“หมอเสริฐ-คีรี” ปั้น “อู่ตะเภา” อาณาจักรใหม่แห่งเอเชีย-แปซิฟิก

ด้วยขนาดการลงทุน ทำให้ชื่อ “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” ขึ้นแท่นเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลัง 2 เจ้าสัว “นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” และ “คีรี กาญจนพาสน์” ผนึกกำลังทุ่ม 305,555 ล้านบาท คว้าสัมปทาน 50 ปี

ควักทุน 4,500 ล้านบาท ตั้ง “บจ.อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น” หรือ UTA มาพร้อมโลโก้ “หงส์ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า” เป็นผู้ดำเนินการ มี บมจ.การบินกรุงเทพ ถือหุ้น 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 20%

หลัง “หมอเสริฐ-คีรี” เข้าทำเนียบร่วมงานเซ็นสัญญากับกองทัพเรือ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มี “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคิกออฟโครงการวันที่ 19 มิ.ย. ต่อมาวันที่ 23 มิ.ย. เป็นคิวของ 2 เจ้าสัวเปิดใจ ทำไมถึงตัดสินใจปักหมุดที่อู่ตะเภา

“หมอเสริฐ” ชี้โครงการไม่ยาก

“นพ.ปราเสริฐ” วัย 87 ปี ที่ปรึกษาประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า ใช้เวลาตัดสินใจเข้าไปร่วมลงทุนสนามบินอู่ตะเภาไม่น่าน มองว่าเป็นโครงการที่ดีอยู่ทำเลที่เหมาะจะพัฒนาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพเพราะเชื่อมทางอากาศ ทางเรือ ต่อไปจะมีรถไฟความเร็วสูง เมื่อหลาย 10 ปี ที่ผ่านมาสภาพัฒน์พยายามปลุกปั้นโครงการนี้ถึง 2 ครั้ง เมื่อปี 2506 และช่วงรัฐบาลกำลังดำเนินนโยบายอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่ยังไม่สามารถทำได้ มาถึงยุคนี้มีนโยบายอีอีซี จึงเชื่อโครงการจะเกิดได้ในยุคนี้

“หากทำสำเร็จ จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งภาคพื้นดินที่จะมารวมกันที่นี่ แรงงานจากภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่างต้องเดินทางผ่านมาที่อู่ตะเภา ไม่มีใครข้ามไปกรุงเทพฯ ยิ่งคนมาจากต่างประเทศ การมาอู่ตะเภาจะสะดวกกว่าสุวรรณภูมิ เราลงทุนสร้างสนามบินเอกชนรายแรกของประเทศที่สมุย สุโขทัย และตราด มีประสบการณ์มากว่า 50 ปี ทำธุรกิจครัวการบิน บริการภาคพื้น คลังสินค้า ดิวตี้ฟรี โครงการนี้ไม่ยาก เป็นการร่วมกับรัฐ อีก 30 ปีหลังอู่ตะเภาเปิด คนจะมาบอกว่ารัฐได้รายได้ 3 แสนล้าน อาจจะน้อยเกินไปก็ได้”

สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมเครื่องบิน (MRO) ของ บมจ.การบินไทย “นพ.ปราเสริฐ” ย้ำว่า อยู่นอกพื้นที่ 6,500 ไร่ อีกทั้งโครงการของการบินไทยรองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินขนาดใหญ่ ส่วนที่กำหนดในสัมปทานเป็น MRO รองรับเครื่องบินขนาดเล็ก บางกอกแอร์เวย์สมีการซ่อมเครื่องบินประเภทนี้อยู่แล้ว ต้องทำให้เกิดเร็วที่สุด ทำได้จะสามารถแข่งขันกับประเทศสิงคโปร์ได้

“เรามีพันธมิตรกว่า 100 สายการบินทั่วโลก ชวนเมื่อไหร่เขาก็มา ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงินจะกู้แบงก์ไหนยังตอบไม่ได้ นโยบายแบงก์ชาติเปลี่ยนทุกอาทิตย์ มีเวลาอีก 2 ปี ตอนนั้นอะไรก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่ยืนยันว่าโครงการนี้จะ cover ประเทศไทยครึ่งหนึ่งและคลุมตะวันออกทั้งหมด ยังไปได้อีกไกลมาก”

“คีรี” ชี้คิดไม่ผิดที่ลงทุน

ด้าน “คีรี” วัย 71 ปี ประธานกรรมการบีทีเอสกล่าวว่า บีทีเอสมีธุรกิจด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาฯ และบริการ ไม่เคยคิดจะลงทุนสนามบิน มีคนชักชวนลงทุนสนามบินอู่ตะเภาหลายรายว่าเป็นโครงการที่ดี เลยศึกษาและเข้าใจถึงความจำเป็นโครงการ จนมาพบกับหมอเสริฐ คุยกันซีเรียส จนตัดสินใจลงทุนร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส และซิโน-ไทยฯ ที่เป็นพันธมิตรหลายโครงการ

