ทิศทาง ‘เซ็นทรัล ทำ’ ปี 2566 ถอดรหัส SDGs สร้างชุมชนยั่งยืน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล-พิชัย จิราธิวัฒน์
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล-พิชัย จิราธิวัฒน์

Central Tham ตอกย้ำมิติใหม่ของการ “ทำ” บนแนวคิดสร้างคุณค่าร่วม (CSV) ผ่านสโลแกน “ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กร และชุมชนต่าง ๆ

“ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ประธานกรรมการ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า 75 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลมุ่งมั่นสร้างความเจริญก้าวหน้า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน ผ่านการร่วมมือกับชุมชน คู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

โดยการใช้ศักยภาพและความเชี่ยวชาญของกลุ่มบริษัท คำนึงถึงการดำเนินธุรกิจในเชิงคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ในการสร้างคุณค่าร่วม (creating shared values) หรือ CSV เพื่อนำความเจริญ และส่งเสริมความเป็นอยู่ของคนให้ดีขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นการเติบโตไปพร้อม ๆ กับเป้าหมายเพื่อความยั่งยืน

เซ็นทรัลแปลงเรื่องของ SDGs 17 ข้อ และ ESG (environment, social, governance) ออกเป็นงานคือพัฒนา การศึกษา สร้างรายได้ให้ชุมชน และดูแลสิ่งแวดล้อม โดยใช้ความรู้ และจุดแข็งด้านต่าง ๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล

อาทิ การออกแบบ การสร้างแบรนด์ การตลาด ช่องทางการขาย และการบริหารจัดการมาบูรณาการจนออกมาเป็นโครงการตามความต้องการของชุมชน โดยสิ่งที่ทำต้องได้ผลลัพธ์ 2 อย่าง คือทำแล้วมีอิมแพ็กต์ในวงกว้าง และคนของเซ็นทรัลต้องมีส่วนร่วมทั้งด้านความคิด และการลงมือทำ

“พิชัย จิราธิวัฒน์” กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาลงมือทำมามากกว่า 100 โครงการ แต่ละโครงการสอดคล้องกับ 6 แนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนคือ

หนึ่ง community contribution พัฒนาชุมชน และสินค้าชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

สอง human capital development พัฒนาทักษะพนักงาน

สาม inclusion สนับสนุนการศึกษา ส่งเสริมอาชีพคนพิการ พัฒนาคุณภาพชีวิต

สี่ circular economy ส่งเสริมการคัดแยกขยะ ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะมูลฝอย

ห้า food loss & food waste reduction ลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง จัดการขยะอาหารอย่างถูกวิธี

หก climate action ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในปี 2593

“ผลการดำเนินงานในปี 2565 เซ็นทรัล ได้ทำการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคา 101 แห่ง ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 71,500 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 80 สถานี ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารกว่า 4,000 ตัน ลดขยะจากการรีไซเคิลและการนำมาใช้ประโยชน์กว่า 10,000 ตัน

บรรจุภัณฑ์ร้อยละ 85 ของแบรนด์สินค้าในกลุ่มเซ็นทรัล (กลุ่มอาหาร) เป็นวัสดุรีไซเคิล เพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 5,519 ไร่ สร้างงานและสนับสนุนอาชีพให้คนพิการ 751 คน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนกว่า 1,500 ล้านบาท และสนับสนุนชุมชนกว่า 100,000 ครัวเรือน”

“พร้อมตั้งเป้าปี 2566 ต้องสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนมากกว่า 1,800 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูป่า 6,500 ไร่ พร้อมดำเนินภารกิจ net zero เพื่อบรรลุเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ทันภายในปี 2593”

นอกจากนั้น “พิชัย” ยังกล่าวถึงตัวอย่างโครงการไฮไลต์ของ “เซ็นทรัล ทำ” ที่รู้จักในวงกว้าง ได้แก่

หนึ่ง จริงใจ มาร์เก็ต จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ ภายใต้แนวคิดรักษ์โลก และ CSV โดยเริ่มจากแผงขนาดเล็กไม่ถึง 10 แผง ใช้เวลากว่า 10 ปี จนปัจจุบันมีผู้ประกอบการท้องถิ่น และเกษตรกรที่นำผัก ผลไม้ มาจาก 15 ชุมชน คิดเป็นกว่า 70 ครัวเรือน ทั้งยังมีผู้ประกอบการอีกเกือบ 250 ราย มาจำหน่ายสินค้าทำมืออัตลักษณ์ไทยและอาหารปลอดภัยพร้อมทาน

สอง ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอนาหมื่นศรี จ.ตรัง นับตั้งแต่ปี 2557 กลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปช่วยรวมกลุ่มช่างทอ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจ รวบรวมลายผ้าโบราณที่มีประวัติยาวนานกว่า 200 ปี พร้อมทั้งเปิดร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ จากนั้นได้ปรับปรุงโรงทอผ้าเดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ มุ่งสู่การท่องเที่ยวชุมชนเชิงวัฒนธรรม มีการอบรมเยาวชนให้เป็นมัคคุเทศก์ อบรมเรื่องการบริหารจัดการขยะ

และล่าสุดปี 2565 เปิดโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรีอย่างเป็นทางการในปี 2565 ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 7.3 ล้านบาท และมีจำนวนสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วม 155 คน ในปัจจุบัน

สาม ศูนย์การเรียนรู้พุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน จ.เชียงราย โดยร่วมกับ พระเมธีวชิโรดม (ท่าน ว.วชิรเมธี) ผู้ก่อตั้งศูนย์ต่อยอดโครงการพุทธนิเวศเกษตรอินทรีย์ ไร่เชิญตะวัน บนพื้นที่ 2 ไร่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการสร้างอาชีพภายใต้ภูมิปัญญาใหม่ให้คนกับคน และคนกับธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกัน เป็นกัลยาณมิตรด้วยจิตที่เป็นกุศล และตื่นรู้ต่อปัญหาของสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การรักษาสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงหมุนเวียนระดับพื้นบ้าน

สี่ ชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โดยร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินโครงการพื้นที่วิถีชีวิตยั่งยืนแม่ทา ที่มุ่งหวังให้สมาชิกคนรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันจัดสรรพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ และกลุ่มเซ็นทรัลยังเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้ จนก่อให้เกิดโครงการ และความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลผลิต การรับซื้อ การสร้างแบรนด์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ และการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่าย โดยสร้างรายได้ให้ชุมชนในปี 2565 มากกว่า 5 ล้านบาท

ห้า กาแฟรักษาป่า ภูชี้เดือน จ.เชียงราย จากเดิมที่ภูชี้เดือนเคยเป็นเขาหัวโล้น เพราะการทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวที่มีการตัดไม้ทำลายป่า และใช้สารเคมี แต่เมื่อเซ็นทรัล ทำ เข้าไปช่วยปรับเปลี่ยนการปลูกกาแฟรักษาป่ากว่า 1,500 ไร่ และในปี 2565 ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 6 ล้านบาท มีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 84 ราย ในส่วนของการตลาด ได้นำกาแฟมาจำหน่ายภายใต้แบรนด์ good goods จนได้รับรางวัลสำหรับ Honey Process

หก ชุมชนผ้าย้อมครามบ้านกุดจิก จ.สกลนคร เซ็นทรัล ทำ ร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ถ่ายทอดทักษะความรู้ และความเชี่ยวชาญของเซ็นทรัล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมด้านการขายและการตลาด เพื่อสร้างรายได้และสร้างอาชีพให้กับคนท้องถิ่น โดยในปี 2565 เซ็นทรัล ทำ ได้สร้างรายได้ให้กับชุมชน 1 ล้านบาท ซึ่งมีชุมชนเข้าร่วมทั้งหมด 30 คน

เจ็ด ศูนย์การเรียนรู้พัฒนาผลผลิตการเกษตร และผลิตภัณฑ์ชุมชน บ้านเทพพนา อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ของแหล่งปลูกอะโวคาโดพันธุ์แฮสส์แมกซิโกในไทย สายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก เป็นการส่งเสริมระบบเกษตรอัจฉริยะ ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการจัดการน้ำ การจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน การใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ และการเพาะเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี

เพื่อแก้ปัญหาโรคพืช เซ็นทรัล ทำ ต่อยอดด้านท่องเที่ยวชุมชนเชิงวิถีเกษตรอินทรีย์ โดยจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวร่วมกับสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ชัยภูมิ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาชุมชนมีสมาชิกกว่า 400 ราย มีรายได้กว่า 3 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกปีละ 100 ราย

นับว่า เซ็นทรัล ทํา มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ แบ่งปันความรู้ พร้อมรักษาสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่โลกสีเขียว ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน