ภารกิจสร้าง “คนพันธุ์ทรู” มุ่งสู่ Telco-Tech ตอบโจทย์ธุรกิจ

ตลอด 1 ปีกว่า หลังจากควบรวมธุรกิจทรู-ดีแทค “ทรู คอร์ปอเรชั่น” ตั้งเป้าเป็นบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี (Telco-Tech Company) ชั้นนำแห่งภูมิภาคในการยกระดับเพิ่มขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ผลตรงนี้ จึงเป็นโจทย์ท้าทายที่ทำให้ทรูต้องเร่งปั้นคนเพื่อเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานด้านนี้

โดยเฉพาะการสร้างคนรุ่นใหม่ผ่านโครงการ True Next Gen ที่เปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงให้ได้รับการฝึกหมุนเวียนไปทุกกลุ่มธุรกิจในบริษัทตลอดระยะเวลา 18 เดือน ทั้งนี้ คุณสมบัติ และดีเอ็นเอของ True Next Gen จะต้องมีความเป็นผู้นำ และพร้อมผลักดันวิสัยทัศน์บริษัทในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน Telecom-Tech ของไทย

ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์
ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์

ปั้น “คนพันธุ์ทรู” ตอบโจทย์

“ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายหลังจากทรู และดีแทคมารวมกัน เรามีการเปลี่ยนแปลงองค์กรในหลายด้าน โดยตั้งเป้าว่าจะก้าวเป็น Telco-Tech Company ด้วยภารกิจเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) สร้างประสบการณ์ใช้บริการลูกค้าให้ได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดความซ้ำซ้อน

ด้วยการนำเทคโนโลยีออโตเมชั่น ระบบคลาวด์ และ AI เข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยเน้นการเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลของบุคลากรในองค์กรใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นจึงนับเป็นโจทย์ท้าทาย เราจึงเร่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรหลากหลายด้าน เพื่อให้พนักงานเป็นคนมีความรู้และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาในองค์กร เพราะทรูให้ความสำคัญกับความหลากหลาย ที่สำคัญ ทรูมีพนักงานกว่าหมื่นคน และกว่า 70% เป็น Gen Y ซึ่งอยู่กึ่งกลาง คอยเชื่อมต่อระหว่าง Gen X ที่มีสัดส่วนราว 20% และกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 10%

ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ฝ่าย HR เริ่มเห็นการเปลี่ยนของ Talent และกลายเป็นแชลเลนจ์หลักในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเราพยายามสร้างวัฒนธรรมให้แต่ละเจนมีความเข้าใจกันและกัน หากยังรวมถึงความหลากหลายทางทักษะของคนในองค์กรด้วยที่จะต้องพึ่งพากัน

ADVERTISMENT

ถามว่าทำไมถึงอยากมีคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทำงานด้วย ?

“เพราะเราอยากสร้างให้เขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เราอยากทำให้เกิดสตาร์ตอัพในองค์กร อย่าง True Next Gen แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ตามคุณสมบัติที่ต้องการคือ Tech Talent และ Business Talent เพราะดิฉันเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่มีความคิดความอ่านต่างจากคนรุ่นเก่า กล้าคิด กล้าแสดงออก และชอบที่จะเรียนรู้

ADVERTISMENT

ทั้งยังมีความห่วงใยสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับเรื่อง Sustainability เราเชื่อว่าสิ่งที่คนรุ่นใหม่มี จะเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่คนรุ่นเก่าขาดไป และคนรุ่นใหม่จะเข้าใจลูกค้ามากกว่า เขาสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ ที่ไม่เพียงจะช่วยทรานส์ฟอร์มองค์กรเร็วขึ้น ดังนั้น คนรุ่นเก่ามีความเก๋า กับคนรุ่นใหม่มีความเจ๋ง ถ้านำมารวมกันจะช่วยผลักดันให้คนรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าประสบความสำเร็จไปด้วยกัน”

สร้างคน “Telco-Tech”

แต่ทั้งนั้นการเตรียมความพร้อมของบุคลากรรุ่นใหม่เพื่อร่วมสร้างบริษัท Telco-Tech จึงนับเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญ ทรูจึงกำหนดยุทธศาสตร์ HR เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย 3 ข้อ ดังนี้

หนึ่ง สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล บริษัทตั้งเป้าเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่การทำงานในรูปแบบอัตโนมัติ (Automation) 100% ภายในปี 2570 โดยโรดแมปคือจะมีผู้เชี่ยวชาญ 2,400 คน ต้องได้รับการฝึกอบรมสำคัญ ๆ เกี่ยวกับความสามารถด้านดิจิทัลภายในปี 2567 และมากกว่า 5,000 คน ภายในปี 2569 ทักษะหลักมีตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูล และนวัตกรรมทางธุรกิจ ไปจนถึงการตลาดดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ

สอง มุ่งสู่องค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง (High-Performance Organization) สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างสม่ำเสมอ มีประสิทธิภาพในการทำงานสูง สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับ Stakeholders ทั้งหมด

สาม สร้างผู้นำรุ่นใหม่ (Build the Next Generation Leader) โดยวางแผนสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ภายใต้โปรแกรม True Next Gen ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 13 ปี ด้วยการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดงาน รวมทั้งหมด 653 คน และกำลังเปิดรับสมัครรุ่นใหม่ปี 2567

“อย่างที่บอก ทรูอยากได้ความรู้ความคิดอ่านของคนรุ่นใหม่ ๆ ในขณะที่รุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ก็พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้กลายเป็นว่าน้อง ๆ ที่เข้ามาทำงานจะเห็นว่าเวลาเข้ามาแล้ว ทรูไม่ได้เป็นองค์กรคนแก่ แต่เป็นบริษัทที่ทันสมัยตลอดเวลา”

คืนกำไรให้พนักงาน

“ศรินทร์รา” กล่าวต่อว่า ในส่วนของการบริหารทรัพยากรคนด้านอื่น ๆ ยังมีความท้าทายอยู่หลายด้านที่ยังต้องดำเนินต่อไป เพราะเราอยากเป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย ตอนนี้เรากำลังสร้างความสมดุลการทำงานให้กับพนักงาน ทั้งคนรุ่นใหม่ที่ต้องการ Work from Anywhere และคนที่ต้องการเข้าออฟฟิศมาพบปะ และทำงานร่วมกันของคนต่างเจน ตรงนี้ถือเป็นความท้าทายในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียว

นอกจากนั้นยังสนับสนุนเรื่อง Well-being ด้วยการรีโนเวตออฟฟิศ และให้พื้นที่ 1 ชั้น เป็นฟิตเนสเซ็นเตอร์ มีสนามบาส, ลู่วิ่ง, การออกกำลังกายแบบพิลาทิส, ห้องกายภาพบำบัดที่มีผู้เชี่ยวชาญมาให้บริการ ไม่เท่านั้นยังมีห้องอัลตราซาวนด์ที่เรายกมาไว้ในออฟฟิศ เปรียบเสมือนโรงพยาบาลในตึกทรู และยังมีห้องดนตรี มีร้านทำผมสำหรับพนักงานหญิงในราคาที่ถูกอีกด้วย

“ขณะเดียวกันยังมีห้องนอนสำหรับพักสายตา ดิฉันคิดว่าการให้พนักงานงีบหลับควรจะต้องได้หลับอย่างสบาย ๆ จึงทำห้องที่มีเก้าอี้นวด มีเตียงนอนรวมกันเกือบ 20 ที่ และในตึกทุก ๆ 2 ชั้นจะมีเตียง 2 ชั้นให้พนักงาน เรามองว่าบางครั้งพนักงานเหนื่อย ถ้าได้นอนซัก 5-10 นาที จะสดชื่นขึ้น

แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรามองว่ามีความสำคัญ ส่วนเรื่องสวัสดิการ พนักงานหญิงลาคลอดได้ 6 เดือน โดยจ่ายเงินเดือนเต็ม และ LGBTQ สามารถลาแปลงเพศได้ด้วย ที่สำคัญ ทุก ๆ ศาสนาสามารถลาปฏิบัติกิจของแต่ละศาสนาได้ทั้งชายและหญิง รวมถึงอีกหลาย ๆ อย่างที่เราต้องการคืนกำไรให้พนักงาน”

หลอมพนักงานเป็นหนึ่งเดียวกัน

“ศรินทร์รา” กล่าวอีกว่า วันนี้การบริหารคนถือว่าไปในทิศทางที่ดี แม้ด้านหนึ่งเราจะเป็นกลุ่มบริษัทสัญชาติไทยขนาดใหญ่ ส่วนอีกด้านก็มีความเป็นตะวันตกมาก ฉะนั้นการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เราจึงหลอมรวม 2 ฝั่ง กระทั่งกลายเป็นหนึ่งเดียว เพราะบุคลากรเชื่อมั่นในเป้าหมาย และวิสัยทัศน์แห่งการเป็นผู้นำ Telecom-Tech

ที่สำคัญ ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมที่จะช่วยกันผลักดันให้องค์กรบรรลุผลสำเร็จ เราจึงจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้พนักงานทั้งจากทรู และดีแทค มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในมิติต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารระดับสูงพุดคุยกับพนักงานอย่างเป็นกันเอง และสุดท้าย วันนี้พนักงานพูดถึงทรู ดีแทค น้อยลง เพราะเริ่มเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว

“ถึงกระนั้น เรายังคงเดินหน้าพัฒนาคนของเราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่องอัพสกิล รีสกิล อย่างตอนนี้ AI เข้ามา เราจึงนำสู่องค์กรไปสู่ระบบอัตโนมัติ 100% พนักงานจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจที่อยู่ร่วมกับ AI ให้ได้

เพราะ AI จะมาช่วยลดขั้นตอนการทำงาน รวมถึงยังส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตผ่าน Learnathon โดยเน้นสร้างจุดแข็ง ปิดจุดอ่อน เพื่อไม่ให้เป็นจุดตาย เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ สมัยนี้ต้องใช้ ถ้าไม่ได้ ก็ไปต่อยาก ดังนั้นต้องเติม แต่ไม่จำเป็นต้องเติมให้เก่ง 100% แต่เติมเพื่อให้ไช้งานได้”

เพราะภาพฝันในอนาคตของทรู ไม่ใช่แค่บริษัทเทคอันดับหนึ่งของไทย แต่เป็นระดับภูมิภาคที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับประเทศ และผู้คนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม