เร่งโครงข่ายบูม “ฮับบางซื่อ” ชงประมูลมิกซ์ยูสรอบใหม่

ฮับบางซื่อ

รัฐระดมโปรเจ็กต์เชื่อมทุกทิศทาง บูมบางซื่อ 2,300 ไร่ สู่เมืองอัจฉริยะ ศูนย์กลางการเดินทางใหญ่สุดในอาเซียน กทพ.ทุ่ม 1.2 พันล้าน ผุด 5 แลมป์เชื่อมทางด่วน-สถานีกลาง กทม. เวนคืนสร้างสะพานเกียกกาย ขยาย 4 เลน เทอดดำริ “บขส.” ไม่ย้ายสถานีหมอชิต ขอปักหลักที่เดิม เพิ่มฟีดเดอร์ เชื่อม BTS-MRT “รถไฟ” ชงบอร์ดเคาะประมูลมิกซ์ยูส 32 ไร่อีกรอบ 17 ก.ย.นี้

นายปัญญา ชูพานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พื้นที่ย่านบางซื่อ 2,300 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รวมถึงสถานีกลางบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี้) ให้เป็นโครงการนำร่อง คาดว่าจะเปิดปลายปี 2564

โครงข่ายเชื่อมรอบทิศ

“สถานีกลางบางซื่อจะเป็นสถานีใหญ่สุดในอาเซียน เป็นศูนย์กลางระบบรางของประเทศ จึงต้องเร่งระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีแดง บีทีเอส รถโดยสารประจำทางและฟีดเดอร์เชื่อมต่อ”

จากข้อสรุป จะมีโครงการและหน่วยงานร่วมผลักดันคือ ร.ฟ.ท.มีสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพื้นที่เชิงพาณิชย์ แปลง A ที่ดิน กม.11 และฟีดเดอร์เข้าโครงการกรมการขนส่งทางบกจัดรถเมล์ 2 สายคือ 1.สถานีกลางบางซื่อ-BTS ห้าแยกลาดพร้าว-MRT รัชดา 2.สถานีกลางบางซื่อ-กทม.2 ส่วนถนนเชื่อมต่อพื้นที่สถานีกลางบางซื่อกำลังศึกษาอยู่ อีก 1 ปีจะได้ข้อสรุป

ผุดจุดเชื่อมทางด่วน 5 จุด

นายปัญญากล่าวว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จะสร้างทางเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) และทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ 5 จุด วงเงิน 1,200 ล้านบาท

“ตอนนี้กำลังหารูปแบบที่ไม่เป็นปัญหาต่อการก่อสร้าง เพื่อหารือกับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ตามสัญญาสัมปทาน จะเริ่มสร้างเดือน ธ.ค.ปีหน้า เสร็จปี 2566 และมีแผนเชื่อมโทลล์เวย์กับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตกช่วงต่างระดับรัชวิภา”

เวนคืนสะพานเกียกกาย

ขณะที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีแผนก่อสร้าง 3 โครงการ 1.สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแยกเกียกกาย 12,717.4 ล้านบาทค่าก่อสร้าง 5,225 ล้านบาท ซึ่งรัฐและ กทม.ออกค่าก่อสร้าง 50 : 50 ค่าเวนคืน 7,490 ล้านบาท รัฐอุดหนุน 100% ปัจจุบันรองบประมาณก่อสร้างจากรัฐ จึงให้ กทม.ปรับแผนงานใหม่

“โครงการนี้ยังติด พ.ร.ฎ.เวนคืน กทม.เพิ่งได้งบฯอุดหนุนปี 2562 จำนวน 1,318 ล้านบาท จ่ายค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้ทหารแล้ว ล่าสุดปี 2563 ได้รับอีก 1,793 ล้านบาท”

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่า ปีนี้ได้ค่าเวนคืนพื้นที่ฝั่งธนบุรีแล้ว งานก่อสร้างจะเริ่มจากงานสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่รองบฯจากรัฐบาล แต่ กทม.ตั้งงบฯบางส่วนไว้แล้วของปี 2564

“โครงการยังเดินหน้าแต่อาจเลื่อนจากปี 2564 เพราะงบฯจำกัด เพื่อรองรับการจราจรบริเวณรัฐสภาใหม่และสถานีกลางบางซื่อ”

