คลัสเตอร์โควิดในแคมป์คนงานสะเทือนธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านล้าน “สมาคมรับเหมาฯ” แท็กทีมดีเวลอปเปอร์ขยายสัญญาก่อสร้าง 6 เดือน-ผ่อนปรนกฎย้ายแรงงานข้ามเขตต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน เหลือ 3 วัน “พฤกษา” แนะทำ swap passport โชว์เอกสารตรวจโรคเป็นใบเบิกทาง LPN ขอลดหย่อนภาษีค่าตรวจเชิงรุก ยักษ์รับเหมาคอนโดฯ 7 ราย “กลุ่มไคเซ็น” ขอเร่งฉีดวัคซีนคนงาน
การค้นพบคลัสเตอร์โควิดจากแคมป์คนงานก่อสร้างที่นำไปสู่การออกมาตรการควบคุมและป้องกันเข้มข้น โดย “กทม.-กรุงเทพมหานคร” ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 เกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 3 มาตรการ ได้แก่ ตลาด, คอลเซ็นเตอร์ และแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่ 23 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป มาตรการดังกล่าวรัฐบาลได้ขยายผลให้ปรับใช้แนวทางเดียวกันในต่างจังหวัดด้วย
“ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจวงการรับเหมาภาครัฐและเอกชน มีมูลค่าตลาดปีละ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิดและปัญหาขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง
รับเหมาอ่วมพิษโควิด 2 ปี
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) และเลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์โควิด 2 ปีติดต่อกันมีผลกระทบรุนแรง มาตรการปิดการเดินทางเข้าออกประเทศทำให้แรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานไม่ได้ เกิดภาวะขาดแคลนต้องแย่งชิงและเสนอค่าแรงสูงขึ้น 10-20% รวมทั้งไซต์ก่อสร้างมีการเคลื่อนย้ายอยู่เสมอเพราะไม่ได้ทำงานที่เดียว ความถนัดก็ไม่เหมือนกันจึงต้องโยกย้ายแรงงานตามความเหมาะสม
ในนามสมาคมอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ดังนี้ 1.ปัญหาขาดแคลนแรงงานทำให้งานก่อสร้างต้องล่าช้าออกไป ในขณะที่สัญญารับเหมากำหนดเวลาสร้างเสร็จและมีค่าปรับจึงขอให้รัฐขยายเวลาสัญญาก่อสร้างออกไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน 2.ขอให้รัฐสนับสนุนวัคซีนเพื่อฉีดให้แรงงานก่อสร้างในแคมป์คนงานทุกคน 3.มาตรการด้านการเงิน เพราะการควบคุมในแคมป์และการขนย้ายแรงงานมีผลกระทบต่อต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ขอเร่งฉีดวัคซีนคนงาน
นายวิโรจน์ เจริญตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีบิลท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยสอดคล้องกันว่า มาตรการแคมป์คนงานก่อสร้างเพื่อต้องการควบคุมโรคระบาดเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพียงแต่ข้อกำหนดควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตที่ต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน และต้องขนย้ายให้เสร็จใน 1 วันถือเป็นเรื่องใหม่ จากเดิมที่สามารถทำได้เลยไม่ต้องแจ้งใด ๆ
ในขณะที่ลักษณะการทำงานในไซต์ก่อสร้างมีรายละเอียดเยอะ งานบางประเภททีมช่างใช้เวลาสั้น เช่น ช่างปูกระเบื้อง ช่างทาสี เมื่อทำงานจบในไซต์หนึ่งก็จะมีการย้ายไปทำงานอีกไซต์หนึ่ง เป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานตลอดเวลา กฎระเบียบใหม่จึงทำตามได้ยาก และสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติที่เอกชนอาจทำผิดกฎหมายก็ได้
ทั้งนี้ การควบคุมโรคระบาดในแคมป์ก่อสร้าง พรีบิลท์เป็นสมาชิกกลุ่มไคเซ็นประกอบด้วย ผู้รับเหมา 7-8 ราย ได้แก่ บริษัทพรีบิลท์มี 10 ไซต์ก่อสร้าง แรงงาน 3,000 คน, บริษัทวิศวภัทร์ (VP) แรงงาน 3,000 คน, บมจ.ทีฆาก่อสร้าง (TK) แรงงาน 1,500 คน, TTS 4-5 ไซต์ก่อสร้าง แรงงาน 1,300 คน, บริษัทพรพระนคร (PPN) แรงงาน 1,200 คน, บริษัทเวสต์คอน (WC) และบริษัท U Work แรงงานแห่งละ 1,000 คน เมื่อรวมกับรับเหมารายย่อยอีกมีแรงงานก่อสร้าง 15,000 คน
โดยกลุ่มไคเซ็นมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลจัดสรรและเร่งฉีดวัคซีนให้คนงานในแคมป์ทุกคนทันที 2.การเคลื่อนย้ายแรงงานที่ต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน ขอผ่อนผันเหลือ 3 วัน เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติจริง
3.สัญญารับเหมาเอกชนมีปัญหาเช่นเดียวกับรับเหมาภาครัฐที่กำหนดเวลาส่งมอบงานชัดเจน แต่ช่วงโควิดมีเหตุสุดวิสัยจากโรคระบาดจึงขอให้รัฐบาลช่วยเหลือให้สามารถขยายเวลาก่อสร้างได้ 6 เดือน
โดยรัฐบาลเคยมีประกาศพิเศษให้ขยายได้ 6 เดือนในปี 2554 ที่มีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ถึงแม้จะไม่ครอบคลุมถึงสัญญารับเหมางานเอกชน แต่วิธีการก็คืองานก่อสร้างเอกชนสามารถใช้โมเดลการขยายเวลาของโครงการรัฐไปเจรจาขอขยายเวลากับเจ้าของโครงการ เพราะมีน้ำหนักในการขอผ่อนผัน
แนะทำสวอปพาสปอร์ต
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันพฤกษาฯมีไซต์ก่อสร้าง 150 ไซต์กระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล สัดส่วน 90% เป็นไซต์ก่อสร้างบ้านจัดสรรใน 3 จังหวัด คือ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี อีก 10% เป็นคอนโดฯในกรุงเทพฯมีแรงงานก่อสร้าง 15,000 คน สัดส่วนแรงงานไทย 30% แรงงานต่างด้าว 70%
นายปิยะกล่าวว่า มีข้อเสนอรัฐบาลในการผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโควิด (swap) และไม่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง สามารถใช้เอกสารยืนยันผลการตรวจในการเคลื่อนย้ายแรงงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า โมเดลคล้าย ๆ กับวัคซีนพาสปอร์ตซึ่งอาจจะเรียกว่า “สวอปพาสปอร์ต” ก็ได้
LPN สำรอง 50 ห้องกักตัว
นายสุรวุฒิ สุขเจริญสิน หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เปิดเผยว่า บริษัทสำรองบ้านพักคนงาน 50 ห้องสำหรับการกักตัวตามมาตรฐาน 14 วัน หรือการแยกกักตัวสำหรับผู้สงสัยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่รังสิต คลอง 8
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าปัจจุบันทุกไซต์ก่อสร้างของ LPN ไม่พบแรงงานติดโควิดแต่อย่างใด อยากให้รัฐสนับสนุน คือ 1.ขอให้รัฐบาลหาออปชั่นการตรวจโควิดที่ราคาถูกลง ปัจจุบันมีต้นทุนจ้างบริษัทตรวจเชิงรุกหัวละ 1,000 บาท อยากได้ค่าตรวจที่ถูกลงในราคาหลักร้อย
2.เสนอให้ค่าตรวจโควิดที่เป็นค่าใช้จ่ายของเอกชนสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมีการตรวจโควิดให้กับแรงงานมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการช่วยรัฐบาลทางอ้อมเพราะทราบผลการคัดกรองโรคมากขึ้นและเร็วขึ้น