“ประเทศไทยถ้าจะลงทุนสนามบินต้องบางกอกแอร์เวย์ส บริษัทเดียวที่ทำเป็นรูปเป็นร่างจริงจัง ตัดสินใจไม่ผิด ชนะประมูลคราวนี้ด้วยความรอบคอบ ความเป็นมืออาชีพของ 3 บริษัท ที่วิเคราะห์อย่างละเอียด จึงเป็นที่มาเสนอราคาสูง ไปที่ไหนมีแต่คนถาม ทำไมให้ราคามากขนาดนี้ ผมไม่สนใจ คนไม่เข้าใจโครงการ วิธีคิด ราคา 305,555 ล้าน ถูกต้องแน่นอน หากตีเป็นมูลค่าปัจจุบันคิด discount rate 7% ตามที่เอกชนคิดจะเป็นวงเงินแค่ 1 แสนล้านบาท แต่ TOR กำหนด 3.25% จึงเพิ่มเป็น 3 แสนล้าน เป็นการลงทุนแบบขั้นบันได เริ่มต้นเฟสแรกกว่า 3 หมื่นล้านบาท ขยายไปตามการเติบโตตลอดสัญญาถึงปีที่ 50 รัฐมีรายได้ 1.326 ล้านล้าน”

“เราพร้อมทุกอย่าง บุคลากร การเงิน จะทำให้โครงการสำเร็จ เริ่มงานทันทีเฟสแรกรวมถึงคอมเมอร์เชียล เราตั้งใจกับโครงการนี้ ใช้เวลาเจรจาแค่ 47 วัน เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศกับโครงการขนาดนี้ ทั้งนี้ โครงการเป็นการลงทุนหลากหลาย จะเปิดโอกาสให้พันธมิตรไทยและต่างชาติ ถนัดแต่ละด้านมาจอยต์เวนเจอร์ภายหลัง เช่น คาร์โก้ ดิวตี้ฟรี คอมเมอร์เชียลต่าง ๆ” นายคีรีกล่าว

มุ่ง Gateway of Asia

“กวิน กาญจนพาสน์” กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บีทีเอส แย้มว่า งานด้านการพัฒนาเมืองการบิน จะประกอบด้วยงานหลายส่วน แน่นอนว่าบีทีเอสมีพันธมิตรหลายบริษัทที่ร่วมทุน ทั้งอนันดา โนเบิล แสนสิริ ต้องเชิญมาร่วมด้วยแน่นอน แต่ยังไง บมจ.ยู ซิตี้ ในเครือของบีทีเอส ต้องมาก่อน ซึ่งมีธุรกิจทั้งโรงเรียนนานาชาติ โรงแรม และอสังหาฯเพื่อขายและให้เช่า รวมถึง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ ธุรกิจโรงพยาบาลของ นพ.ปราเสริฐอีกด้วย

ด้าน “อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโสสายการเงินและบัญชี บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า อีก 20-30 ปี ความต้องการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะเพิ่มจาก 30% เป็น 42.8% ผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2573 มีผู้โดยสารเข้าออกประเทศไทยติดอันดับ 9 ของโลก แซงอิตาลีและฝรั่งเศส คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 200 ล้านคน/ปี ซึ่งสุวรรณภูมิและดอนเมืองไม่สามารถรองรับได้ เพราะมีศักยภาพรองรับสูงสุดเพียง 160 ล้านคน/ปี ดังนั้นการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินหลักของประเทศแห่งที่ 3 จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยตั้งเป้าให้เป็น gateway of asia

จ้าง “นาริตะ” บริหาร 10 ปี

นอกจากสนามบิน ยังมีสร้างเมืองใหม่ (airport city) เป็นศูนย์รวมทางการบินแบบครบวงจร และนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้แบบที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อน ทั้ง 3 บริษัทตกลงให้ บจ.นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต (NAA) จากประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้บริหารสนามบิน มีประสบการณ์บริหาร 1 ใน 3 สนามบินหลักประเทศญี่ปุ่น และสนามบินอู่ตะเภากับนาริตะมีความคล้ายคลึงกัน เบื้องต้นจะจ้าง 10 ปีก่อน

“ลงทุนโครงการนี้คุ่มค่า ไม่ใช่แค่ลงทุนสนามบิน ยังสร้างเมืองอีก 1 เมือง พื้นที่โดยรอบ โครงการมี IRR เป็นตัวเลข 2 หลัก คืนทุนปีที่ 15-17 จะเริ่มงานใน 18 เดือน สร้างเฟสแรก 3 ปี มีเวลาบริหารสัมปทาน 47 ปี”

อัดงบฯลงทุน 1.86 แสนล้าน

สำหรับเงินลงทุนโครงการอยู่ที่ 186,566 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 127,717 ล้านบาท และซ่อมบำรุง 61,849 ล้านบาท มาจาก 4 ส่วน 1.เงินสดภายในและส่วนของผู้ถือหุ้น 90,264 ล้านบาท หรือ 48% 2.เงินกู้ระยะยาวจากสถาบันการเงิน 87,302 ล้านบาท หรือ 47% 3.ชำระค่าหุ้นวันดำเนินกิจการ 9,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของวงเงินทั้งหมด และ 4.ทุนชำระ ณ วันลงนาม 4,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2% ของวงเงินทั้งหมด

แบ่งสร้าง 4 เฟส แต่ละเฟสใช้เวลาดำเนินการ 10 ปี ระยะที่ 1 วงเงิน 31,290 ล้านบาท ก่อสร้าง 3 ปี เปิดปี 2567 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่ 157,000 ตร.ม. กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคน/ปี

ระยะที่ 2 วงเงิน 23,852 ล้านบาท มีอาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตร.ม. ติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน เพิ่มหลุมจอดอากาศยาน 16 หลุมจอด จะแล้วเสร็จปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้ 30 ล้านคน/ปี

ระยะที่ 3 วงเงิน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตร.ม. เพิ่มจำนวนรถ APM 1 ขบวน หลุมจอดอากาศยาน 34 หลุมจอด เสร็จปี 2585 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคน/ปี และระยะที่ 4 วงเงิน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพิ่มขึ้น 82,000 ตร.ม. ติดตั้งระบบ check-in อัตโนมัติ เพิ่มหลุมจอด 14 หลุม เสร็จปี 2598 รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคน/ปี

ลุยปั้นเมืองการบิน

“สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการบริหารบีทีเอส กล่าวว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์ของโครงการ มีเนื้อที่รวม 1,185 ไร่  มี 3 ส่วน 1.พื้นที่เมืองการบิน 654 ไร่ หรือ 1.047 ล้าน ตร.ม. พัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า เมดิคอลฮับ และออฟฟิศสำนักงาน จะพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ด้วย

2.พื้นที่คอมเมอร์เชียลเกตเวย์ 269 ไร่ หรือ 430,000 ตร.ม. จะใหญ่กว่าสยามพารากอนประมาณ 3 เท่า จะมีทั้งห้างสรรพสินค้า ดิวตี้ฟรี โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า และลักเซอรี่เอาต์เลต และ 3.พื้นที่คาร์โก้และฟรีเทรดโซน 262 ไร่ หรือ 419,000 ตร.ม. จะเป็นพื้นที่ฟรีเทรดโซนที่สมบูรณ์ที่สุดด้วยบริการแบบเบ็ดเสร็จ ลดขั้นตอนด้านศุลกากรเพื่อความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า รองรับทั้งเครื่องบินที่บรรทุกสินค้าเต็มลำและเครื่องบินที่โหลดของไว้ใต้เครื่องได้

ขณะที่ “พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ” ประธานคณะผู้บริหาร บมจ.การบินกรุงเทพ กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สยังไม่ตัดสินใจจะย้ายฐานจากสนามบินสุวรรณภูมิ มาที่อู่ตะเภาทั้งหมด ต้องดูความเหมาะสมอีกครั้งก่อน อาจจะต้องเทียบกับอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส มีหลายสนามบินและมีสายการบินที่บินทุกสนามบิน และอู่ตะเภาจะไม่กระทบต่อสนามบินตราด

ซิโน-ไทยฯเหมางานก่อสร้าง

“ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน-ไทยฯ เปิดเผยว่า บริษัทจะเป็นผู้ก่อสร้างโครงการนี้ ในไตรมาส 3 ปีนี้จะเซ็นสัญญาเฟสแรก และยื่นประมูลรันเวย์ที่ 2 วงเงิน 17,778 ล้านบาท ส่วนข้อกังวลผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) จะไม่กระทบส่งมอบพื้นที่ ในพื้นที่อีอีซีมีกฎหมายเฉพาะ หากได้รับข้อมูลทำ EHIA ครบถ้วน 180 วัน จะถือว่า EHIA ได้รับอนุมัติทันที