ถ้าทานแคลเซียมมากไป จะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือเปล่า?

คอลัมน์ สุขภาพดีกับรามาฯ โดย นพ.กุลพัชร จุลสำลี

การได้รับแคลเซียมอย่างเหมาะสมมีความสำคัญมากสำหรับทุกเพศทุกวัย การได้รับแคลเซียมที่น้อยเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกหักง่ายจากภาวะกระดูกพรุน แต่หากรับประทานมากเกินไปก็อาจส่งผลต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ดังนั้นคนเราจึงควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง


นอกจากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว การได้รับปริมาณวิตามินดีอย่างเหมาะสมมีความสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมจากทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสโลหิตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งร่างกายได้รับวิตามินดีจากอาหาร ได้แก่ ไข่แดง น้ำมันตับปลา เนื้อปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาทู เห็ดนางฟ้า เห็ดหอมสด แล้วร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินทางผิวหนังได้เมื่อสัมผัสแสงแดดอ่อน ๆ ดังนั้นหมอแนะนำให้เดินหรือวิ่งออกกำลังในช่วงแสงแดดอ่อนตอนเช้าหรือตอนเย็น อย่างน้อยวันละ 15-20 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน

ในผู้ที่ไม่สามารถรับแคลเซียมจากอาหารได้ เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารที่มีผลต่อการดูดซึมแคลเซียม อาจพิจารณารับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแคลเซียมทดแทนได้

แล้วถ้าทานแคลเซียมมากเกินไปจะมีผลเสียต่อร่างกายไหม ?

ในภาวะปกตินั้น การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมปริมาณมาก ๆ มีโทษต่อร่างกายน้อยมาก เนื่องจากร่างกายมีกลไกการป้องกันมิให้มีปริมาณแคลเซียมในเลือดสูงเกินไป โดยแคลเซียมส่วนเกินจะถูกขับออกทางปัสสาวะ

อย่างไรก็ดี การรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียมสูง (calcium supplement) มากเกินปริมาณที่แนะนำเป็นเวลานานนั้น มีรายงานการศึกษาถึงความสัมพันธ์อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในการเกิดโรคทางระบบไหลเวียนโลหิต ความเสี่ยงการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โดยไม่พบรายงานการศึกษาถึงโทษจากการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงแต่อย่างใด กล่าวคือ การรับประทานแคลเซียมจากอาหารปลอดภัยมากกว่าการรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียมสูง

จากการศึกษาวิจัยบางรายงานพบว่า การรับประทานแคลเซียมเม็ดเสริมมากเกินปริมาณที่แนะนำต่อวัน อาจส่งผลให้เกิดภาวะหินปูนเกาะเส้นเลือดมากขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาแบบ meta-analysis นั้นยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการรับประทานแคลเซียมเม็ดในปริมาณสูงนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดแต่อย่างใด

ส่วนความสัมพันธ์ในการเกิดภาวะนิ่วในทางเดินปัสสาวะนั้น ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี การรับประทานแคลเซียมเสริมมากกว่า 2,400 มก.ต่อวัน จะตรวจพบแคลเซียมในปัสสาวะสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่พบว่าเป็นความเสี่ยงในการเกิดนิ่วแต่อย่างใด

ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือเคยเป็นโรคมาก่อน แนะนำให้ทานแคลเซียมเสริมได้ โดยให้ทานพร้อมอาหาร เนื่องจากแคลเซียมจะช่วยลดปริมาณสาร oxylate ในปัสสาวะ และลดโอกาสการเกิดนิ่วได้ในที่สุด

การรับประทานแคลเซียมเสริมนั้น ในบางรายอาจเกิดอาการท้องผูก แน่นท้อง หรือมวนท้องได้ โดยพบในอาหารเสริมประเภทที่เป็น calcium carbonate มากที่สุด การลดอาการข้างเคียงดังกล่าวทำได้โดยลดปริมาณแคลเซียมที่ทานต่อมื้อลง และแบ่งไปทานพร้อมอาหารในมื้อถัดไปแทน เช่น เดิมทาน 1,200 มก.ต่อครั้ง ให้แบ่งเป็นทานครั้งละ 600 มก.วันละ 2 ครั้ง เป็นต้น หากยังมีอาการอยู่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเปลี่ยนชนิดของแคลเซียมที่รับประทาน

หมายเหตุ : นพ.กุลพัชร จุลสำลี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล