนี้”

เนื่องจากการระบายควันไม่เพียงพอ จึงจะสร้างสถานีจอดสำหรับรถดีเซลรางเป็นการชั่วคราว วงเงิน 300 ล้านบาท จะเสร็จในปี 2565 ในระหว่างรอการเปลี่ยนผ่านการเดินรถจากระบบดีเซลรางไปสู่ระบบไฟฟ้า ซึ่งกำลังจะจัดซื้อหัวรถจักรไฟฟ้า 50 คัน และขบวนรถใหม่ 184 คัน ที่รองรับทั้งระบบดีเซลและไฟฟ้า เพื่อลดการเดินรถเข้าสู่สถานีหัวลำโพงที่จะเริ่มปิดในอีก 5 ปีนี้

ท่ามกลางการนับถอยหลังปิดสถานีหัวลำโพงและเปิดศักราชใหม่ของรถไฟ ในการเปิดบริการ “สถานีกลางบางซื่อ” จะกลายเป็นสถานีแห่งใหม่ของประเทศไทยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2564

ล่าสุดมีประเด็นเรื่องชื่อ “สถานีกลางบางซื่อ” เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ “BANG SUE GRAND STATION” ที่ติดหราอยู่ด้านหน้าสถานี

โดยมีนักวิชาการด้านการขนส่งท่านหนึ่งจับโป๊ะแตก “ร.ฟ.ท.” ใช้ชื่อผิด ในความเป็นจริงแล้วควรจะใช้ชื่อว่า “BANG SUE CENTRAL STATION” หรือ BANG SUE CENTRAL TERMINAL ที่แปลว่าสถานีกลาง เพราะคำว่า “grand station” แปลว่า “สถานีใหญ่หรูหรา” ต่างกับคำว่า “central” ซึ่งแปลว่า “กลาง” หรือ “ศูนย์กลาง”

ขณะที่ “วรวุฒิ” กล่าวว่า ชื่อของสถานีกลางบางซื่อที่เป็นภาษาอังกฤษ มีการแปลกันมาแล้วตั้งแต่ต้น จะเรียกถูกหรือผิด ค่อยพิจารณากันภายหลังได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่าย ตอนนี้ขอทำงานส่วนอื่นเพื่อให้เปิดใช้บริการได้ทันก่อน

ต้องวัดใจ ร.ฟ.ท.จะเปลี่ยนหรือไม่ เพราะสุดท้ายถึงสถานีจะใหญ่แค่ไหน แต่ชื่อนั้นก็สำคัญ ทำให้คนจดจำ