การนอนหลับ กลไกสำคัญพัฒนาสมอง

นอนหลับ
คอลัมน์ : สุขภาพดีกับรามาฯ
ผู้เขียน : รศ. พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล 
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

3 ขวบแรกเป็นวัยที่เด็กมีพัฒนาการเร็ว และจะนอนมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน โดยทารกแรกเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองกว่า 80,000 ล้านเซลล์ สมองเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักเพียง 400 กรัม จะเพิ่มขนาดเป็น 1,000 กรัม ในวัย 3 ขวบ การเรียนรู้ที่เรียกว่า synapse โดยเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะเชื่อมต่อกันถึง 40,000 ครั้ง ทุก ๆ วินาทีจะมีมากกว่าหนึ่งล้าน synapse ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาการและการส่งสัญญาณจากสมองเซลล์หนึ่งไปยังเซลล์อื่น ๆ ทั้งสร้างปลอกเยื่อหุ้มใยประสาทที่เรียกว่า “ไมอีลิน”

ปัจจัยสำคัญคือกระบวนการพัฒนาสมอง ทั้งการเกิด synapse และสร้าง myelin ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในขณะที่เด็กหลับ มีการศึกษาพบว่า ในทารกและเด็กเล็กที่นอนไม่พอ ขนาดสมองจะเล็ก และมีระดับคะแนนการเรียนรู้ต่ำกว่าเด็กที่นอนเพียงพอ ส่งผลต่อสติปัญญา สังคม และอารมณ์เมื่อเข้าสู่วัยเรียนวัยรุ่น

ระยะของการนอนก็มีความสัมพันธ์กับความจำ เช่น หลับตื้นหรือหลับระยะที่สองเกี่ยวข้องกับความจำด้านการเคลื่อนไหว หลับลึกหรือระยะที่สามเกี่ยวข้องกับความจำภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ และความรู้เชิงนามธรรม

ดังนั้น ในวัยเรียนการนอนจึงสำคัญมาก ๆ มีการศึกษาเด็กประถมและวัยรุ่นที่กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า เมื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งความจำและความสามารถในการปฏิบัติ โดยให้ผู้เข้าร่วมการศึกษากลุ่มแรกทำแบบทดสอบทันทีหลังการเรียน

และทำแบบทดสอบซ้ำอีกครั้งหลังจากนอนหลับ และกลุ่มที่ 2 ให้นอนหลับก่อนจึงค่อยทำแบบทดสอบ พบว่าคะแนนแบบทดสอบดีขึ้นชัดเจนหลังได้นอนหลับ แสดงให้เห็นถึงการนอนต่อการจัดการความจำของสมอง

การนอนไม่พอจะส่งผลลบต่อพัฒนาการทางสมอง อารมณ์ และพฤติกรรม เนื่องจากภาวะอดนอนนั้น มีการทำงานของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า “โดปามีน” และ “เซอโรโทนิน” ลดลง ทำให้ขาดสมาธิ หงุดหงิด ควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ การอดนอนยังส่งผลต่อระบบอื่น ๆ เช่น ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย อ้วน เป็นต้น

ดังนั้น เราต้องส่งเสริมให้เด็กมีสุขนิสัยการนอนที่ดี มีเวลานอนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย การนอนที่มีคุณภาพคือเข้านอนและตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน งดดูทีวีหรืออยู่หน้าจออื่น ๆ ก่อนนอนต้องเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ทำกิจกรรมที่ตื่นเต้น หวาดกลัว ต้องจัดกิจวัตรก่อนนอนที่ผ่อนคลาย เตรียมร่างกายจิตใจให้พร้อมที่จะนอน

จัดบรรยากาศห้องนอนให้เหมาะสม และใช้ห้องนอนสำหรับการนอนเท่านั้น โดยให้ห้องมีอุณหภูมิพอเหมาะ ไม่มีแสงสว่างหรือเสียงดังเกินไป เพื่อให้เด็กมีสุขนิสัยการนอนที่ดี เด็กที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพการนอนจะนอนกรน หายใจเฮือก หรือหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาแม้จะนอนพอแล้ว ซึ่งต้องปรึกษาแพทย์ทันที