ILO ระบุ ยานยนต์มีแรงงาน 5 แสนคน ยังขาดความเท่าเทียมด้านค่าจ้าง

Photo: Carlos Aranda/unsplash

ไอแอลโอศึกษาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จ้างงานกว่า 5 แสนคน มีความท้าทายสร้างงานที่มีคุณค่า แรงงานข้ามชาติ-เอาต์ซอร์ซมีสภาพทำงานและค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานบริษัทโดยตรง

วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การศึกษาและรายงานล่าสุดขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เรื่อง “งานที่มีคุณค่าและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย” มีประเด็นที่น่าสนใจว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยมีการจ้างงานกว่า 5 แสนคนในกระบวนการผลิต ถึงแม้จะมีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและมีการจ่ายค่าจ้างที่สูง แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยยังพบกับความท้าทายในการสร้างงานที่มีคุณค่า และการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการดำเนินการตามข้อกำหนดของโลกที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวจัดทำภายใต้โครงการห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ครอบคลุมและยั่งยืนในประเทศไทย (Resilient, Inclusive and Sustainable Supply Chains project in Thailand – RISSC ) ของไอแอลโอที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อช่วยสร้างความยืดหยุ่นและยั่งยืนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของห่วงโซ่อุปทาน

สิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทาน

การศึกษาของไอแอลโอพบว่า แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยจะมีความเข้มแข็งในหลายด้าน เช่น ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคม แต่ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ อาทิ การเจรจาทางสังคม โอกาสด้านความเท่าเทียมและการฝึกอบรม

รวมทั้งเรื่อง “การตรวจสอบอย่างรอบด้านเชิงสิทธิมนุษยชน” (Human Rights due Diligence) ที่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกกำลังปรับตัวตามข้อกำหนดใหม่ ก็ยังคงมีช่องว่างในเรื่องของความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอยู่

นายเดวิด วิลเลียมส์ ผู้จัดการโครงการ RISSC กล่าวว่า การศึกษานี้จะเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการวางแผนของอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย การทำงานร่วมกันเพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมจะสามารถช่วยกันสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะรับประกันสิทธิของแรงงานและการดำเนินธุรกิจที่มีผลิตภาพ แต่ยังสร้างโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมในตลาดโลกที่มีการแข่งขันสูงและให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมมากขึ้นอีกด้วย

ADVERTISMENT

แรงงานข้ามชาติได้ค่าจ้างต่ำกว่า

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมของแรงงาน โดยแรงงานข้ามชาติและแรงงานที่จ้างผ่านบริษัทจัดหางานนั้น โดยเฉลี่ยจะมีสภาพการทำงานและได้รับค่าจ้างที่ต่ำกว่าแรงงานไทยและแรงงานที่จ้างผ่านบริษัทยานยนต์โดยตรง

โดยแรงงานที่ตอบแบบสอบถาม กว่าครึ่งหนึ่งระบุว่า ได้รับการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะหลักสูตรทางวิชาชีพ (Vocational courses) ที่นายจ้างสนับสนุน ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงหลักสูตรการฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทักษะเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ

ADVERTISMENT

การศึกษาเผยด้วยว่า แรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่ตั้งข้อสังเกตถึงความจำเป็นในการเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับกองทุนเงินทดแทน นอกจากนี้ การศึกษายังพบความแตกต่างในเรื่องข้อกำหนดและความตระหนักเกี่ยวกับสิทธิในการลาคลอด

อนุสัญญาหลักของไอแอลโอ

ประมาณหนึ่งในสามของแรงงานที่ตอบแบบสอบถาม สามารถเข้าถึงสหภาพแรงงานในที่ทำงานของตนได้ โดยแรงงานส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะเข้าเป็นสมาชิก หากสถานประกอบการของตนมีสหภาพแรงงาน

ซึ่งเป็นช่องทางการเจรจา และช่องทางการเจรจาทางสังคมที่ดีกว่าระหว่างแรงงานและฝ่ายบริหาร และยังแสดงถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของแรงงานในการคงไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและมีผลิตภาพ

รายงานได้มีการให้ข้อแนะนำแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนความมุ่งมั่นของภาคอุตสาหกรรมต่อการสร้างงานที่มีคุณค่าและการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ได้แก่ การให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาหลักของไอแอลโอ การยกระดับการเจรจาทางสังคม การขยายโอกาสในการจ้างงานที่มีคุณภาพ การจัดการกับการเลือกปฏิบัติ รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้และการประยุกต์ใช้ข้อกำหนดด้านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