สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน ทรงบรรยายพิเศษเรื่องการเกิดเนื้องอก

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เรื่อง การเกิดเนื้องอก : Oncogenesis (ออง-โค-จี-นี-ซีส) พระราชทานแก่นิสิตและคณาจารย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 4 ณ ตำหนักทิพย์พิมาน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00 น. ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เรื่อง การเกิดเนื้องอก Oncogenesis (ออง-โค-จี-นี-ซีส) พระราชทานแก่ นิสิตและคณาจารย์ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 4 โดยวันนี้ ทรงบรรยายในหัวข้อ กลไกการเกิดพยาธิสภาพ (อ่านว่า พะ-ยา-ทิ-สะ-พาบ) ของมะเร็งในระดับโมเลกุลและระดับเซลล์ กุญแจไปสู่การรักษาในอนาคต

จากการบรรยายตั้งแต่ครั้งแรก เป็นการให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับภาพรวมของกระบวนการการเกิดมะเร็ง การเปลี่ยนแปลงในเซลล์ ตลอดจนกลไกทางพันธุกรรมและทางชีวเคมีของการเกิดโรคมะเร็ง ในครั้งนี้ ทรงบรรยายถึงการนำความรู้พื้นฐานเหล่านี้มาใช้ในการรักษาโรคให้ได้ผลดีขึ้น โดยการพัฒนายาและวิธีที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งการค้นพบและเข้าใจกลไกการเกิดพยาธิสภาพ (อ่านว่า พะ-ยา-ทิ-สะ-พาบ) ของมะเร็งในระดับโมเลกุล และระดับเซลล์ที่มากขึ้นเป็นลำดับ สามารถนำมาช่วยในการวินิจฉัยโรคให้เข้าถึงลักษณะเฉพาะของเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น ในปัจจุบัน มีการใช้เทคนิคการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลง และแสดงออกของยีนต่าง ๆ ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างของมะเร็งแต่ละชนิดในระดับยีนได้ ทำให้การพยากรณ์โรคมีความแม่นยำมากขึ้น

ทั้งนี้ ทรงยกตัวอย่าง ความเป็นมาในการพัฒนายา กลี-เวค (Gleevec) ซึ่งถือว่าเป็นยาตัวแรกที่พิสูจน์ให้เห็นความสำเร็จของหลักการในการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า โดยใช้ข้อมูลพันธุกรรมที่จำเพาะมากของมะเร็ง
สำหรับการรักษาโรคมะเร็งในสัตว์ มีหลักการที่ไม่แตกต่างจากการรักษาโรคมะเร็งในคน ทั้งการใช้ยา เคมีบำบัด รังสีรักษา ตลอดจนการผ่าตัด ทั้งนี้ จากสถิติพบว่ามีสัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เข้ารับการรักษา ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี

ในช่วงท้าย ได้ทรงบรรยายถึง การพัฒนาการรักษามะเร็งโดยใช้ยาที่มุ่งเป้าที่ระบบที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกของยีน โดยมีการพัฒนายาขึ้นหลายกลุ่ม รวมถึงยาที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของ โครมาติน ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการ โดยการหาแนวทางการรักษาด้วยยาที่ออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งต่าง ๆกันในเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้า ซึ่งจะนำไปสู่ความก้าวหน้าทางการแพทย์และสัตวแพทย์ในด้านมะเร็งในอนาคต

ความรู้เรื่อง การเกิดเนื้องอกและมะเร็ง ที่นิสิต และคณาจารย์ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระราชทานจากทูลกระหม่อมอาจารย์ ทั้ง 4 ครั้งนี้ ก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานของการเกิดโรค กลไกการเกิดพยาธิสภาพของมะเร็งในระดับโมเลกุล และระดับเซลล์ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวินิจฉัย และรักษาโรคมะเร็งในสัตว์ที่นับวันจะพบได้มากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา วิจัย ของนิสิตในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งทั้งในคนและในสัตว์ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ตลอดจนการพัฒนายาที่มีคุณสมบัติเฉพาะอย่างหลากหลาย เพื่อนำไปสู่การรักษาแบบมุ่งเป้า ซึ่งเป็นความหวังที่จะทำให้สามารถระงับโรคมะเร็งได้ และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม