ทำความรู้จักโรคมะเร็งปอดและวิธีรักษา

Photo by: Cavallini James/BSIP/Universal Images Group via Getty Images

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย พญ.ธัญนันท์ เรืองเวทย์วัฒนา

“มะเร็งปอด ไม่น่ากลัวอย่างที่คุณคิด” เป็นประโยคที่หมอมักจะบอกผู้ป่วยทุกคนในวันที่พบกันครั้งแรกและผู้ป่วยเพิ่งทราบว่ามีเซลล์มะเร็งปอดอยู่ในร่างกาย ทำไมหมอถึงบอกแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วย อีกส่วนหนึ่งคือมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะมีวิวัฒนาการเกิดขึ้นมากมายในช่วงสิบปีนี้ ทั้งการวินิจฉัยและการรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเซลล์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer) และชนิดเซลล์ที่ขนาดไม่เล็ก (nonsmall cell lungcancer) ซึ่งพบมากถึง 85% ของมะเร็งปอดทั้งหมด และในกลุ่มนี้ยังแยกย่อยออกเป็นชนิดต่าง ๆ อีกหลายชนิด เช่น squamous cell carcinoma, adenocarcinoma

ในสมัยก่อนการวินิจฉัยมะเร็งปอดทำได้ยาก แต่เมื่อมีการทำ CT scan ทำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการสแกนด้วย PET scan รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ของการส่องกล้องหลอดลมและการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัยเซลล์มะเร็งปอดนั้นทันสมัยขึ้น ทำให้สามารถวินิจฉัยได้รวดเร็วเมื่อผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ ซึ่งอาการต่าง ๆ ที่พบนั้นขึ้นอยู่กับเซลล์มะเร็งปอดว่าอยู่ที่ตำแหน่งใดในร่างกาย โดยส่วนใหญ่มักจะมาด้วยอาการไอเรื้อรัง บางครั้งไอแบบมีเสมหะปนเลือด เหนื่อย หายใจไม่สะดวก นํ้าหนักลดมากในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นต้น

ผู้ป่วยบางคนอาจมาด้วยอาการทางระบบประสาท เซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปอยู่ที่สมองหรือไขกระดูกสันหลัง มีอาการแขนขาอ่อนแรง ชา กลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ บางคนมีอาการปวดกระดูกมาก เมื่อเซลล์มะเร็งปอดแพร่กระจายไปอยู่ที่กระดูก เป็นต้น

การรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรก คือ การผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันเทคนิคการผ่าตัดก้าวหน้าไปมาก ส่วนการรักษาระยะลุกลามนั้นคือ การให้ยาเคมีบำบัด ฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำ ซึ่งในอดีตนั้นมียาเคมีบำบัดอยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่เราสามารถใช้ได้ในการรักษา ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง และมีการติดเชื้อง่าย ทำให้ผู้ป่วยบางคนกลัวการให้ยาเคมีบำบัดมาก

ปัจจุบันมียาเคมีบำบัดกลุ่มใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายชนิด ซึ่งผลข้างเคียงในการรักษาน้อยกว่าเดิมมาก แต่ยาเคมีในกลุ่มเก่าบางชนิดก็ยังคงต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วย และในปัจจุบันก็มีการพัฒนายากลุ่มใหม่ ๆ ที่ได้ผลดีมากในการรักษาอาการข้างเคียงที่เกิดจากยาเคมีบำบัด เช่น ยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน หรือยาที่ช่วยกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เป็นต้น รวมทั้งมียาต้านมะเร็งกลุ่มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ที่ใช้ได้ผลดีในมะเร็งกลุ่มที่เป็น adenocarcinoma โดยการรักษาแบบนี้ทางการแพทย์เรียกว่า “การรักษาแบบตรงจุด หรือแบบมุ่งเป้า (targeted therapy)”

หนึ่งในปัจจัยการเกิดมะเร็งปอดนั้น ในผู้ป่วยบางรายมีลักษณะทางพันธุกรรมหรือยีนในร่างกายที่เกิดการกลายพันธุ์ไป ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว

ยีนที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด มี 2 ชนิด คือ การกลายพันธุ์ของ Epidermal growth factor receptor (EGFR) ซึ่งในคนผิวขาวพบได้ 10-20% แต่ในคนเอเชียพบได้ถึง 50-70% โดยพบมากในคนที่ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบบุหรี่มานานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป ความผิดปกติอีกชนิดหนึ่ง คือ การสลับที่และรวมกันของยีน Echinoderm microtubule-associated protein-like 4 fused with the anaplastic lymphoma kinase (EML4-ALK fusion gene) พบได้ประมาณ 5-7% และส่วนมากพบในคนที่ไม่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยมะเร็งปอดที่สูบบุหรี่มักจะไม่พบความผิดปกติของยีน 2 ชนิดนี้ ทำให้ไม่สามารถใช้ยาต้านเฉพาะจุดที่จะกล่าวถึงต่อไปได้

ปัจจุบันเราสามารถตรวจความผิดปกติของยีน 2 ชนิดนี้ได้จากชิ้นเนื้อมะเร็งปอดที่เราผ่าตัดหรือเจาะออกมาตรวจ และมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งปอดแบบจำเพาะกับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของยีน 2 ชนิดนี้ โดยเป็นยารับประทาน คือ ยากลุ่มต้าน EGFR และยาต้าน ALK ซึ่งผลการตอบสนองต่อยาต้านมะเร็งทั้ง 2 กลุ่มนี้ดีมากถึง 60-70% และทำให้ระยะเวลาการรอดชีวิตสูงขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับการใช้ยาเคมีบำบัด ผลข้างเคียงของยาก็ต่างจากยาเคมีบำบัดที่ให้ทางเส้นเลือดดำ คือ ยาในกลุ่มนี้อาจทำให้เกิดผื่น ผิวแห้ง สิว ท้องเสีย การเจริญอาหารลดลงหรืออาการผิดปกติอื่น ๆ ในระบบทางเดินอาหารหรือระบบอื่น ๆ แต่โดยทั่วไปผู้ป่วยสามารถรับยาและทนยา

กลุ่มนี้ได้ดี ผู้ป่วยบางรายมีการตอบสนองต่อยาดี ยาสามารถคุมมะเร็งปอดได้นานหลายปี แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายดื้อยากลุ่มนี้ได้เมื่อใช้ไปในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีการดื้อยาเกิดขึ้น ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้

นอกจากนี้ ยังมียาอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นยา targeted drug เหมือนกัน แต่ช่วยยับยั้งการสร้างเส้นเลือดในก้อนเนื้อมะเร็ง ซึ่งยากลุ่มนี้เป็นยาฉีดเข้าทางเส้นเลือดดำและจะใช้ร่วมกันกับยาเคมีบำบัด ในขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และหมอมะเร็งทั่วโลกกำลังศึกษาวิจัยถึงกลไกการดื้อยา และคิดค้นยาใหม่ ๆ เพื่อใช้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเกิดการดื้อยา รวมถึงมีการค้นพบยีนกลายพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ในมะเร็งปอด ซึ่งขณะนี้การศึกษาวิจัยต่าง ๆ ได้ดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจจะมียากลุ่มใหม่อีกหลายกลุ่มที่สามารถใช้ในการรักษามะเร็งปอดอย่างแน่นอน

หมายเหตุ : อ.พญ.ศุภมาส เชิญอักษร สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล