คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ โดย : หน่วยคลังเลือด ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล
ชวนมาดูกันว่าก่อนบริจาคเลือดข้อควรรู้อะไรบ้าง อะไรควรปฏิบัติ อะไรควรงดเว้น
1.ผู้ที่ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน รักษารากฟัน ต้องเว้นอย่างน้อย 3 วัน รวมถึงการรักษาในช่องปากที่มีบาดแผลหรืออักเสบ อาจมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดชั่วคราวโดยไม่มีอาการ (transient bacteremia) หากผ่าตัดเล็ก ผ่าฟันคุดให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน จนกว่าแผลหายสนิท
2.ผู้บริจาคเคยมีประวัติติดยาเสพติด ควรงดบริจาคเลือดและรอให้ผ่าน 3 ปีก่อน
3.ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ที่ไม่ใช่คู่ตัวเอง ซึ่งเสี่ยงต่อโรคเอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบ ส่วนผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน (ชายกับชาย) มีสถิติติดเชื้อ HIV มากกว่ากลุ่มอื่น
4.พฤติกรรมรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ถ้าไม่มีอาการปวดหรือผิดปกติก็สามารถบริจาคเลือดได้ ส่วนยาแอสไพริน ถ้าไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติแล้วให้เว้นอย่างน้อย 3 วัน จึงจะบริจาคเลือดได้
5.ผู้บริจาคเลือดที่รับประทานยาปฏิชีวนะ (ยาแก้อักเสบจากการติดเชื้อ) หลังอาหารมื้อสุดท้าย ถ้าไม่มีอาการผิดปกติ ให้เว้นระยะ 1 สัปดาห์จึงบริจาคได้
6.ผู้ที่เคยเป็นโรคตับอักเสบ ซึ่งมีหลายชนิดและไม่สามารถบอกได้ว่าหายขาดได้ ให้งดบริจาคเลือดและปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจติดตามภาวะของโรคต่อไป
7.ผู้ที่มีประวัติเป็นไข้หวัดธรรมดา หลังหายดีแล้วใน 7 วันก็สามารถบริจาคได้ กรณีเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องเว้น 4 สัปดาห์หลังหายดีแล้วจึงจะบริจาคได้
– โรคความดันโลหิตสูง หากรักษาและควบคุมได้อยู่ในเกณฑ์ก็บริจาคได้ เช่น ความดันโลหิต systolic ไม่เกิน 160 มม.ปรอท ความดันโลหิต diastolic ไม่เกิน 100 มม.ปรอท และไม่มีโรคแทรกซ้อน
– โรคภูมิแพ้ หากไม่รุนแรง เช่น จาม คัดจมูก ทานยาแก้แพ้ และไม่มีอาการแล้วสามารถบริจาคได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น ผื่นคันทั้งตัว ไอ หอบหืด หรือใช้ยาลดภูมิต้านทานให้งดบริจาคจนกว่าจะหายดีแล้วเว้นไป 4 สัปดาห์จึงจะให้เลือดได้
– โรคไขมันในเลือดสูง หากรับประทานยา ควบคุมอาหารจนอยู่ในเกณฑ์ปกติสามารถบริจาคได้ ถ้าคอเลสเตอรอลสูงอย่างเดียวก็บริจาคได้ หากไตรกลีเซอไรด์สูงให้งดการบริจาคเลือดชั่วคราว จนกว่าจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ
– โรคเบาหวาน หากควบคุมได้ดี ด้วยยาลดน้ำตาล ที่ไม่ใช่อินซูลินและไม่มีโรคแทรกซ้อนสามารถบริจาคได้
– โรควัณโรค หลังรักษาหายดีแล้ว 2 ปีจึงบริจาคเลือดได้
– โรคไมเกรน หากไม่มีอาการและหยุดยาแล้ว 7 วันก็บริจาคได้
– โรคหอบหืด หากคุมอาการได้ด้วยยาก็บริจาคได้ หากมีประวัติเป็นโรคหอบหืดชนิดรุนแรงและเป็นบ่อยให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์
– ผู้ที่เป็นไทรอยด์ไม่เป็นพิษ มีระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติ ไม่มีอาการของโรค เช่น กินจุ น้ำหนักลด เหงื่อออกง่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่นก็บริจาคได้ เว้นกรณีไทรอยด์เป็นพิษ แม้รักษาหายแล้วต้องงดบริจาคเลือดถาวร