
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตโปรตีนชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้ส่งออกโปรตีนสุทธิเพียงรายเดียวในทวีปเอเชีย เพราะเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร และมีชื่อเสียง ในฐานะ “ครัวของโลก” ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนของโลก
“โปรตีนทางเลือก” ถือเป็นหมวดหนึ่งในอาหารแห่งอนาคต และมีมูลค่าการส่งออกราว 4.6% ของมูลค่าการส่งออกอาหารแห่งอนาคตรวมทุกหมวด (6.4 พันล้านบาท)
โปรตีนทางเลือกโดยเฉพาะ “โปรตีนจากพืช” มีศักยภาพในการกระตุ้นการส่งออกของไทยได้ หากมีการผลิตโปรตีนจากพืชเป็นจำนวนมาก เพื่อทดแทนโปรตีนจากสัตว์แบบดั้งเดิมก็จะบรรเทาผลกระทบเชิงลบได้อย่างมหาศาล
Madre Brava องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ผลักดันให้การบริโภคยั่งยืนมากขึ้นกว่าเดิมได้จัดทำวิจัยร่วมกับ Asia Research and Engagement พบว่า ไทยมีศักยภาพสูงมาก ในการเป็น “ศูนย์กลางโปรตีนยั่งยืน” ของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนด้านการผลิตโปรตีนจากสัตว์ไปสู่โปรตีนจากพืช ซึ่งการเปลี่ยนผ่านนี้จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้มากอย่างคาดไม่ถึง

“วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์” ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย อธิบายว่า จุดมุ่งหมายเพื่อประเมินผลประโยชน์เชิงปริมาณจากการเติบโตของโปรตีนพืช เพื่อมาทดแทนเนื้อสัตว์และอาหารทะเลนั้น มีการคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 3 ด้าน คือ การใช้ที่ดิน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ภายใน 3 ฉากทัศน์
ฉากทัศน์ที่ 1 ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเป็นปกติ (Business-as-Usual : BAU) : การผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลเป็นโปรตีนจากสัตว์ทั้งหมด
ฉากทัศน์ที่ 2 โปรตีนจากพืชร้อยละ 30 ภายในปี 2050 : โปรตีนจากพืชคิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตโปรตีนทั้งหมดในปี 2050
ฉากทัศน์ที่ 3 โปรตีนจากพืชร้อยละ 50 ภายในปี 2050 : โปรตีนจากพืชคิดเป็นร้อยละ 50 ของการผลิตโปรตีนทั้งหมดในปี 2050
“การเปลี่ยนโปรตีนจากสัตว์มาเป็นพืช 50% ภายในปี 2050 เราต้องสร้างความหลากหลายของโปรตีนที่ยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นอนาคตที่ไทยต้องเร่งและเริ่มทำตั้งแต่วันนี้” วิชญะภัทร์กล่าวย้ำ
ประโยชน์ของการสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนสู่พืช
ประเทศไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์อย่างมากหากแทนที่การผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลครึ่งหนึ่งด้วยโปรตีนจากพืชภายในปี 2050 จากการวิเคราะห์พบว่า วัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ (ข้าวโพด ข้าวสาลี และถั่วเหลือง) กว่า 60% ไม่ได้ผลิตในประเทศแต่เป็นการนำเข้า
ลดจำนวนสัตว์จากฟาร์ม สร้างประโยชน์ 4 ด้าน
ด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 ล้านล้านบาท โดยลดปริมาณวัตถุดิบนำเข้าสำหรับการผลิตโปรตีน ซึ่งราคาวัตถุดิบเหล่านี้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และสามารถเพิ่มความพึ่งพาตนเองมากขึ้นได้ในกระบวนการนี้
ด้านการสร้างงาน กลยุทธ์การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนสู่โปรตีนจากพืชสำหรับประเทศไทยสามารถสร้างงานได้สูงสุด 1.15 ล้านตำแหน่ง ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโปรตีนจากพืชภายในประเทศ
สภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนไปสู่การผลิตโปรตีนจากพืชร้อยละ 50 ภายในปี 2050 จะช่วยให้ประเทศไทยอยู่ในขอบเขตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเพื่อความปลอดภัยต่อสภาพภูมิอากาศ และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 35.5 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์ 8.45 ล้านคันบนท้องถนนในประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้านที่ดิน การเปลี่ยนไปสู่การผลิตโปรตีนจากพืชร้อยละ 50 ภายในปี 2050 สามารถช่วยประหยัดพื้นที่ได้มากถึง 21,700 ตารางกิโลเมตร เมื่อเทียบกับฉากทัศน์ที่ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ คิดเป็นพื้นที่เทียบเท่าจังหวัดนครราชสีมา
วิชญะภัทร์บอกเล่าเพิ่มเติมถึงวิธีให้ประเทศไทยก้าวสู่ฐานะศูนย์กลางอาหารจากพืชแห่งทวีปเอเชีย โดยความร่วมมือกับภาครัฐ ได้แก่ การทำให้โปรตีนจากพืชและโปรตีนจากสัตว์มีโอกาสในตลาดเท่าเทียมกัน โดยรัฐบาลควรพิจารณานโยบายด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการจำหน่ายและทำให้อาหารจากพืชหาซื้อง่ายขึ้น เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น
รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดหาของภาครัฐ : จัดเมนูอาหารที่เน้นพืชในงานและการประชุมของหน่วยงานรัฐบาลเพื่อสร้างความต้องการผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งหน่วยงานราชการยังสามารถพิจารณาเพิ่มตัวเลือกเมนูอาหารจากพืชในโรงอาหารของอาคารราชการ โรงเรียน และโรงพยาบาลของรัฐ
ตลอดจนนำแผนการเปลี่ยนผ่านด้านโปรตีนอย่างเป็นธรรมมาใช้ พัฒนาแนวทางต่าง ๆ รวมถึงการสนับสนุนทางการเงินและโครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับเกษตรกรไทยเพื่อให้สามารถเปลี่ยนมาผลิตพืชผลสำหรับโปรตีนจากพืชได้
ทั้งนี้ ยังมีแนวคิด “Sustainable Intensification” หรือแนวคิดที่ว่าสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อหน่วยที่ดินได้อย่างยั่งยืน และการใช้ประโยชน์ที่ดินสูงสุดควรถูกแทนที่ด้วยแนวคิดที่มุ่งเน้นการปรับสมดุลอาหาร การสนับสนุนเกษตรกร นวัตกรรม การอนุรักษ์และการฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อความยั่งยืนในระยะยาว
รูปแบบเศรษฐกิจ BCG ของประเทศไทยและโครงการอาหารแห่งอนาคตเป็นกรอบการทำงานที่เข้มแข็งในการพัฒนาโปรตีนจากพืช ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น สอดคล้องกับการผลิตโปรตีนจากพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์เป็นอย่างยิ่ง
โดยความต้องการโปรตีนจากพืชที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญในการบรรลุวัตถุประสงค์ ทั้งด้านการพัฒนาเกษตรกรรายย่อย การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการผลิตพืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูง
เพื่อที่ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เพื่อให้มีบทบาทสำคัญในการรักษาความมั่นคงด้านอาหารระดับภูมิภาคและระดับโลกไว้ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ “ครัวของโลก” จะต้องปรับตัวให้เข้ากับทศวรรษต่อ ๆ ไป