การก่อสร้างแบ่ง 5 ช่วง ได้แก่ 1.ทางยกระดับและถนนฝั่งธนบุรี จาก ถ.เลียบทางรถไฟสายใต้-ถ.จรัญสนิทวงศ์ 1.05 กม. วงเงิน 4,015 ล้านบาท รอเวนคืนที่ดินเอกชน 152 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 308 รายการ

2.สะพานข้ามแม่น้ำ จาก ซ.จรัญสนิทวงศ์ 93-วัดแก้วจุฬามณี 480 เมตร วงเงิน 1,350 ล้านบาท กำลังจัดทำราคากลาง ซึ่งได้รับงบฯจากรัฐปี 2563 เป็นค่าก่อสร้าง 135 ล้านบาท

3.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนครจากแม่น้ำเจ้าพระยา-สะพานแดง 1.350 กม. วงเงิน 980 ล้านบาท รองบประมาณปี 2564

4.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จากแยกสะพานแดง-ถ.กำแพงเพชร 1.4 กม. วงเงิน 1,100 ล้านบาท รอเวนคืนที่ดินเอกชน 90 แปลง และสิ่งปลูกสร้าง 90 รายการ

และ 5.ทางยกระดับและ ถ.ฝั่งพระนคร จาก ถ.กำแพงเพชร-ถ.พหลโยธิน 1.6 กม. วงเงิน 1,025 ล้านบาท รอเวนคืนจะขอใช้ที่ดินรถไฟ 37 แปลง และสิ่งปลูกสร้างเอกชน 71 รายการ

ขยายเทอดดำริ

นอกจากนี้ กทม.มีโครงการขยายถนนเทอดดำริ ช่วงสะพานดำ-สถานีกลางบางซื่อจาก 2 เป็น 4 เลน ระยะทาง 600 เมตร พร้อมปรับปรุงสะพานข้ามคลอง ระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าส่องสว่าง วงเงิน 620 ล้านบาท ออก พ.ร.ฎ.เวนคืนแล้วที่สำคัญ กทม.จะรวมพื้นที่ 3 สวน คือ สวนจตุจักร สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พัฒนาเป็น “อุทยานสวนจตุจักร” ขนาด 727 ไร่

นายปัญญากล่าวว่า ได้หารือกับกรมธนารักษ์ กรมการขนส่งทางบก บขส. และ ขสมก. เรื่องย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิต 2 ไปยังสถานีขนส่งหมอชิตเดิม โดยมี บจ.บางกอกเทอร์มินอล (BKT) เป็นคู่สัญญากับกรมธนารักษ์ ตามข้อตกลงจะมีพื้นให้ บขส. 1 แสนตารางเมตร พร้อมสร้างทางเชื่อมเข้า-ออกโครงการ

ล่าสุด บขส.ขออยู่ที่เดิม จนกว่าพื้นที่ใหม่จะมีระบบเชื่อมต่อครบถ้วน เนื่องจากในแผนไม่มีพื้นที่รองรับรถโดยสารขนาดใหญ่ โดย บขส.ขอต่อสัญญาเช่าที่ดินรถไฟอีก 5 ปี จนกว่า BKT จะสร้างทางเข้า-ออก ตอนนี้โครงการอยู่ระหว่างทำ EIA (รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม)

ชงบิ๊กป้อมเคาะ

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานข้อมูลให้คณะกรรมการรับทราบ เพื่อกำหนดเป็นแผนแม่บทต่อไป

โดยให้การรถไฟฯนำโครงการสมาร์ทซิตี้บางซื่อ ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พร้อมขึ้นตรงกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การรถไฟฯรายงานความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ เนื้อที่ 32 ไร่ วงเงิน 11,721 ล้านบาท พร้อมเสนอคณะกรรมการวันที่ 17 ก.ย. เพื่ออนุมัติออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2556 อีกครั้ง หากไม่มีผู้มาซื้อซองหรือยื่นประมูล จะยกเลิก พร้อมนำไปรวมกับที่ดินแปลง Eเพื่อขออนุมัติจากบอร์ดให้จ้างที่ปรึกษารีวิวโครงการใหม่ รวมถึงการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ด้วย

“ในอนาคตที่ดินทั้ง 2 แปลงจะเป็นสำนักงานใหม่ของการรถไฟฯ อาจอยู่แปลง A เพราะมีทางรถไฟกั้นกลาง ไม่เหมาะพัฒนา ส่วนอาคารสำนักงานอาจอยู่พื้นที่แปลง E เพื่อให้สมาร์ทซิตี้เกิดได้จริง” นายวรวุฒิกล่าว