โรดแมป แพลททินัม ฟรุ๊ต สู่โมเดลความยั่งยืน ‘ทุเรียนไทย’

ณธกฤษ เอี่ยมสกุล
ณธกฤษ เอี่ยมสกุล

ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรและผลไม้ อาจถูกมองว่ามีหน้าที่เป็นแค่ “พ่อค้าคนกลาง” ซื้อมาขายไป เพื่อหากำไรจากส่วนต่างที่เข้าไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเท่านั้น

แต่สำหรับบริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมี่ยม ทั้งทุเรียน ลำไย มังคุด หรือมะพร้าว ซึ่งวันนี้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย ไม่ได้คิดเช่นนั้น

เพราะบริษัทออกแบบโมเดลธุรกิจภายใต้แนวคิดที่ต้องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกรและสร้างสังคมยั่งยืน สอดรับวิสัยทัศน์และพันธกิจ Growing Together Fruitfully หรือ “เติบโตงอกงามไปด้วยกัน”

โมเดลยั่งยืน “แพลททินัม ฟรุ๊ต”

“ณธกฤษ เอี่ยมสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด อธิบายว่า โมเดลธุรกิจของแพลททินัม ฟรุ๊ต จะเป็นการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่จะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน มาผสานในขั้นตอนทำธุรกิจ

เป้าหมายสำคัญ คือต้องการช่วยยกระดับคุณภาพธุรกิจส่งออกผลไม้ไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกันทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ

โดยการนำ Knowledge & Knowhow ด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการทำ R&D เพิ่มคุณภาพผลผลิตตามมาตรฐานส่งออก คู่ค้าและพันธมิตร ก็จะมีความต่อเนื่องในการทำธุรกิจ ส่วนลูกค้าที่อยู่ท้ายสุดของห่วงโซ่ ซึ่งเราส่งออกไปทั้งในจีน อินโดนีเซีย อินเดีย ยุโรป ไต้หวัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ก็จะได้รับผลไม้คุณภาพดี บริโภคแล้วปลอดภัย สะท้อนเป็นความเชื่อมั่นต่อการบริโภคผลไม้ไทยในระยะยาว

ผู้ประกอบการหลายรายอาจไม่ได้มองถึงความสำคัญของการช่วยให้เกษตรกรเติบโตอย่างยั่งยืน แบบที่ไม่ต้องพึ่งพิงเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

ADVERTISMENT

แต่สำหรับแพลททินัม ฟรุ๊ต ให้ความสำคัญกับ “เกษตรกร” เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของความยั่งยืนของการส่งออกผลไม้ไทย เพราะหมายถึงผลไม้คุณภาพพรีเมี่ยมที่จะไปถึงผู้บริโภค

“เพราะถ้าเกษตรกรอยู่ไม่ได้ ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่น ธุรกิจก็ไปไม่รอด”

พัฒนายกระดับสวนทุเรียน

ซีอีโอแพลททินัม ฟรุ๊ตเล่าว่า จากที่ตัวเองเติบโตมากับธุรกิจครอบครัวที่ทำธุรกิจส่งออกผลไม้มาตั้งแต่เด็ก ทำให้เห็นข้อจํากัด หรือจุดอ่อนที่ควรปรับปรุง เช่น ธุรกิจส่งออกทุเรียน สมัยก่อนส่วนใหญ่จะเป็นนายหน้าที่ไปรับซื้อผลไม้จากชาวสวนแล้วมาส่งขายที่โรงงาน ทำให้ที่ผ่านจะเจอปัญหาทั้งเรื่องคุณภาพที่คุมไม่ได้ ขณะที่ชาวสวนก็เสียเปรียบเรื่องราคา ไม่ได้รับรายได้ที่ควรจะได้

ดังนั้น บริษัทจึงมีนโยบายเข้าไปสนับสนุนในการพัฒนาและยกระดับการทำสวนทุเรียนของเกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพระดับการส่งออก และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

“ณธกฤษ” ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจของบริษัทพบว่า สวนที่ผลิตผลไม้เกรดคุณภาพส่งออกในประเทศไทยยังมีเพียง 20% เท่านั้น เมื่อเห็น Pain Point ตรงนี้ บริษัทก็มีเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยแนะนำเกษตรกรให้รู้ว่าต้องทำยังไงเพื่อพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพพรีเมี่ยม ซึ่งเกษตรกรก็จะได้ราคาที่สูงขึ้น

รวมถึงการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรในช่วงวิกฤต อย่างช่วงหน้าแล้งก็ส่งทีมเข้าไปช่วยวางแผนเรื่องการเตรียมน้ำ วิธีการปรับปรุงคุณภาพดิน ตลอดจนการให้น้ำ การราดสาร และวิธีเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง เพราะนั่นจะส่งผลโดยตรงต่อรายได้และการยกระดับคุณภาพชีวิตครอบครัวของเกษตรกร

สำหรับชาวสวนทุเรียน โดยเฉพาะภาคตะวันออก ปัญหาไม่มาก เพราะทำสวนทุเรียนเป็นอุตสาหกรรมเป็นสิบปีแล้ว แต่เราก็ยังเข้าไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือสภาพภูมิอากาศ เพราะปัญหา Climate Change ทำให้มีความผันผวนสูง อย่างช่วงที่ผ่านมาเจอเอลนีโญส่งผลเรื่องภัยแล้ง ดังนั้นต้องเตรียมน้ำให้มาก แต่ปีหน้าจะเข้าสู่ช่วงลานีญา ก็ต้องปรับวิธี

“ลำพูนโมเดล” ปั้นลำไยเกรด A

นอกจากนี้ บริษัทยังไปทำโครงการ “ลำพูนโมเดล” พัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับชาวสวนลำไยภาคเหนือที่ต้องการทำลำไยเกรดส่งออก พร้อมส่งมาดูงานสวนลำไยตัวอย่างที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ให้เห็นวิถีการทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก

จากการพูดคุยก็พบว่าเกษตรกรบางคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับปุ๋ยยาว่าเป็นหลักสำคัญในการทำลำไยให้มีคุณภาพ แต่หลักการที่ถูกต้องคือ แหล่งอาหารของต้นไม้ คือ แสงอาทิตย์ ดังนั้นต้องทำให้ใบไม้ที่เป็นแหล่งรับอาหารเยอะก่อนเพื่อสังเคราะห์แสงให้ลำต้นแข็งแรงและดูดสารอาหารเข้าไปบำรุงได้มาก

ส่วนปุ๋ยยาเป็นแค่ตัวเสริม ตรงนี้บริษัทก็มีทีมเข้าไปให้ความรู้ คำแนะนำที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพราะประเด็นเหล่านี้เกี่ยวกับมิติทางเศรษฐกิจที่เราจะให้ความสำคัญกับเกษตรกรเป็นหลัก

“หน้าที่ของเรา คือ หาตลาดและดีมานด์ พร้อมมองเทรนด์ผู้บริโภคล่วงหน้า แล้วมาช่วยเติมองค์ความรู้ ช่วยแนะนำเกษตรกร ว่าอนาคตเทรนด์จะไปทางไหน ต้องการสินค้าแบบไหน”

สู่ความยั่งยืน “ผลไม้ไทย”

“ธุรกิจของแพลททินัม ฟรุ๊ต เป็น One Stop Service ในการส่งออกผลไม้ เรียกว่าทำทุกอย่างตลอดซัพพลายเชน ตั้งแต่รับซื้อ โรงคัดบรรจุ ระบบโลจิสติกส์ ส่งออก ยกเว้นอย่างเดียวที่เราไม่ทำคือทำสวนผลไม้ หรือปลูกทุเรียนเอง เพราะเราถือว่าชาวสวนเป็นพันธมิตรสำคัญของเรา”

วิธีการดำเนินงานด้านการสร้างความยั่งยืนของแพลททินัม ฟรุ๊ต ก็คือการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนผลไม้ นอกจากสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรบริษัทให้มั่นคง ต้องช่วยพัฒนาความกินดี อยู่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี ให้กับทุกฝ่ายตั้งแต่พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตรที่สำคัญสุดและขาดไม่ได้ นั่นก็คือ “เกษตรกร”

ขณะที่มิติทางสังคม เพราะสินค้าของบริษัทคือ “ผลไม้” ดังนั้นจึงเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยของคนปลูกและคนกินเป็นอย่างมาก วางแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีการตรวจสอบสารตกค้างและสารปนเปื้อนกว่า 250 ชนิด ตามเกณฑ์มาตรฐาน อย. และ GAP ในผลไม้ทุกลูกที่ส่งออกมาตลอด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลไม้ไทยแก่ผู้บริโภค

ในทุก ๆ ปี และทุก ๆ สวน ก่อนที่จะเข้าไปรับซื้อผลไม้ บริษัทจะส่งทีมเข้าไปเก็บตัวอย่างดินและน้ำไปทดสอบยังห้องปฏิบัติการ เพื่อดูสารตกค้างของโลหะหนัก ธาตุอาหารต่าง ๆ

อย่างกรณี ทุเรียน จะต้องส่งไปห้องปฏิบัติการภายนอกเพื่อทดสอบสารเคมีตกค้าง เชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ รวมถึงส่งตรวจสอบความแก่อ่อนก่อนเก็บเกี่ยว

และเมื่อเก็บเกี่ยวและส่งไปยังโรงคัดบรรจุของบริษัท ก็จะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพตรวจสอบสารเคมีตกค้างและความแก่อ่อนอีกครั้งก่อนรับเข้าบรรจุ โดยใช้เกณฑ์ที่มีความเข้มงวดสูง สามารถส่งออกได้ทั้งตลาดยุโรป จีน และอินเดีย และจะมีการสุ่มตรวจปิดตู้โดยเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ก่อนส่งออกไปยังต่างประเทศ

ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้บริโภคปลายทางทุกตลาดมั่นใจได้ว่า ผลไม้ที่ส่งออกโดยแพลททินัม ฟรุ๊ต จะไม่มีโลหะหนัก หรือสารตกค้างที่เกินมาตรฐานปนเปื้อนออกไป บริโภคได้อย่างปลอดภัย 100%

เปลี่ยนของเสียไม่ให้เสียของ

สุดท้ายการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทเชื่อว่าถ้าเกษตรกรได้รับความรู้ที่ถูกวิธี จะช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแหล่งดินและแหล่งน้ำชุมชนที่อาจเกิดจากการเพาะปลูก การให้ปุ๋ยยาที่ไม่ถูกวิธี

ขณะเดียวกันก็ได้ออกแบบแนวทางลดปัญหาระบบนิเวศ กำจัดขยะตกค้างที่กระทบต่อแหล่งน้ำชุมชนรอบโรงงานมะพร้าว จังหวัดราชบุรี ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนของเสียไม่ให้เสียของ” โดยทำโครงการ “กาบมะพร้าวอัดแท่ง สู่พลังงานเพื่อชุมชน” ด้วยการนำกาบมะพร้าวของเหลือทิ้งที่มีมากเกือบ 600 ตันต่อสัปดาห์ มาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน ซึ่งได้นำไปใช้งานจริงแล้วในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและกลุ่มชาวสวนลำไย

CEO แพลททินัม ฟรุ๊ตทิ้งท้ายว่า โมเดลธุรกิจของแพลททินัม ฟรุ๊ต ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเติบโตได้แบบยั่งยืน ดังนั้น ผลประโยชน์ต้องกลับไปที่ “เกษตรกร” มากที่สุด เพราะเกษตรกรคือผู้ที่รับความเสี่ยงสูงสุด

อย่างไรก็ดี บริษัทเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมสร้างความยั่งยืนผลไม้ไทย สิ่งสำคัญคือหากทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพส่งออกผลไม้ไทยและคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ทั้งช่วยลดภาระรัฐบาล และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เป็นรากฐานของประเทศให้เติบโตได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง