สตาร์ตอัพฝ่าคลื่นลม ระดมทุน Mywawa อวดผลงาน 2 ปีไม่ขาดทุน

กร เธียรนุกุล
สัมภาษณ์พิเศษ

หลังจากเกิดปัญหาเกี่ยวกับธนาคารในสหรัฐ เริ่มมีนายทุนพูดถึงความท้าทายในการลงทุนในสตาร์ทอัพช่วงนี้ว่านายทุนต่าง ๆ จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น เพื่อให้ได้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ไม่ใช่เกิดภาวะที่ลงไปแล้ว เงินทุนที่ให้ไปถูกเบิร์นไปจนหมด แต่ไม่สร้างผลตอบแทนที่ชัดเจนกลับมาเลย

แต่นั่นไม่ใช่สำหรับ “นายกร เธียรนุกุล” ทายาทรุ่นที่ 3 ของ นิวไวเต็กการพิมพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วาวา เซอร์วิส แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด สตาร์ตอัพน้องใหม่ “Mywawa” แพลตฟอร์ม e-Marketplace สัญชาติไทย “www.mywawa.me” ที่นำพาธุรกิจฝ่ากระแสคลื่นลมทางเศรษฐกิจมา 2 ปี ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางการฝ่าฟันในยุคสตาร์ตอัพแข่งเดือด

ผลประกอบการ 2 ปีที่ผ่านมา

Mywawa ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด บางปีเติบโต 10 เท่า เพราะจากพฤติกรรมของคนจากที่ไม่เคยเข้าสู่โลกออนไลน์มาก่อน หรือรูปแบบธุรกิจ (ธุรกิจ-ธุรกิจ) หรือ B to B ที่เทรดิชั่นนอลมาก ๆ ที่เราเคยเข้าไปเจอกับ ผู้ประกอบการคนหนึ่งทำธุรกิจมา 50 ปี ยังเป็นผู้ประกอบการรุ่นคุณพ่อ ยังใช้เซลส์วิ่ง ยังใช้กระดาษจด บางบริษัทเป็นมหาชนก็ใช้กระดาษอยู่ในการทำธุรกิจทั้งหมด พอเจอโควิดแล้ว บริษัทมหาชน ทุกคนก็หันมาใช้โลกออนไลน์ในการทำการตลาด และหาลูกค้ารายใหม่มากขึ้น

1-2 ปีที่ผ่านมา จึงมีลูกค้าหันมาใช้บริการเราอย่างรวดเร็ว และหลังโควิด (post COVID) แล้วก็ยังใช้บริการเราอยู่ ประโยชน์คือว่าทำให้การทำงานดีขึ้น ลดต้นทุน ลดคน ค่อนข้างเยอะ และตัวผลประกอบการเขาดีขึ้น เป็นตัวที่เราตั้งใจเข้าไปช่วยแก้เพนพอยต์ของเขา

สตาร์ตอัพเข้าสู่เรดโอเชียน

“ผมมองว่าสตาร์ตอัพเป็นเทรนด์ใหม่ และนักลงทุนหลาย ๆ รายก็เจ็บตัวมาเยอะ บางรายก็เอาเงินไปแคชเบิร์นเลย เพื่อจะเกณฑ์มาร์เก็ตแชร์มา ไม่ได้มีแผนกลยุทธ์ชัดเจนในการทำกำไร และพอแคชเบิร์นไปเสร็จแล้วมีอีกรายมาก็จะแคชเบิร์นไปเรื่อย ๆ

จนสุดท้ายก็จะเหลือแค่ดิจิทัลทวิน สองแพลตฟอร์ม แต่มันก็ยังแข่งด้วยความรุนแรงอยู่ ดังนั้น นักลงทุนหลายรายก็เริ่มจะมองเห็น ตัว new trend ของสตาร์ตอัพที่ต้องมีผลกำไร และมีกลยุทธ์การทำกำไร และเบรกอีเวนต์ พอยต์ที่ชัดเจน อันนี้เป็นความยากของสตาร์ตอัพ แต่สำหรับผม ผมบอกได้คำเดียวว่า เรากำไร”

“เพราะตัวหลัก ๆ เลยที่นักลงทุนที่เราไปคุย เขาถามคือ คุณกำไรหรือยัง หรือวางกลยุทธ์ในการเติบโตในอนาคตอย่างไรบ้าง ซึ่งนอกจากตัวแพลตฟอร์มที่เราเป็น B to B มาร์เก็ตเพลซที่เป็นแมตชิ่งแพลตฟอร์ม คิดว่าซอฟต์ฟันด์ที่เราอยากเอาไปได้คือฟินเทคด้วย เพราะพอการทำ B to B แล้วนี่คือการทำธุรกิจสองฝั่ง เงินทุนจะเข้ามาแน่นอน ทั้งในเรื่องของอินวอยซ์แฟกตอริ่ง เอาอินวอยซ์ไปปล่อยสินเชื่อ ก็เป็นการปล่อยสินเชื่อในฝั่งของผู้ซื้อ

ถ้าหากว่าเขาอยากจะได้เครดิตเทอมมากขึ้นก็สามารถมาใช้แพลตฟอร์มเราได้ เราเองก็มีความร่วมมือกับหลากหลายธนาคาร ที่จะทำโครงการนำร่องแล้วเราก็เทสต์ชัดเจนแล้วว่า จะมีการนำพี/โอของเราไปเป็นตัวค้ำประกันสินเชื่อที่ทำได้แล้ว หลักประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งก็มีทำร่วมกับแบงก์หลายแบงก์ทั้งไทยและต่างประเทศ”

ตั้งเป้าระดมทุน

ในไตรมาส 4 ตั้งเป้าจะเข้าระดมทุน โดยอย่างแรกเลยจะเห็นโซลูชั่นที่นิ่งแล้ว ซึ่งเราก็มีแผนที่จะ duplicate solution พวกนี้ เพื่อความเติบโตให้กับแคทิกอรี่ของเรา ตั้งใจจะจบให้ได้ในไตรมาส 4 ซึ่งเงินทุนค่อนข้างจะเยอะ เพราะเราตั้งใจจะโดดไปที่ปลายซีรีส์เอเลย และเราได้มีการพูดคุยกับ CVC และ VC ในประเทศหลายรายแล้ว ก็คิดว่าจะจบได้ โดยก็ตั้งใจอยากได้ CVC เป็นหลัก เรามองเห็นถึงศักยภาพของเขามากกว่าเงินทุน ในการจอยต์ซินเนอร์ยีกัน

เป้าหมายปี’66

เป้าหมายเราจะเพิ่มซัพพลายเออร์ 10 เท่า เพิ่มเอสเคยูทั้งหมด 20 เท่า จากที่มีในปัจจุบัน และอยากจะเริ่มโดดเข้าไปในตลาด FinTech ปีนี้ตั้งใจว่าจะให้แพลตฟอร์มเราอย่างน้อยปล่อยสินเชื่อได้ แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะกี่ราย แต่อยากเห็นเคสชัดเจน เพราะก่อนหน้านี้เราทำเป็น manual แต่ตอนนี้อยากให้เป็นออโต พอเข้ามาแล้วกดขอสินเชื่อได้เลย โพรเซสทั้งหมดอยู่ในแพลตฟอร์มเรา ปล่อยสินเชื่อได้เลย

ในปีนี้เราอยากจะขยายอุตสาหกรรมเราให้ครอบคลุมมากขึ้น จากที่เปิดมา 8 อุตสาหกรรม โดยที่เราเน้น ปีนี้ 3 อุตสาหกรรมคือ การศึกษา การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และเครื่องใช้สำนักงาน และอุตสาหกรรมบ้านและวัสดุก่อสร้าง โดยปัจจุบันบริษัทเริ่มจะขายเหล็กออนไลน์ทั้งเหล็กกัลวาไนซ์ เหล็กเส้น ก็ตั้งใจว่าอีก 5 อุตสาหกรรมที่เราค่อย ๆ พัฒนา จะเห็นผลทั้งหมด รวม 8 อุตสาหกรรม

สำหรับอีก 5 อุตสาหกรรม มียานยนต์ สุขภาพและความงาม ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ในประเทศไทยมีการเติบโตมาก อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มก็ค่อนข้างท้าทายเพราะอาหารมีทั้งอาหารสด และอาหารแช่เย็น ซึ่งในอุตสาหกรรมบ้านเรายังไม่ครอบคลุม เราจึงเน้นอาหารแห้งก่อน อุตสาหกรรมการ์เมนต์ และในหมวดเอสเอ็มซีจี ซึ่งเราแยกออกมาเพราะว่ามันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับคนอื่น จะไปเน้นงานโชห่วยมากกว่า ซึ่งเราก็ไปเห็นช่องทางทางนี้เหมือนกัน ก็มีการปูทางพอสมควรแล้ว

รุกตลาด CLMV

หลังเราขยายครอบคลุม 8 ธุรกิจแล้ว เราก็จะกระโดดไปอีก คือจะขยายเพิ่ม 10 อุตสาหกรรมในปีหน้า จากทั้งหมด 45 อุตสาหกรรม แล้วก็เริ่มที่จะไปตลาดต่างประเทศ โดยจะเริ่มไปในตลาด CLMV ก่อน ซึ่งตั้งใจว่าเราจะไปด้วยแพลตฟอร์มเราและพาซัพพลายเออร์ไปด้วย

“ถ้าเราไปโรดโชว์ CLMV เราก็ไปได้อย่างมากแค่ 10 บริษัท แต่ถ้าเราไปด้วยแพลตฟอร์มเรา สามารถพาซัพพลายเออร์ไปด้วย อย่างน้อยเป็นร้อยบริษัทที่จะเติบโตไปพร้อมกับเรา ก็เป็นความตั้งใจในอนาคต”

ที่ผ่านมา Mywawa ร่วมกับพันธมิตรหลากหลาย เช่น พันธมิตรหลักของเราคือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ก็มีไปพูดคุยกับประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อจะขอความร่วมมือจากเขา มีการพูดคุยกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการที่ไปทำโรดโชว์ และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเขามี ThaiTrade.com ของเขาอยู่แล้ว ก็กำลังจอยต์ความร่วมมือตรงนี้อยู่ เพื่อจะไปดึงซัพพลายเออร์ที่กระจัดกระจาย เพราะตลาดบีทูบีของไทยค่อนข้างจะกระจาย มีการไปตั้งกลุ่มโน่นนี่นั่น

แต่ละองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนต่างก็ถือข้อมูลของตัวเอง แต่ไม่ได้มีการคอนโซลิเดตรวมกัน ทางเราจึงเข้าไปพูดคุยเพื่อจะแสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพเพียงพอ มีประโยชน์แน่นอนถ้ามาร่วมกับเรา