ประมูลสายสีแดง-ทางคู่เชียงรายแสนล้าน

เริ่มสร้างปีนี้ - สถานีโครงการรถไฟฟ้า สายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน -ศิริราชจะเชื่อมต่อกับสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดใช้ ม.ค. 2564 หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติไปเมื่อปี 2562 ล่าสุดการรถไฟฯจะเปิดประมูล พ.ค.นี้

ร.ฟ.ท.สปีดประมูล 2 บิ๊กโปรเจ็กต์แสนล้าน ดีเดย์ พ.ค.ขายซองประมูลรถไฟฟ้าสายสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง 3 สัญญา วงเงิน 2.3 หมื่นล้าน แพ็กงานโยธาพ่วงระบบอาณัติสัญญาณ ตอกเข็ม ส.ค.นี้ เสร็จปี”66 ลุยทางคู่สายใหม่ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” มูลค่า 8.5 หมื่นล้าน เตรียมเวนคืน ควบประมูล แบ่ง 7 สัญญา ต้นปีหน้าเริ่มสร้าง ใช้เวลา 4 ปี เชื่อมการค้า ลงทุน ท่องเที่ยว ไทย ลาว พม่า จีนใต้

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประมาณปลายเดือน เม.ย.นี้จะออกประกาศรับฟังความคิดเห็นร่างทีโออาร์ประมูลก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง วงเงินรวม 23,417 ล้านบาท จากนั้นในเดือน พ.ค.จะขายซองประมูลพร้อมกันทั้ง 3 สัญญา

โดยปรับรายละเอียดประมูลใหม่ ใน 1 สัญญาจะรวมงานก่อสร้าง งานวางราง ระบบรถไฟฟ้าเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟของแต่ละโครงการไว้ในสัญญาเดียวกัน จากเดิมจะแยกงานโยธาและงานระบบออกจากกัน เพื่อให้งานเสร็จเปิดให้บริการตามแผน ซึ่งกรอบวงเงินประมูลจะยึดตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

“ก.ค.จะได้ผู้รับเหมาและเริ่มสร้างเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ จะใช้เวลาสร้าง 3 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2566 จากเดิมปี 2565”

สำหรับ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท 2.ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. กรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ซึ่งรวมงานก่อสร้างสถานีอีก 2 สถานี ในช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน คือ สถานีพระราม 6 และสถานีบางกรวย-กฟผ. และ 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. เงินลงทุน 6,645.03 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเตรียมการประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. เงินลงทุนรวม 85,345 ล้านบาท คู่ขนานไปกับการเวนคืนที่ดินที่อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืน ปักหมุดเขตทาง และกำหนดค่าทดแทนการชดเชยร่วมกับจังหวัดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจากการออกแบบเบื้องต้น มีเวนคืน 7,292 แปลง และที่ดิน 9,661 ไร่ ในวงเงิน 10,660 ล้านบาท หลังจาก ครม.อนุมัติโครงการไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมา ล่าสุดอยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาสำรวจการเวนคืนให้เป็นข้อมูลปัจจุบัน จะใช้เวลาเวนคืน 1 ปี น่าจะไม่มีปัญหาอุปสรรคมากนัก เพราะเป็นการสร้างบนพื้นที่ใหม่

“งานโยธากว่า 70,000 ล้านบาท จะประมูลเป็น e-Bidding แบ่งออกเป็น 6 สัญญา วงเงินสัญญาละ 10,000 กว่าล้านบาท คาดว่าจะประมูลได้ในไตรมาส 1-2 ของปี 2564 จะพอดีกับที่การเวนคืนที่ดินจะแล้วเสร็จในบางส่วน เพื่อส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับเหมา จะใช้เวลาสร้าง 4 ปี ส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา ประมาณ 4,000 ล้านบาท จะเปิดประมูลรูปแบบนานาชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดใช้ในปี 2568-2569 จะเป็นทางคู่สายใหม่เชื่อมการเดินทาง การขนส่ง การค้า การท่องเที่ยวภาคเหนือตอนบน กับลาว พม่า และจีนตอนใต้

โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นสถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งหน้าไปทิศเหนือ ผ่าน จ.ลำปาง พะเยา และเชียงราย ไปสิ้นสุดที่ด่านพรมแดนเชียงของ จุดที่จะเวนคืน ได้แก่ จ.แพร่ มี อ.เด่นชัย 2 ตำบล ที่ ต.เด่นชัย ต.ปงป่าหวาย, อ.สูงเม่น 6 ตำบล มี ต.น้ำชำ ต.สูงเม่น ต.พระหลวง ต.สบสาย ต.ดอนมูล ต.ร่องกาศ, อ.เมืองแพร่ มี 7 ตำบล มี ต.นาจักร ต.กาญจนา ต.เหมืองหม้อ ต.ทุ่งกวาว ต.ทุ่งโฮ้ง ต.แม่หล่าย ต.แม่คำมี, อ.สอง มี ต.หัวเมือง ต.แดนชุมพล ต.ทุ่งน้าว ต.ห้วยหม้าย ต.บ้านหนุน ต.บ้านกลาง, อ.หนองม่วงไข่ มี ต.หนองม่วงไข่, จ.ลำปาง อ.งาว มี 7 ตำบล มี ต.แม่ตีบ ต.หลวงใต้ ต.บ้านแหง ต.หลวงเหนือ ต.นาแก ต.ปงเตา และ ต.บ้านร้อง,

จ.พะเยา มี อ.เมืองพะเยา มี 4 ตำบล คือ ต.แม่กา ต.จำป่าหวาย ต.แม่ต๋ำ และ ต.ท่าวังทอง, อ.ดอกคำใต้ มี 2 ตำบล คือ ต.ดอกคำใต้ ต.ห้วยลาน, อ.ภูกามยาว มี 3 ตำบล คือ ต.แม่อิง ต.ดงเจน ต.ห้วยแก้ว และ จ.เชียงราย อ.ป่าแดด มี 4 ตำบล คือ ต.สันมะค่า ต.ป่าแดด ต.โรงช้าง และ ต.ป่าแงะ, อ.เทิง ที่ ต.เชียงเคียน, อ.เมืองเชียงราย มี 4 ตำบล คือ ต.ดอยลาน ต.ห้วยสัก ต.ท่าสาย และ ต.รอบเวียง, อ.เวียงชัย มี 3 ตำบล คือ ต.เวียงชัย ต.เวียงเหนือ ต.เมืองชุม, อ.เวียงเชียงรุ้ง มี 2 ตำบล ที่ ต.ทุ่งก่อ ต.ป่าซาง, อ.ดอยหลวง ที่ ต.โชคชัย และ อ.เชียงของ มี 4 ตำบล คือ ต.ห้วยซ้อ ต.ศรีดอนชัย ต.สถาน ต.เวียง


ตลอดเส้นทางมี 26 สถานี ลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง ลานกองเก็บตู้สินค้า 1 แห่ง ก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 4 อุโมงค์ ก่อสร้างถนนยกข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง และถนนลอดใต้ทางรถไฟ 102 แห่ง ขณะที่แหล่งเงินก่อสร้างโครงการนี้ ครม.ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณค่าเวนคืนในปี 2564 ให้ ร.ฟ.ท.แล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ส่วนค่าก่อสร้าง ค่าจ้างที่ปรึกษาคุมงาน วงเงินรวม 74,525 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ที่เหมาะสมให้ ร.ฟ.ท.กู้ต่อ โดยสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบฯชำระหนี้ให้แก่ ร.ฟ.ท.